xs
xsm
sm
md
lg

คำต่อคำ : ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ( 19 พ.ค.)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน ในโอกาสเปิดภาคการศึกษาใหม่ ประจำปี 2560 นี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยนักเรียน นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์อุทกภัยในภาคใต้ ที่ผ่านมา โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 40 ล้านบาท ประกอบด้วย ทุนการศึกษาจำนวน 27 ทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษา ค่าครองชีพ ค่าหอพัก และค่าอุปกรณ์การศึกษาแก่เด็กนักเรียน นักศึกษาที่มีบุคคลในครอบครัวเสียชีวิตจากเหตุอุทกภัย อีกส่วนหนึ่ง สำหรับจัดหาโต๊ะเก้าอี้พระราชทาน ที่จะทยอยส่งมอบให้สถานศึกษาระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ใน 10 จังหวัดที่ประสบภัย

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ แก่วงการการศึกษาของประเทศนะครับ ด้วยพระอัจฉริยภาพและพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลปัจจุบัน ที่ได้ทรงมอบพระบรมราโชบายด้านการศึกษาผ่านองคมนตรี ใจความตอนหนึ่งว่า ให้แนะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏ ให้ทำงานให้เข้าเป้าในการยกระดับการศึกษาและพัฒนาท้องถิ่นในท้องที่ตน แสดงให้เห็นชัดเจนว่าตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี ที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชทานปริญญาบัตรให้กับบัณฑิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนั้น ทรงสนพระทัยระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาอันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ โดยทอดพระเนตรเห็นถึงศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาเป็นอย่างดี และทรงเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้ง ถึงแก่นแท้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งผลิตครูที่มีคุณภาพ เป็นแหล่งความรู้วิชาการและเป็นปราชญ์แห่งการพัฒนาท้องถิ่น ที่จะสามารถเข้าถึงต้นตอแห่งปัญหาของพสกนิกรของพระองค์ในแต่ละท้องที่ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนมีความรักชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์


ผมได้รับรายงานว่าที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏได้มีการปรับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏใหม่ ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 - 2579 ซึ่งได้น้อมนำพระบรมราโชบายดังกล่าวมาเป็นยุทธศาสตร์หลัก มุ่งให้มหาวิทยาลัยราชภัฏ ทั้ง 38 แห่งทั่วประเทศสามารถเป็นแกนนำในการพัฒนาท้องถิ่น ตลอดจนผลิตและพัฒนาครู และยกระดับคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 เป็นอย่างดีที่ผ่านมา พบว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏบางแห่งได้ดำเนินการให้เห็นผลแล้ว และบางแห่งก็กำลังเพิ่งเริ่มนะครับ ส่วนบางแห่งที่ยังไม่เคยดำเนินการก็ถึงเวลาแล้วนะครับ ที่เราจะต้องร่วมแรงร่วมใจกันสร้างผลสัมฤทธิ์ให้เป็นรูปธรรมสำหรับการพัฒนาท้องถิ่น และการพัฒนาประเทศตามลำดับ อีกทั้งเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณที่ได้ทรงห่วงใยพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่อย่างลึกซึ้ง

ขอให้นำองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมีอยู่ เข้าไปช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้ตรงจุด ตรงความต้องการอย่างเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาด้วยนะครับ ตัวอย่างผลการดำเนินการที่เรียกว่าพันธกิจสัมพันธ์กับการรับใช้สังคมของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่เข้าไปคลุกคลีกับพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นมาเกือบ 20 ปี จนเกิดเป็นความร่วมมือระหว่างคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย 8 คณะ กับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และพี่น้องประชาชนในท้องถิ่น 25 พื้นที่ ในการแก้ปัญหาในท้องที่อย่างตรงเป้าหมาย ตรงกับความต้องการ แบบบูรณาการ เช่น มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ที่ได้ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนตำบล และพลังงานจังหวัดเข้าไปให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชนในหมู่บ้านที่ประสบปัญหา มีจำนวนวัวหนาแน่นจนได้รับผลกระทบจากมูลวัวจำนวนมาก โดยได้สอนหลักเศรษฐศาสตร์ในการบริหารจัดการเบื้องต้น ประกอบกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เปลี่ยนมูลวัวให้เป็นแก๊สชีวภาพ เพื่อใช้หุงต้มในครัวเรือน ช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิง ลดค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนได้อีกด้วย นับเป็นแบบอย่างที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่น่าชื่นชม ก็ขอให้หน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวง มหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่น ๆ ได้ให้ความสำคัญกับการนำองค์ความรู้ โดยเฉพาะองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยราชภัฏและสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพในพื้นที่ ที่สามารถเข้าถึงวิถีชีวิตพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย เพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายและบรรลุตามความมุ่งหวังของรัฐบาลได้อีกทางหนึ่งด้วยนะครับ

อีกตัวอย่างหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ ในด้านการศึกษา ก็คือ ได้มีการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่เกิดผลเป็นรูปธรรม เป็นเป็นการใช้สีกำหนดขั้นตอนการอ่าน สำหรับวิชาด้านภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ของครูในโรงเรียนบ้านหนองแก อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ที่ส่งผลให้คะแนนสอบของนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น ติดระดับประเทศ โดยเฉพาะคะแนนสอบโอเน็ต ซึ่งโรงเรียนอื่น ๆ ในพื้นที่ ก็ได้นำวิธีการดังกล่าวไปปรับใช้เพื่อขยายผล ผมเองนั้นก็เห็นว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสอนที่เห็นผลได้อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและสามารถใช้เป็นแบบอย่างได้ หรือให้มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้อีกด้วยนะครับ ก็ขอให้นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ก็อยากจะยกเป็นกรณีศึกษานะครับ แล้วก็สั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไปแล้ว ให้กระทรวงศึกษาธิการศึกษา ได้ขยายผลแนวทางการสอนนี้ หรือแบบอื่นๆ อีกด้วยนะครับ ที่เป็นประโยชน์ โดยให้หาข้อมูลเพิ่มเติม จากการรวบรวมแนวทางการสอนที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้ ให้เหมาะสมกับบริบทของคนไทยและสังคมไทยนะครับ เพื่อนำไปเผยแพร่ให้กับครูในโรงเรียนต่างทั่วประเทศอีกด้วยต่อไป


ผมเห็นว่าการคิดนอกกรอบ นั้นเป็นการคิดสร้างสรรค์ ที่มีความสำคัญอย่างมาก ในสภาพแวดล้อมของโลก ยุคศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ ก็เพื่อจะเป็นการยกระดับการศึกษาของประเทศ และ เปิดโอกาสให้พี่น้องประชาชน ได้เข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร ที่เป็นประโยชน์เพื่อสร้างวิสัยทัศน์ ในการที่เราจะก้าวไปสู่การศึกษาไร้พรมแดน รัฐบาลจึงได้พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ อย่าง เช่น โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ทุกหมู่บ้าน ซึ่งรัฐบาลนี้ เร่งดำเนินการอยู่ 25,000 หมู่บ้าน ในปีนี้ และอีก 15,000 หมู่บ้านในอนาคตนะครับ เรามีอยู่แล้ว 30,000 กว่าหมู่บ้าน ทั้งหมดมี 70,000 กว่าหมู่บ้าน เดี๋ยวจะเข้าใจว่าทำไมทำช้า มีอยู่แล้วนะครับ ส่วนที่ขาดเราก็จะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จนะครับ

อีกแนวความคิดหนึ่ง ก็คือ การส่งเสริมการจัดตั้งสถาบันการศึกษา โดยให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ อีกด้วยนะครับ อาทิเช่น จากประเทศที่เจริญแล้ว หรือจากสถาบันที่ประสบความสำเร็จมาก่อนนะครับ อาจเป็นการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ในสาขาที่ประเทศไทยขาดแคลน แต่เป็นที่ต้องการ และโรงเรียนเอกชน ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น นะครับ อย่าถือว่าจะเอาใครมาแย่งงานของเราเลยนะครับ เป็นระยะแรก เราต้องการสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC นะครับ หรือเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 10 แห่ง


พี่น้องประชาชนที่เคารพครับ การสะท้อนภาพรวมจากมุมมองของต่างประเทศ ในการทำงานของรัฐบาลและ คสช. ช่วง 3 ปี ที่ผ่านมานั้น นอกจากเราจะได้รับรู้ รับทราบ มาเป็นระยะ ๆ จากสถาบันต่าง ๆ ในหลากหลายมิติส่วนใหญ่ ที่ทิศทางที่ดีขึ้นแล้วนะครับ ล่าสุด มีรายงานผลการจัดอันดับประเทศที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2017 ของ U.S.News สหรัฐอเมริกา ที่ชี้ว่าประเทศไทย เป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจมากที่สุดในโลกเป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 2 ปี ทั้งนี้ ประเทศไทยเรายังได้รับการจัดอับดับเป็นท็อปเทน ในอีกหลายด้าน เช่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านการเจริญเติบโตโดยภาพ และด้านวัฒนธรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังยกให้ประเทศไทย เป็นประเทศที่โดดเด่นในเรื่องการเปิดโอกาสทางธุรกิจและการเริ่มต้นงานใหม่ รวมทั้ง เป็นประเทศที่เหมาะสำหรับใช้ชีวิตยามเกษียณและมีคุณภาพชีวิตดีอีกด้วย ดังนั้นด้วยข้อมูลการจัดอันดับต่าง ๆ ที่ผ่านมา และล่าสุดผมจึงไม่อยากที่จะกล่าวอะไรมากนัก เรื่องผลงานมีหรือไม่มีนะครับ เพราะผลงาน ไม่ได้หมายความว่า จะต้องมีอะไรใหม่อย่างเดียว แต่ก็อยากให้ดูด้วยว่าเราจะต้องแก้ไขปัญหาประเทศอะไรบ้างที่สะสมมานาน เช่น การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่ต้องทยอยดำเนินการอย่างต่อเนื่องการปรับโครงสร้าง การบูรณาการ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมร่วม และการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อไปสู่จุดหมายอันเดียวกันนะครับ แล้วจะต้องมีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ และวิธีบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งการจัดทำโครงสร้างใหม่ ๆ เพื่อจะเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ให้มีความเข้มแข็ง พร้อมมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ที่หลายคนอาจจะยังยึดติดอยู่และยังไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ให้เงินช่วยเหลือมาก ๆ คำพูดนี้อาจเป็นเพียงวาทกรรมที่หวังผลทางการเมืองในอนาคตมากกว่า สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำอีกครั้ง คือการแก้ปัญหาโดยการให้เงินสนับสนุนเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น ซึ่งจำเป็นต้องทำอยู่นะครับ แต่ทำให้ถูกต้อง


แต่การลงทุนเพื่ออนาคตโดยการให้ความรู้ เพิ่มเทคโนโลยี เปิดโอกาสและช่องทาง เพื่อเป็นทางเลือกของประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ รวมทั้งเราจะต้องสร้างกลไกเพื่อสร้างความเข้มแข็งในระดับฐานรากให้มากยิ่งขึ้น เหล่านี้เป็นการแก้ปัญหาระยะยาวและยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกว่า แต่เราก็ไม่ลืมผู้มีรายได้น้อยเราจะทำยังไง ก็ต้องหาวิธีการทำให้ได้เร็วที่สุด จะเห็นได้ว่า ด้วยความพยายามของรัฐบาลและ คสช. ในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง ให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น เพื่อจะไปสู่วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ก็นับว่าเป็นการเลือกทำในสิ่งที่ยาก ถ้าเราทำง่ายๆ ก็ไม่ทำแบบนี้ แต่ก็เป็นทางออกที่ดีกว่าที่ผ่านๆ มา


อาทิเช่น ปัญหาการค้ามนุษย์ IUU, ICAO การบุกรุกป่า การจัดสรรที่ดินทำกิน การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างบูรณาการ การปราบปรามยาเสพติด การป้องกันการทุจริต การสนับสนุนค้าขาย การส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เป็นต้น ซึ่งอาจจะทำให้ดูเหมือนว่าเรายังไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่เหมือนมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ทันใจเพราะสัมผัสได้ ทำได้ง่าย และมีผลทางการเมืองโดยตรง

ผมก็ขอฝากฝ่ายการเมืองต่างๆ ไว้ด้วย ขอให้ทบทวนช่วยกันพิจารณาดูให้ดีว่าความจริงแล้วสังคมไทย เราต้องการการแก้ปัญหาแบบไหน จึงจะนำพาประเทศหลุดพ้นกับดักต่างๆ ได้อย่างแท้จริง ก็ต้องไปทั้งสองอย่างด้วยกัน ตัวอย่างนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาประเทศที่ยั่งยืน ได้แก่ การทำผังเมืองรวมจังหวัดทั่วประเทศ แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นให้เสร็จโดยเร็ว สำหรับเป็นแผนแม่บทที่ผ่านมามีความพยายามดำเนินการมากว่า 10 ปีแล้ว แต่ก็มีคืบหน้าในทางให้เกิดผลสัมฤทธิ์น้อยมาก ก็เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่แต่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศจากการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน มันต้องมีการปรับวิธีการ ปรับรูปแบบ ด้วยการให้ความรู้ แล้วก็ให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด จะได้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้มากยิ่งขึ้น


ในช่วง 3 ปี ของรัฐบาลนี้ เราได้มีการทำของเดิมที่ค้างอยู่สำเร็จได้ในที่สุด แต่ยังคงให้มีการปรับปรุงต่อไป วันนี้ได้มีการประกาศบังคับใช้เต็มพื้นที่ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560 นี้แต่สิ่งสำคัญหลังจากนี้ คือการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพและเกิดความร่วมมือกัน ทั้งข้าราชการ เอกชน และพี่น้องประชาชนที่จะต้องไม่ละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองรวมอีก ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกป่า การใช้พื้นที่ผิดวัตถุประสงค์ หรือการก่อสร้างใดๆ ที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ขวางเส้นทางไหลของน้ำตามธรรมชาติ เป็นต้น

สำหรับปัญหาด้านเศรษฐกิจ ก่อนที่ คสช. เข้ามานั้น ประชาชนอาจจะไม่ได้รับการดูแลในทุกมิติ อย่างครบวงจร และไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็นของระดับนโยบาย ในการกำกับดูแล หรือขาดการเอาใจใส่ สนับสนุนในการช่วยแก้ปัญหาให้กับระดับปฏิบัติการ ขาดแผนปฏิบัติการ ในระยะปานกลางและระยะยาว ยิ่งกว่านั้น มีการสร้างความต้องการเทียมเพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศจนอาจจะอิ่มตัวที่เกินความต้องการ เกินความเป็นจริง ไม่ส่งเสริมขีดความสามารถในการผลิต หรือไม่มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากนัก เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ตั้งแต่ต้นทางการผลิต ในภาคเกษตรกรรมเอง ก็มีนโยบายบางอย่างที่ทำให้เกษตรกร อาจมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ต้องค่อยๆ แก้กันไป อันนี้เป็นปัญหาเดิมๆ อยู่ แต่เราจะต้องมีการปรับรูปแบบในการใช้พื้นที่ ในเรื่องการเพาะปลูก ในเรื่องการทำเกษตรกรรม ทุกประเภท เช่น เราจะต้องไม่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว หันมาทำพืชไร่นาสวนผสม ลดการทำนาปรัง แล้วมาปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น หรือการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหน้าฝน หน้าแล้ง เหล่านี้ เป็นต้น


ซึ่งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศพก.ของกระทรวงเกษตรฯ ทั้ง 882 ศูนย์ รวมทั้งเครือข่ายย่อยอีก 8,000 แห่ง ซึ่งต่อไปก็จะเป็นนับหมื่นกลุ่มก็กำลังขับเคลื่อนและให้คำแนะนำ ช่วยเหลืออยู่ทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต นอกจากนี้ ที่ผ่านมานั้นเราอาจจะไม่มีการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ ไม่ได้มีการเสริมสร้างความรู้เท่าที่ควร ไม่ได้มีการส่งเสริมการรวมกลุ่ม ไม่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะลืมตาอ้าปาก หรือยืนบนขาของตนเองได้ ก็อาจจะช่วยตัวเองไม่ได้เสียที หนี้สินรุงรัง มันก็เลยต้องรอแต่ความช่วยเหลืออย่างเดียวก็คาดหวังไปเรื่อยๆ

เราต้องสร้างธุรกิจใหม่ ให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ ภาครัฐต้องส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี วิทยาการสมัยใหม่ เร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ ที่ตอบสนองความต้องการของประเทศ ตอบสนองความต้องการของสังคม และการดำรงชีวิตของคนไทย โดยพึ่งพาองค์ความรู้ต่างๆ จากภายนอก เราอาจจะต้องพึ่งในระยะแรกๆ จนทำให้เกิดนวัตกรรมที่เกิดขึ้นโดยคนไทย ผลิตเอง คิดเอง เพื่อคนไทย ใช้เองก่อน แล้วขยายผลไปสู่การส่งออกนวัตกรรมอื่นๆ ไปยังตลาดที่มีความต้องการใกล้เคียงกัน โดยเราต้องไม่ลืมการสร้างเครือข่าย การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างครบวงจร ตั้งแต่ ต้นทาง แหล่งผลิต ภาคเกษตรกรรม กลางทาง ภาคอุตสาหกรรม การแปรรูป การสร้างผลิตภัณฑ์ การสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม และไปสู่ปลายทาง คือการหาตลาด และการจับคู่ทางเศรษฐกิจ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งก็จะเป็นการกระจายรายได้ โดยเชื่อมโยงจากชุมชน ชนบท จังหวัด กลุ่มจังหวัด ภาคเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ EEC CLMVT อาเซียน ประชาคมโลก ได้ในที่สุด


ทั้งนี้ ปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ส่วนหนึ่งคือ แหล่งน้ำและพลังงาน พลังงานไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลนี้ ได้คำนึงถึง และพยายามสร้างความร่วมมือรูปแบบใหม่ๆ กับประเทศเพื่อนบ้านและพันธมิตร เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงนัม ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างไทยและกัมพูชา โดยการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ แทนการปล่อยน้ำทิ้งเพื่อผลักดันน้ำเค็ม ประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งก็จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 24 ถึง 50 เมกกะวัตต์ สามารถผันน้ำมาใช้ได้ 300 ถึง 500 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งจะสามารถรองรับการพัฒนาต่างๆ ใน EEC ของเรา และสร้างความมั่นคงทางพลังงานและน้ำ ในพื้นที่ภาคตะวันออกของประเทศ ได้ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งน่าจะสำเร็จได้ ประมาณปลายปี พ.ศ. 2566


อีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมาก สำหรับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ คือความยาก ง่ายของการประกอบธุรกิจในประเทศไทย ในมุมมองของธนาคารโลก ที่ได้ให้คำแนะนำและข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์แก่ไทย โดยเห็นว่ารัฐบาลนี้ มีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงในการเร่งรัดจัดระบบ และปฏิรูปงานบริการของภาครัฐ เพื่อให้เอื้อต่อการลงทุนในประเทศไทย ก็จะเห็นได้จาก การที่รัฐบาลเปิดกว้างรับฟังปัญหาจากภาคเอกชน เพื่อให้รัฐบาลและภาคเอกชนสามารถปรับตัวเข้าหากัน อันเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย ซึ่งผมได้ย้ำอยู่เสมอว่าเรายินดีต้อนรับนักลงทุนจากต่างชาติ ยินดีสนับสนุนนักลงทุนในประเทศ พร้อมทั้งเร่งรัดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมผลักดันให้อันดับความยาก ง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยนั้นดีขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าให้การยกระดับการจัดอันดับความยาก ง่าย ของการประกอบธุรกิจในประเทศไทยให้ขยับอันดับมาอยู่ในกลุ่ม 30 อันดับ แรกให้ได้โดยกำหนดเป็นแผนระยะสั้น ระยะ กลาง ระยะยาว ซึ่งมีทั้งหมด 79 กิจกรรม ที่เราต้องแก้ไข เราได้ปรับแก้ไปแล้วระหว่างนี้ 26 กิจกรรม ที่เหลือก็ทยอยดำเนินการทำกันอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบูรณาการของการทำงานของภาครัฐกับภาคเอกชนและความร่วมมือกับธนาคารโลก อีกด้วย ยกตัวอย่างความคืบหน้าการปรับปรุงพัฒนาขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ ซึ่งสามารถลดทั้งขั้นตอนการจดทะเบียน ย่นระยะเวลาการจดทะเบียนและลดค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนลงได้ กล่าวคือ สามารถลดขั้นตอนจากเดิม 5 ขั้นตอน ใช้เวลา 25 วัน ครึ่ง เหลือเพียง 3 ขั้นตอน ใช้เวลาเพียง 2 วัน และลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการจากเดิม 6,600 บาท เหลือเพียง 5,800 บาท เป็นต้น


ทั้งนี้สามารถสร้างความประทับใจแก่ธนาคารโลก จากการให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้อำนวยการธนาคารโลก ได้แสดงข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยควรจัดทำเว็บไซต์ ที่เป็นแหล่งรวมข้อมูล เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพื่อจะอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนต่างชาติ ที่สนใจลงทุนในไทย สามารถมีแหล่งข้อมูลที่เข้าถึงง่ายและสะดวกรวดเร็ว รวมทั้งอยากให้รัฐบาลไทยเพิ่มช่องทางการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่นักลงทุนต่างชาติ เกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการบริการต่างๆ ของภาครัฐอีกด้วย

ผมเองนั้นเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี ที่สำคัญคือ สอดคล้องการสิ่งที่รัฐบาลนี้ กำลังดำเนินการอยู่ และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เราทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้เร็วที่สุด ก็ขอฝากหน่วยงานหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ก็ถือว่าเป็นนโยบายและเป็นการสั่งการจากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลด้วย ขอให้ดำเนินการโดยเร่งด่วน มันเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และกฎหมายอีกหลายฉบับด้วย


พี่น้องประชาชนที่รัก ในการสร้างการรับรู้เพื่อความเข้าใจกันนั้น มีความสำคัญ ในเรื่องของความเข้าใจระหว่าง นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนนั้น ผมอยากให้หาเวลาออกไปพบปะ พูดคุยกันนะครับ ทั้งใน กทม. และในท้องถิ่น จังหวัดต่างๆด้วยนะครับ ทั้ง อบจ. ,อบต. ,เทศบาล, กำนัน ,ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ในแต่ละพื้นที่ของตนเอง ให้ทุกคนได้ทราบถึงการทำงานของพี่น้องข้าราชการ หน่วยงานต่างของภาครัฐ ทุกประเภท จะได้เข้าใจร่วมกัน ได้ถามไถ่ไขข้อข้องใจ ในการที่จะเข้ามาร่วมมือกันในกระบวนการสร้างความเข้าใจ เกิดการมีส่วนร่วม อย่างแท้จริง บนพื้นฐานหลักคิดที่ถูกต้อง

ผมอยากให้เป็นการ สื่อสาร 2 ทาง เพื่อให้ทุกคนได้รับรู้ เข้าใจ ในประเด็นของข้อกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่ส่วนราชการต้องปฏิบัติ ถ้าไม่เข้าใจกันก็จะมองว่าล่าช้าไม่เป็นธรรมอะไรต่างๆเหล่านี้ ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าระเบียบมันว่ายังไงนะครับ รวมไปถึงเรื่องการให้บริการ การตอบสนองความต้องการ การสร้างความพึงพอใจ ถ้าปรับเข้าหากันได้ มันก็จะสะดวกขึ้นนะครับ และก็เข้าใจกันมากขึ้น

ก็ไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ขอให้ทุกคนทุกฝ่าย ได้สามารถเสนอข้อคิดเห็น ซักถาม ข้อสงสัยนะครับ อันนี้ก็ฝากข้าราชการในพื้นที่ทุกคนด้วยนะครับ กทม.ด้วย มันก็จะเกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและประเทศชาติ เป็นส่วนรวม ทั้งนี้ผมต้องการให้เกิดการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างสันติสุข มีความพึงพอใจ มีความปรองดองร่วมมือกัน และมีประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาลเกิดขึ้น ในอนาคตนะครับ

ขอให้ คสช. ได้ช่วยสนับสนุน และ ดูแลกิจกรรมเหล่านี้ด้วยนะครับ กระทรวงศึกษา ครู อาจารย์ต่างๆทั้งหมดนะครับ ทุกภาคส่วน ขอให้ช่วยกันในเรื่องนี้ คุยกันให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปเปิดเวทีอะไรมากมาย คุยกันในหมู่บ้าน ในชุมชน ในครอบครับอะไรต่างๆ เหล่านี้ว่า ปัญหาประเทศไทยมันอยู่ตรงไหน และวันนี้รัฐบาลทำอะไรไปบ้าง อะไรที่ยังทำได้ไม่ดีหรือทำดีก็พูดกันถึงกันบ้าง อย่างน้อยมันก็เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และแลกเปลี่ยนความคิดพื้นฐานกันได้นะครับ

ผมอยากให้ย้อนกลับไปดูในอดีต ว่าปัญหามันเกิดอะไรขึ้น และรัฐบาลได้ทำอะไรไปบ้าง เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น บางอย่างสำเร็จ เร็ว ช้า ก็ตามความยาก ง่าย ปัญหาที่มีความซับซ้อนกัน มันก็ยากหน่อย เพื่อจะไปสู่การปฏิรูปประเทศ ที่สำคัญก็คือในเรื่องของการปฏิรูปประเทศ การปฏิรูปประเทศนั้นต้องการการเรียนรู้ นอกจากระบบการศึกษาที่เรากำลังปฏิรูปกันอยู่ เราต้องปฏิรูปทางความคิดไปพร้อมๆ กันด้วย โดยการสร้างหลักคิด กระบวนการคิด ที่เป็นเหตุเป็นผล มีการคิดวิเคราะห์ที่ถูกต้อง โดยต้องเริ่มที่ตนเองก่อนเสมอ

นอกจากนี้ เราจะต้องเข้าใจกัน เชื่อใจกัน ไม่อย่างนั้น ก็จะเกิดการโทษกันไปมา และไม่เกิดความร่วมมือ ก็จะไม่นำไปสู่การปฏิบัติ ไม่ได้ผลลัพธ์เป็นรูปธรรมเสียที เหมือนลักษณะที่เราเรียกว่า ย่ำเท้าอยู่กับที่ เราให้ความสำคัญกับการศึกษาทั้งระบบ และต้องให้ความสำคัญกับการสร้างการเรียนรู้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งรัฐบาลนี้ให้ความสนใจ เป็นลำดับแรกๆ คุณภาพของคน ข้าราชการ ทั้งหมดจะต้องมีหลักคิดที่ร่วมกัน ที่ถูกต้องร่วมกันเสียก่อน มากกว่าการที่จะกล่าวอ้างแต่ ประชาธิปไตยอย่างเดียว สำหรับเรื่องนี้ มีความสำคัญนะครับต่อการปฏิรูปทางการเมืองด้วย ก็อยากให้ทุกคนได้ร่วมมือกัน เราต้องการความคิดพื้นฐานของสังคม เพื่อสร้างความสามัคคีของคนในชาติ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เราทุกคน ทุกฝ่าย ต้องช่วยกันผลักดัน อย่าปล่อยให้รัฐบาล ข้าราชการ ทำเพียงลำพัง ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม รวมทั้งท้องถิ่น ต้องยื่นมือมาจับกัน เชื่อมโยงกัน ช่วยกันคนละไม้คนละมือ อย่ามองเห็นปัญหาแต่เพียงอย่างเดียว ต้องหาว่าเราจะแก้ปัญหากันอย่างไรในส่วนตนเองรับผิดชอบ และเราต้องดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ มีเป้าหมายอันเดียวกัน ภายใต้วิสัยทัศน์ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ มันจะไม่มีพลัง ไม่มีทิศทางที่เหมาะสมถูกต้อง

แนวโน้มโครงสร้างหน่วยงานภาครัฐ ควรจะลดขนาด เพิ่มประสิทธิภาพ เราต้องมาคิดดูว่าจะทำได้อย่างไร การเพิ่มขนาดหน่วยงานราชการ สิ่งที่ตามมา คือ ปัญหาด้านงบประมาณเป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วน ถ้าเราสามารถประสาน พลังประชารัฐ ได้อย่างแน่นแฟ้น เป็นเนื้อเดียวกัน เราก็อาจจะมีส่วนช่วยให้หน่วยงานราชการลดอัตราลงไปได้ ลดขนาดองคาพยพ ลดการใช้จ่ายภาครัฐลงได้ ค่าใช้จ่ายประจำต่างๆ ลดลงนะครับ เราจะได้นำงบประมาณเหล่านั้นไปใช้ในการจัดหาสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนได้มากขึ้น

ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ การใช้ระบบดิจิตอล มาช่วยเสริมการให้บริการ และการบริหารจัดการภาครัฐ ก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง ที่จะช่วยลดขนาดโครงสร้างภาครัฐ ให้มีขนาดเล็กลง และทำงานได้มีประสิทธิภาพได้มากกว่าเดิม เช่น แอปพลิเคชันต่างๆ บนมือถือ ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผมได้แนะนำไปเป็นระยะๆ แล้ว

อีกประการหนึ่งใน การปฏิรูปนั้นเราต้องอาศัยการกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจน โดยต้องมีแผนการปฏิรูป โดยยุทธศาสตร์กระทรวง ทุกกระทรวง เป็นตัวขับเคลื่อน จนบังเกิดผลเป็นรูปธรรมให้ได้ การคิดอย่างเดียวนั้นไม่ยาก แต่ถ้าการคิดและพูดโดยไม่ลงมือทำยิ่งเป็นเรื่องง่าย พอถึงเวลาทำมันก็จะติดปัญหาลงมือปฏิบัติไม่ได้นะครับ ถ้าเราจะทำให้มันสำเร็จ เรา ต้องเริ่มตั้งแต่การขีดเขียนแผน ที่มีความชัดเจน ให้ทุกคน ทุกฝ่าย สามารถทำงานร่วมกันได้ เป็นขั้นเป็นตอน มีการประสานสอดคล้อง มีการบูรณาการกัน ซึ่งมันอาจเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อน

ที่ผ่านมาจึงไม่มีใครอยากจะทำแบบนั้น ทุกรัฐบาลก็ไม่อยากทำ เพราะมันเป็นเรื่องปัญหาใหม่ด้วยไง เพราะปัญหามันซับซ้อน พอแกะออกมาปัญหามันมากกว่าเดิมนะครับ ก็ไม่มีใครอยากจะแกะ รัฐบาลนี้พยายามนะครับ พยายามจะทุ่มเทในการแก้ปัญหายากๆ ที่จะเป็น ต้นตอของปัญหาปากท้องของประชาชน อย่างจริงจัง เน้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ผ่านมา วันนีเราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งระยะสั้น ระยะยาว ด้วยนะครับ เพราะเวลาแต่ละรัฐบาลก็สั้นนะครับ อาจจะแค่ 4 ปีเต็มที่นะครับ หรืออาจจะไม่ถึง เพราะฉะนั้นก็แน่นอน ก็คงต้องทุ่มเทให้กับนโยบายที่มีผลทางการเมืองไปด้วย มากกว่าการที่จะมุ่งหวังแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างยั่งยืน เพราะเป็นสิ่งที่ยาก อย่างที่ได้ กล่าวไปแล้ว

แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้นะครับ คสช. กำลังดำเนินการอยู่ โดยเราจะสร้างกลไกการทำงานงานร่วมกันของหลายหน่วยงาน หลายองค์กร ที่มีหลายกฎหมาย ของแต่ละหน่วยงานที่เป็นอุปสรรคระหว่างกัน ที่เดิมเคยแก้ตรงนี้ ไปติดตรงโน้น ก็ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง เราต้องมองปัญหาให้ครบทุกมิติ รอบด้าน จะทำอะไร ก็ต้องดู คนข้างๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไว้ด้วย

เช่น การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การทำวันแมป ให้ใช้มาตราส่วนเดียวกัน การทำผังเมือง จังหวัด ทั้งประเทศ ที่นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม อย่างเช่นที่ภาคใต้ไม่ให้เกิดซ้ำรอย ที่จะต้องแก้ไขที่หลังมากกว่า 100 จุด ในเวลาเดียวกันแล้ว ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำหนดการขยายตัวของเมือง ที่จะต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ รวมทั้งการกระจายตัวของประชากร ให้มีที่ดินทำกิน มีที่อยู่อาศัย มีงาน มีรายได้ โดยไม่ไปกระจุกตัวในเขตเมือง หรือ ในกรุงเทพมหานคร นะครับ ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาทางเศรษฐกิจ อีกหลายๆ อย่างที่ตามมาด้วยนะครับ ดังที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน หากเราไม่ได้รับการแก้ไขในวันนี้ นะครับ

และนี่คือสิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังทำ กำลังวางราฐาน กำลังเริ่มวางยุทธศาสตร์ระดับชาติ ระดับนโยบาย เพื่อให้เป็น เข็มทิศนำทาง ไปสู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ไว้ให้ก่อน ด้วยเวลาที่จำกัด ที่เรามีอยู่ ดังนั้น ผมจึงต้องขอให้ทุกคนเข้าใจ ขอความร่วมมือ ขอเวลาในทำงาน และขอให้อดทนนะครับ เพราะการปลูกต้นไม้ กว่าจะออกดอกออกผล ยังต้องอาศัยเวลา ยิ่งมีโรคต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ต้นไม้ก็โตไม่ค่อยได้นะครับ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นพืช ผัก ผลไม้ ประเภทใด ก็เช่นกัน นะครับ การสร้างชาติ –การวางรากฐานเพื่ออนาคต ก็เป็นฉันนั้น นะครับ

สำหรับการเตรียมการสำหรับทำงานการเมือง หรือการเดินหน้าประเทศสู่ประชาธิปไตยในอนาคต เราคงไม่จำเป็นต้องทำลาย ลบล้าง สิ่งที่ คสช. วางรากฐาน หรือปรับไว้หลายอย่าง ก็ทำให้ท่านทั้งหมดนะครับ ที่เราพยายามปรับสิ่งที่เอียงให้ค่อยๆ ตั้งตรง พร้อมกับเสริมความเข้มแข็งเข้าไป อย่างต่อเนื่อง เหมือนที่ผมพูดตั้งแต่ 22พฤษภาคม 2557 นะครับ อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะมีคนที่ไม่เห็นชอบ ไม่เห็นด้วย แล้วพยายามทำลาย เซาะให้เอนเอียง เหมือนเดิม อีกครั้ง เพื่อแสวงหาหนทางเข้าสู่อำนาจทางการเมือง และให้ประชาชนกลับไปสนับสนุน เป็นฐานเสียงโดยไม่ได้มุ่งหวังให้ประชาชนเข้มแข็งช่วยตัวเองได้ วันหน้าก็คงต้องพึ่งพารัฐ หรือฝ่ายการเมืองเหมือนเดิม อันนี้เป็นจุดอ่อนของประชาธิปไตยของประเทศไทย ขอให้ทุกคนใคร่ครวญด้วย รวมถึงเราไม่อาจสร้างธรรมาภิบาลเกิดขึ้นไปได้จริงในการบริหารราชการแผ่นดินมา

รัฐบาลนี้พร้อมจะขับเคลื่อนประเทศไทยของเราไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรมเหมือนการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่กลับไปให้ความสำคัญมากกว่าหลักการต่างๆอันเป็นสาระ วันนี้ผมยินดีที่มีนักการเมืองหลายท่านหลายพรรคได้ออกมาพูดเชิงที่สร้างสรรค์ ร่วมมือกันขจัดคนไม่ดีออกไปจากการเมืองไทยให้ได้ เราจะต้องมีการพัฒนาอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนคนไทย ว่าเราต้องการจะหลุดพ้นจากกับดักหรือวังวนแห่งปัญหาให้ได้หรือไม่ อย่าทำให้นักการเมืองดีๆ ที่มีอยู่เยอะหรือคนที่คิดว่าจะไปเป็นนักการเมืองใหม่ๆหน้าใหม่ ทางเลือกใหม่ ต้องเสียกำลังใจ เสียความตั้งใจ หรือหมดศรัทธา หรือเกิดวิกฤตศรัทธา ที่จะเข้ามาทำงานช่วยชาติ

ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้ใช้คำสอนทางศาสนาทุกศาสนาที่ตนนับถือมาเป็นแสงสว่างนำทางในการอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดองและสันติสุข พร้อมทั้งร่วมกันปลูกฝังอุดมการณ์แห่งความรักชาติ และร่วมกันสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในเชิงบวก สร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเราให้จงได้ ทั้งนี้ เพื่อการปฏิรูปประเทศ และการเลือกตั้งในอนาคต ที่ผมถือว่าเป็นวาระชาติ ก็ขอให้พวกเราทุกคนได้อดทนเข้มแข็งนะครับ

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง รัฐบาลยอมรับว่า ถึงแม้ตัวเลขประเมินทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นในภาพรวม แต่อย่างไรก็ตาม การกระจายรายได้ยังทำได้ไม่ทั่วถึง จำเป็นต้องแสวงหามาตรการมาดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพราะอาจจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่ายังไม่ได้อะไรจากรัฐบาล ยอดซื้อขายสินค้าบางอย่างตกลง แสดงว่าประชาชนขาดกำลังซื้อ รัฐบาลพยายามทำทุกอย่าง ซึ่งอาจจะทำได้ไม่รวดเร็วนัก เพราะเราต้องระมัดระวังเรื่องข้อกฎหมายต่างๆที่เป็นเรื่องสำคัญ ประกอบกับในมาตรการใหม่ๆอาจจะมีการบิดเบือนให้ร้ายจนไม่เข้าใจ เกิดความร่วมมือน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เพราะความยากจนเพราะผู้ที่มีรายได้น้อยลำบาก วันนี้ก็อาจจะมีการให้คำสัญญากับนักการเมืองที่ไม่ดี มาใช้โอกาสนี้สร้างความเข้าใจผิดๆ เหมือนเดิมๆ บอกว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้วันหน้าเมื่อเข้ามาแล้ว ก็มีการแก้ปัญหาชนิดที่เป็นการแก้ปลายเหตุเช่นเดิม ประชาชนก็เลยรู้สึกว่าน่าจะดีขึ้น ผมก็ไม่อยากจะบอกว่าใครผิดใครถูก มันก็คงต้องทำไปพร้อมๆกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ทั้งแก้ไขความเดือดร้อน ซึ่งต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก รัฐต้องหาเงินมาให้เพียงพอไปพร้อมกับการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆเป็นทางเลือก เป็นโอกาสให้ประชาชน หลายอย่างที่เป็นมาตรการออกไปนั้นบางอย่างอาจจะจ่ายตรงไม่ได้ ติดขัดข้อกฎหมาย เช่น ที่เคยเกิดขึ้นเป็นคดีความต่างๆและเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน หากเราไม่รอบคอบไม่ระมัดระวังเท่าที่ควรอาจจะเกิดปัญหาในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็จะพยายามจะหามาตรการที่เหมาะสมมาแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว เราต้องเลือก หรือผสมกันให้ได้ ทำสิ่งที่ถูกต้อง แล้วเราจะต้องไม่ทำสิ่งที่ผิดให้มันถูกต้อง ทำสิ่งที่ถูกให้มันถูกขึ้น หรือถูกมากกว่า และรวดเร็วทันเวลา ทำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม เราต้องคิดเสมอว่าทำอย่างไรคนรายได้น้อยจะไม่รู้สึกว่า เรายังไม่แก้ปัญหาให้เขา เราต้องช่วยกัน เราต้องเร่งกันทำงาน ในลักษณะประชารัฐ ก็ขอฝากไปยังข้าราชการ ทุกภาคส่วน เอกชนธุรกิจเอกชนก็ต้องช่วยกันด้วยนะครับ หลายๆส่วน ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือมันก็จะเร็วขึ้น รอรัฐอย่างเดียว มันไม่ไหว เพราะว่าเราต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ต้องช่วยกันแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้ด้วย

ในเรื่องของการลงทุนขนาดใหญ่ รถไฟทางคู่ รถไฟไทย - จีน รถไฟฟ้า ถนนโทรลเวย์ เราก็คงต้องเร่งทำ แต่มีข้อโต้แย้ง มีคำคัดค้านมาตลอดเวลา วันนี้อยากจะเรียนว่า มันไม่ใช่เวลาปกติ เราต้องเร่งดำเนินการ ก็ขอฝากทำความเข้าใจด้วย ถ้าท่านจะโต้แย้ง แล้วก็ทำใหม่ทั้งหมด ทำแบบเดิมๆ ก็ เอาไว้ไปทำตอนเป็นประชาธิปไตยแล้วกันนะครับ มันจะได้ทำไม่ได้อยู่เหมือนเดิม ถ้าเราคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม จะไม่ทันการณ์ ในเวลานี้ เรากำลังปฏิรูปประเทศ กำลังเปลี่ยนผ่าน บางอย่างก็เข้าใจด้วยนะครับ

การใช้จ่ายภาครัฐ เราก็ต้องทำผ่านส่วนราชการซึ่งก็ยังคงมีข้อขัดข้อง ล่าช้าด้วยระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณ มีขั้นตอนจำนวนมากนะครับ บางอย่างตัดออกไม่ได้ เพราะเป็นผลทางกฎหมาย ถ้าประชาชนเข้าใจ ไม่มีปัญหาหรอกครับ หลายคนมองว่า มีอำนาจพิเศษทำไมผมทำไม่ได้ แล้วผมไม่ต้องฟังเสียงคนส่วนใหญ่ด้วยหรือ มันก็ต้องฟังไปพร้อมๆกันส่วนใหญ่ส่วนน้อย แต่ว่าถ้าจะให้ทำผมจะทำให้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบ จากเสียงส่วนใหญ่ว่ามันควรจะทำนะ มันควรจะมีความเปลี่ยนแปลงบ้างนะ มันควรจะมีการที่จะลดปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นเหมือนเดิมๆนะครับ การต่อต้านเหมือนเดิม การประท้วง การคัดค้าน แล้วมันจะแก้ไขอะไรได้บ้างละครับ ก็กลับไปที่เก่าหมด

ฉะนั้นก็ ถ้าอยากจะให้ผมใช้อำนาจที่มันถูกต้องก็บอกผมมานะครับ ว่าพร้อมที่จะให้ผมทำแบบนั้น แต่ผมก็รับรองว่าผมจะไม่ทำในสิ่งที่ผิดจะทำให้มันดีขึ้นถ้ามันจำเป็นนะครับ อันนี้เราก็ต้องระวังอีกอันก็คือ การตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ สื่อโซเชียล วันนี้ก็กว้างขวางมากมาย ถูกบ้างผิดบ้าง ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง และการปฏิบัติงานขององค์กรอิสระ ก็ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันนะครับ ก็ฝากทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถ้าหากว่าทุกคนทำหน้าที่ของตนแล้วมันขัดขวางกันไปทั้งหมดมันก็ไปไม่ได้ทั้งหมดนะครับ หาสิ่งที่ถูกต้องแล้วทำไปด้วยกันไม่ดีกว่าหรือ

การลงทุนในประเทศนั้นมันเกิดขึ้นไม่ทันเวลาในวันนี้มากนัก สาเหตุอาจเนื่องมาจากเศรษฐกิจของโลกด้วย ที่ผ่านมาในประเทศส่วนใหญ่ก็เป็นการลงทุนที่อาจจะไม่เกิดมูลค่ามากนัก ไม่เกิดสินค้าใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นการขยายกิจการในประเภทเดิมๆ เลยทำให้รู้สึกว่า ขายสินค้าได้น้อย แข่งขันไม่ได้ กำลังซื้อตกเข้าไปอีก รัฐบาลก็กำลังปรับแก้ตรงนี้อยู่

สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้การจ้างงานเกิดปัญหา อาจจะมีการเลิกการประกอบการในธุรกิจที่ล้าสมัย หรือมีการย้ายฐานการลงทุนไปในประเทศที่มีสิทธิประโยชน์มากกว่า หรือมีค่าแรงน้อยกว่า ทำนองนี้ อีกทั้งต้องมีการแข่งขันการเรียกการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น เราก็ต้องไปปรับแก้ไปด้วย ถ้าคิดแบบเดิมๆ รักษาแบบเดิมๆ มันไม่ได้ทั้งหมด มันต้องปรับแก้ค่อยเป็นค่อยไปนะครับ ทั้งการลงทุนในประเทศ และการลงทุนต่างประเทศ มันก็จะมีผลกับรายได้การจ้างงาน รัฐบาลทราบดี แต่ทั้งหมดนั้นเป็นปัญหาเชิงซ้อนที่รัฐบาลต้องแก้ปัญหา ทั้งที่เป็นฟังก์ชันและการแก้ปัญหาแบบองค์รวม รัฐบาลได้พยายามมา 3 ปีแล้วในการที่จะแก้ไขให้ได้อย่างยั่งยืนจนประชาชนอาจจะรู้สึกว่ามันช้าเกินไป เราพยายามอย่างยิ่งยวดในการที่จะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้โดยเร็ว ขอให้เข้าใจและร่วมมือกันไปอีกระยะหนึ่งนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน ร่วมเป็นกำลังใจแก่ นักร้อง นักดนตรีตาบอด ในนาม ศิลปิน S2S จากถนนสู่ดวงดาวพร้อมด้วยศิลปิน AF (Academy Fantasia) ใน ฟรีคอนเสิร์ต S2S LIGHT OF LOVE ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่สะท้อนถึงความเท่าเทียมในสังคม บนเวทีการแสดง ไม่ว่าจะเป็นนักร้องที่บกพร่องจากการมองเห็น หรือศิลปินชั้นนำ นักร้องอาชีพ ก็ไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำกันแต่อย่างใด เป็นเรื่องของความสามารถ ทักษะ และการฝึกฝน จนประสบความสำเร็จ โดยทุกท่านสามารถสำรองที่นั่งได้ ตามรายละเอียดด้านล่างของจอโทรทัศน์

การดำเนินการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล ที่ต้องการจัดระเบียบสังคม โดยควบคุมการขอทาน ซึ่งมีที่มาที่ไม่ปกติ ผิดกฎหมาย แยกออกจากกลุ่มบุคคลที่แสดงความสามารถในที่สาธารณะ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นนักร้อง นักดนตรี ที่ขาดความสามารถในการมองเห็น เพื่อนำพาเข้าสู่โครงการพัฒนาศักยภาพนักร้องนักดนตรีตาบอดในที่สาธารณะ หรือ S2S ตามที่กล่าวไปแล้ว เพื่อเตรียมไปสู่การเป็นนักร้องระดับอาชีพ ในสังกัดค่ายเพลงที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งการออกอัลบั้มเพลง หรือเล่นดนตรี เป็นต้น ก็ขอเชิญชวนทุกคน ไปให้กำลังใจกันเยอะๆ นะครับ ขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
กำลังโหลดความคิดเห็น