ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์อย่างมาก แต่หลังเกิดวิกฤตการณ์กัมมันตภาพรังสีรั่วไหลที่โรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ กระแสต่อต้านนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นได้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มถูกตั้งคำถามว่าอาจได้ประโยชน์แฝงจากการใช้กากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์เพื่อผลิตเป็นอาวุธได้
เวทีการประชุมเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์ของสหประชาชาติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นเวทีปะทะคารมอย่างดุเดือดระหว่างทูตจากจีนและญี่ปุ่น เมื่อนายฟู่ ชง เอกอัครราชทูตจีนกล่าวว่า ญี่ปุ่นอยู่ในฐานะที่สามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากญี่ปุ่นมีพลูโตเนียมกว่า 47.8 ตันที่ได้จากเชื้อเพลิงใช้แล้วในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และแร่ยูเรเนียมอีกกว่า 1,200กิโลกรัม ซึ่งสามารถเป็นวัตถุดิบพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์มากกว่า 1,350 ลูก
ทูตจีนระบุว่ากลุ่มการเมืองบางกลุ่มในญี่ปุ่นเรียกร้องให้มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของญี่ปุ่นชี้แจงว่าเพราะเหตุใดญี่ปุ่นจึงสะสมพลูโตเนียมมากเช่นนี้
ด้านนายโทะชิโอะ ซะโนะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นที่รับผิดชอบด้านการลดอาวุธ ได้ตอบโต้อย่างรุนแรงต่อแถลงการณ์ของจีนที่กล่าวว่าญี่ปุ่นอาจใช้พลูโตเนียมที่มีอยู่มาพัฒนาเป็นอาวุธว่า กากนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นอยู่ภายใต้การจับตาของคณะผู้ตรวจสอบจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศหรือ IAEA โดยญี่ปุ่นยังคงยึดหลักการปลอดนิวเคลียร์ 3 ประการ คือจะไม่ครอบครอง ไม่ผลิต และไม่อนุญาตให้มีการนำอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาในญี่ปุ่น
ขณะเดียวกันนายโยะชิฮิเดะ ซุงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงโตเกียวว่า ญี่ปุ่นจำกัดการใช้งานพลูโตเนียม ตลอดจนวัตถุทางนิวเคลียร์อื่น ๆ ไว้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์เชิงสันติเท่านั้น
การปะทะคารมระหว่างทูตจีนและญี่ปุ่นครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายจีนตั้งคำถามเรื่องแนวทางการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นอย่างโจ่งแจ้ง โดยก่อนหน้านี้ก็เคยมีนักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ญี่ปุ่นยืนกรานที่จะเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์นั้น นอกจากจะมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกแล้ว ก็เพราะได้ประโยชน์จากกากนิวเคลียร์
กระแสต้านนิวเคลียร์สูงที่สุดในประวัติศาสตร์
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิถล่มญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 และชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศได้เห็นภาพหายนะภัยที่เกิดจากโรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ กระแสต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในหมู่ประชาชนชาวญี่ปุ่นได้พุ่งสู่จุดสูงสุด แม้แต่อดีตนายกรัฐมนตรีจุนนิชิโร โคอิสุมิ ก็ได้แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างชัดเจน โดยระบุว่าความจริงแล้วพลังงานนิวเคลียร์ไม่ได้มาราคาถูกอย่างที่คิด เนื่องจากมีภาระที่จะต้องจัดการกับกากนิวเคลียร์อีกนานหลายสิบปี โดยขณะนี้ญี่ปุ่นมีกากแร่พลูโนเนียม 10.8 ตันเก็บไว้ภายในประเทศ ภาระเรื่องการจัดการการนิวเคลียร์ระยะยาวรวมทั้งสถานที่กักเก็บทำให้รัฐบาลเยอรมนีก็ได้ตัดสินใจทยอยปลดระวางการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว
ขณะนี้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ทั่วประเทศญี่ปุ่นได้ถูกสั่งปิดเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย หากแต่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จำนวนหนึ่งก็ได้ทยอยกลับมาใช้งานอีกครั้ง และทุกครั้งที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับอนุญาตให้กลับมาใช้งาน ก็จะมีกระแสต่อต้านจากประชาชนจำนวนไม่น้อย
ทุกวันนี้รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถลดทอนการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์ได้ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงมากเป็นประวัติการณ์ แต่แน่นอนว่ารัฐบาลญี่ปุ่นไม่อาจระงับการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ตลอดไป ดังนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นจึงจำเป็นต้องใช้คำตอบกับประชาชนว่า ประเทศเกาะอย่างญี่ปุ่นหากไม่พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์แล้ว จะผลิตไฟฟ้าด้วยวิธีการใด?
ด้านรัฐบาลจีนซึ่งตั้งคำถามกับญี่ปุ่นเรื่องการใช้ประโยชน์แฝงจากพลังงานนิวเคลียร์ ก็พึงไม่ลืมว่ากองทัพจีนก็ใช้กากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์พัฒนาเป็นอาวุธเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ดีลการค้าครั้งประวัติศาสตร์จากการเดินทางเยือนอังกฤษครั้งล่าสุดของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ก็คือ การเข้าซื้อหุ้นของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์หลายแห่งของอังกฤษเป็นมูลค่ากว่า 46,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้จีนไม่เพียงแต่เข้าบริหารโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในต่างแดนเท่านั้น แต่จะช่วยสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่หนึ่งแห่งในอังกฤษด้วย การขยายบทบาททางนิวเคลียร์ของจีนจึงอาจจะมากกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ดังนั้นรัฐบาลแดนมังกรจึงต้องตระหนักเช่นเดียวกันว่าจะไม่ประพฤติตนข้าข่าย “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”.