รัฐบาลอินโดนีเซียเลือกใช้ระบบรถไฟของจีน ในโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศ สร้างความผิดหวังให้กับญี่ปุ่นอย่างมาก
สถานีโทรทัศน์ NHK รายงานว่า รัฐบาลอินโดนีเซียแจ้งต่อญี่ปุ่นว่าอินโดนีเซียจะนำระบบรถไฟความเร็วสูงของจีนไปใช้ในเส้นทางรถไฟเชื่อมกรุงจาการ์ตา นครหลวงของอินโดนีเซียกับเมืองบันดุงซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 140 กิโลเมตร
ญี่ปุ่นและจีนแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายแรกของอินโดนีเซีย จนทำให้ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย ประกาศระงับการตัดสินใจโครงการชั่วคราวเมื่อเดือนก่อน แต่สุดท้ายรัฐบาลแดนอิเหนาก็ได้มอบสิทธิ์การก่อสร้างรถไฟคราวมเร็วสูงให้กับแดนมังกร
นายโยะชิฮิเดะ ซุงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของรัฐบาลอินโดนีเซีย พร้อมยอมรับว่าความพ่ายแพ้ในการแข่งขันครั้งนี้นับเป็นความผิดหวังครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น
รัฐบายจีนและญี่ปุ่นพยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วงชิงโครงการนี้ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นได้ให้นายซุงะพบกับนายซอฟยัน จาลิล ประธานคณะกรรมการวางแผนพัฒนาแห่งชาติของอินโดนีเซียที่กรุงโตเกียวในวันอังคารที่ 29 กันยายน โดยนายจาลิลกำลังเยือนญี่ปุ่นในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีโจโก วิโดโดแห่งอินโดนีเซีย แต่แท้จริงแล้วผู้แทนอินโดนีเซีย เดินทางมาแจ้ง “ข่าวร้าย” กับรัฐบาลญี่ปุ่น
ผู้แทนพิเศษของผู้นำอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า จีนได้ยื่นข้อเสนอใหม่ว่าจะสร้างระบบรถไฟโดยที่อินโดนีเซียไม่ต้องแบกรับภาระทางการเงินใดๆ ทั้งสิ้น และว่ารัฐบาลอินโดนีเซียได้ตอบรับข้อเสนอของจีน
ญี่ปุ่นเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย และได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการสาธารณูปโภคมากมายในอินโดนีเซีย นอกจากนี้รถไฟใต้ดินเส้นทางแรกในกรุงจาการ์ตาก็สร้างด้วยเงินกู้จากญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจที่มีบริษัทญี่ปุ่นหลายบริษัทรวมอยู่ด้วยได้บรรลุข้อตกลงสัญญาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย
รัฐบาลญี่ปุ่นเชื่อว่า การมีส่วนร่วมอย่างมหาศาลของญี่ปุ่นในการพัฒนาสาธารณูปโภคของอินโดนีเซียคือข้อได้เปรียบอย่างยิ่งของญี่ปุ่นในการแข่งขันเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงแก่อินโดนีเซีย นอกจากเรื่องความปลอดภัยและเทคโนโลยีขั้นสูงของรถไฟชิงกันเซนที่เหมาะสมกับประเทศที่ต้องประสบเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้งอย่างอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีชินคันเซนของญี่ปุ่นนั้นมีค่าก่อสร้างสูงกว่ารถไฟของจีนหลายเท่าตัว และฝ่ายรัฐบาลจีนยัง “ทุ่มหมดหน้าตัก” ด้วยข้อเสนอสร้างรถไฟความเร็วสูงด้วยเงินทุนของรัฐบาลจีน โดยที่รัฐบาลอินโดนีเซียไม่ต้องใช้งบประมาณและไม่ต้องค้ำประกันเงินกู้ด้วย จึงเป็นสาเหตุที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องพบกับความปราชัยครั้งสำคัญนี้.