นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุ NHK ของญี่ปุ่น เผยเบื้องหลังข้อตกลงความร่วมมือโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระบุว่า จะใช้เงินลงทุน 450,000ล้านบาท โดยรัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ไทยและญี่ปุ่นร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือด้านระบบรางเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยตกลงที่จะร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ การสำรวจและออกแบบเส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ซึ่งจะใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง หรือชิงกันเซ็งของญี่ปุ่น และขณะนี้สองฝ่ายกำลังจะเจรจารายละเอียดของรูปแบบการลงทุน และการสนับสนุนทางการเงินในโครงการนี้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2561
รมช.คมนาคม ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้นำรถไฟความเร็วสูงหรือชิงกันเซ็น ซึ่งพัฒนามา 50 ปี และไม่เคยมีอุบัติเหตุ ทำให้รัฐบาลไทยมีความมั่นใจ ส่วนเรื่องการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากทางญี่ปุ่นนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาในรายละเอียด รวมทั้งการสำรวจเส้นทางและการออกแบบ ซึ่งจะใช้เวลา 1 ปีถึงปีครึ่ง
ทั้งนี้ จากการศึกษาของฝ่ายไทยที่ทำเสร็จเมื่อปีที่แล้ว มูลค่าโครงการอยู่ที่ประมาณ 450,000 ล้านบาท ซึ่งทางรมช.คมนาคมยอมรับว่า จำนวนผู้โดยสารอาจไม่มาก และต้องหาทางการขาดทุน โดยจะศึกษาการใช้ประโยชน์จากสถานีรถไฟ และพัฒนาสถานีรถไฟในเชิงพาณิชย์ไปพร้อมกัน รวมทั้งการวางแผนการพัฒนาเมืองที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน ซึ่งอาจเป็นส่วนที่จะสร้างรายได้ให้กับเส้นทางรถไฟระหว่างกรุงเทพฯ กับเชียงใหม่
“รถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้จะแล่นผ่านเมืองธุรกิจและเมืองท่องเที่ยว และจะมีการก่อสร้างทางรถไฟท้องถิ่น เพื่อส่งต่อผู้โดยสารจากรถไฟความเร็วสูงให้ออกไปท่องเที่ยวในเมืองท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นรายได้ที่เพิ่มเติมเข้ามา” รมช.คมนาคม ระบุ
สถานีวิทยุ NHKรายงานว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวของประเทศไทย จนทำให้ขณะนี้สนามบินเชียงใหม่ค่อนข้างเต็ม ซึ่งหากมีบริการรถไฟความเร็วสูงที่ใช้เวลาเดินทางได้ไม่เกิน 3 ชั่วโมง เชื่อว่าผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ยังระบุว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงสายใหม่นี้จะก่อสร้างรางใหม่ เป็นขนาดมาตรฐาน 1.435 เมตร ซึ่งเป็นระบบรางที่ชิงกันเซ็งใช้อยู่ในเวลานี้ และสามารถเชื่อมต่อกับระบบรางของชาติอื่นๆ ในภูมิภาคได้ ทั้งเชื่อมต่อไปยังเมืองคุนหมิงของจีน และลงไปยังภาคใต้เชื่อมต่อไปยังกัวลาลัมเปอร์และสิงคโปร์
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยต้องการส่งเสริมให้มีการขนส่งทางรถไฟให้มากขึ้น เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งปัจจุบันยังใช้การขนส่งทางถนนอยู่มาก ส่วนเส้นทางรถไฟสายใหม่จะเน้นการขนส่งผู้โดยสาร
สำหรับความคืบหน้าของโครงการ ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างสถานีกลางที่สถานีบางซื่อ และหากเส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ - เชียงใหม่เกิดขึ้น ก็สามารถที่จะเชื่อมตัวสถานีได้ที่สถานีบางซื่อ.