xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ยอเอกชนยุ่นพันธมิตรแน่นแฟ้นไทย ชวน SMEs ลงทุนเกษตรแปรรูป-พลังงานทดแทน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกฯ พร้อมผู้นำลุ่มน้ำโขง ร่วมวงข้าวกับเอกชนญี่ปุ่น ยินดีได้พบสมาพันธ์ธุรกิจ และสภาหอการค้า สะท้อนความสำคัญเศรษฐกิจละแวกโขง ชูพันธมิตรแน่นแฟ้นไทย ขอบคุณและหวังคงบทบาทที่แข็งแกร่งในภูมิภาค ชูแก้กฏหมายเอื้อต่างชาติตั้งสำนักงานใหญ่ เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เขตเศรษฐกิจพิเศษ ชวน SMEs ลงทุน อุตสาหกรรมการเกษตร เกษตรแปรรูป การรีไซเคิล พลังงานทดแทน และเทคโนโลยีขั้นสูง

วันนี้ (4 ก.ค.) ที่โรงแรมอิมพีเรียล กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเวลา 12.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยผู้นำประเทศ CLMV ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้นำภาคเอกชนญี่ปุ่น ได้แก่ สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (Keidanren) สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น โดยระหว่างอาหารกลางวันนายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์แก่ภาคเอกชนญี่ปุ่นกว่า 1,000 ราย

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีที่ได้มีโอกาสพบกับเคดันเรน และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในวันนี้ ซึ่งนับว่าอยู่ในช่วงเวลาสำคัญของการจัดประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่น ในฐานะมิตรประเทศยาวนานที่มีต่อกัน ภาคเอกชนญี่ปุ่นเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศลุ่มน้ำโขง ในส่วนของไทย ภาคเอกชนญี่ปุ่นเรียกได้ว่าเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นของไทย และเป็นส่วนสำคัญยิ่งของความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทยมาหลายทศวรรษ นอกจากนี้ ธุรกิจญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุน ต่างมาพร้อมกับเทคโนโลยี วิทยาการ การบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน รวมทั้งสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนในท้องที่ ซึ่งทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนของอนุภูมิภาค

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณภาคเอกชนญี่ปุ่น และหวังว่าภาคเอกชนญี่ปุ่นจะคงบทบาท ที่แข็งแกร่งในประเทศลุ่มน้ำโขงทุกประเทศต่อไป เพื่อสร้างความเจริญให้แก่อนุภูมิภาคและร่วมก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ลุ่มน้ำโขงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจหนึ่งที่มีพลวัตมากที่สุดในภูมิภาคและในโลกและยังขยายตัวได้อีกมาก ในส่วนของไทย เศรษฐกิจมีเสถียรภาพและพัฒนาการไปในทางที่ดี โดยคาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะมีอัตราเติบโตกว่าร้อยละ 3-4 ไทยให้ความสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติในอนุภูมิภาค ไทยได้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มเติมแก่บริษัทต่างชาติที่เข้ามาจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระหว่างประเทศ (International Headquarters - IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Centres - ITC) ในไทย นักลงทุนสามารถใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนและการผลิต เพื่อขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องไปยังประเทศในภูมิภาค ในลักษณะ “บวกหนึ่ง”

ขณะเดียวกัน ไทยกำลังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ทั้งทางถนน ราง น้ำและอากาศ โดยใช้เงินทุนมากกว่า 7 ล้านล้านเยนในระยะ 8 ปี เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ และส่งเสริมความเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและอนุภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ รัฐบาลไทยได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation - MOC) กับญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเส้นทางราง 3 เส้นทาง เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้แก่ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เส้นทางรถไฟกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-อรัญประเทศและแหลมฉบัง และเส้นทางแม่สอด-มุกดาหารตามระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก

ไทยกำลังผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดน 6 จังหวัดตามระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญของอนุภูมิภาค ภายในปลายปีนี้ ได้แก่ จ.ตาก ติดกับ พม่า จ.มุกดาหาร และ จ.หนองคาย ติดกับ ลาว จ.สระแก้ว และ จ.ตราด ติดกับกัมพูชา และ จ.สงขลา ติดกับมาเลเซีย จึงขอเชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงธุรกิจและอุตสาหกรรมไปยังเขตเศรษฐกิจและพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นฐานการผลิตเดียวกัน เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน หากบริษัทใดของญี่ปุ่นมีข้อเสนอเกี่ยวกับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษไทย เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน นายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของท่าน เพื่อปรับใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ไทยหวังให้ประเทศในอนุภูมิภาคนี้เป็นผู้นำแห่งความร่วมมือที่เติบโตไปด้วยกันมากกว่าที่จะเป็นคู่แข่งกัน

โดยนายกรัฐมนตรีมีความยินดีที่จะได้เป็นสักขีพยานในการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนง (Memorandum of Intention - MOI) ระหว่างพม่า-ไทย-ญี่ปุ่น สำหรับการพัฒนาโครงการทวาย ในช่วงบ่ายวันนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นประตูการค้ายุทธศาสตร์สำคัญของภูมิภาคออกสู่มหาสมุทรอินเดีย ขณะนี้ ไทยกำลังเร่งพัฒนาการเชื่อมต่อกับทวาย ทั้งทางรางที่กำลังร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น และทางถนนจากชายแดนไทยไปยังทวาย ซึ่งรัฐบาลไทยได้เห็นชอบวงเงินจำนวน 16,500 ล้านเยนแล้ว โดยจะเชี่อมโยงทวายกับอีสเทิร์น ซีบอร์ด (Eastern Seaboard) ต่อไปยังกัมพูชาและเวียดนาม ไทยหวังว่าภาคเอกชนญี่ปุ่นจะสนับสนุนโครงการทวายอย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรียังได้แสดงความชื่นชมนโยบายของบริษัทญี่ปุ่นที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรม และเทคโนโลยี ตลอดจนการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในกรอบลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ไทยให้ความสำคัญต่อการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (PPP) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอนุภูมิภาค และให้ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วม ในโครงการต่างๆ ได้มากขึ้นเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและอาเซียน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนนักลงทุนวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ญี่ปุ่นมาลงทุน ในอนุภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะใน อุตสาหกรรมการเกษตร เกษตรแปรรูป การรีไซเคิล พลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลญี่ปุ่นที่ส่งเสริมการลงทุนของ SMEs ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในฐานะฐานการผลิตส่วนขยาย รัฐบาลไทยยังตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคเอกชน ประเทศที่เกี่ยวข้อง และหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในการพัฒนาแรงงานฝีมือในลุ่มน้ำโขง เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคการผลิตและรองรับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ผ่านมาไทยได้จัดฝึกอบรมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานชายแดนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนนักธุรกิจญี่ปุ่นให้มีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญอย่างมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืนของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลางต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น