xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” งงรัฐบาลไม่ร่วมมือจีนทำรถไฟความเร็วสูง ชี้ลงทุนเองเป็นภาระชาติ-ประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง พรรคประชาธิปัตย์(แฟ้มภาพ)
รองหัวหน้า ปชป.ข้องใจรัฐบาลลงทุนฝ่ายเดียวโครงการรถไฟความเร็วสูง งงเมินร่วมมือจีน ส่อภาระการเงินชาติแย่ลง กู้เงินสร้างเป็นภาระประชาชน 100% ทั้งที่จีน-ธุรกิจอสังหาฯ ได้ประโยชน์ จี้ทบทวนใหม่ แนะหากลงทุนเองควรทุ่มไปที่รถไฟรางคู่คุ้มค่ากว่า ชี้รถไฟความเร็วสูงมีก็ดีแต่ต้องไม่เป็นภาระมากไป ย้ำสายเชียงใหม่ยิ่งไม่คุ้ม ต้องใช้เวลา 600 ปีถึงคุ้มทุน

วันนี้ (15 มิ.ย.) นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีต รมว.คลัง กล่าวถึงแผนการลงทุนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในโครงการความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างจีนกับไทย ที่รัฐบาลได้ทำบันทึกความเข้าใจว่าจะกู้เงินจากจีนมาลงทุนเองในเส้นทางรถไฟสายหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด (ยาวประมาณ 734 กิโลเมตร) ว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นแผนยุทธศาสตร์ด้านคมนาคมที่วางไว้ตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2553 โดยกำหนดเส้นทางหลักว่าจะเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และใช้วิธีการร่วมลงทุน ไม่ใช่ไทยลงทุนฝ่ายเดียวจึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดรัฐบาลจึงตัดสินใจเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้จีนเคยทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นกับไทยแล้วว่าจะลงทุนร่วมกัน

“ผมอยากเห็นเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทย-จีน เพราะผลตอบแทนทางการเงินของโครงการคุ้มค่ายากในบางเส้นทาง ซึ่งจะทำให้ภาระด้านการเงินตกหนักที่ประเทศไทย จึงควรหาวิธีลดภาระด้วยการให้ผู้ที่ได้ประโยชน์อื่นมาร่วมรับภาระกับเรา โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมจีนเป็นแนวคิดตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นโครงการร่วมลงทุนและจีนในขณะนั้นก็ลงนามเบื้องต้นตกลงแล้วเพราะมีผลประโยชน์ต่อจีนในเชิงยุทธศาสตร์อย่างมาก ถ้าไทยไม่สร้างแผนการสร้างรถไฟเอเชียสายใต้ไม่มีทางประสบความสำเร็จ ดังนั้นจีนมีกำลังทางการเงินที่เข้มแข็งและเคยแสดงความพร้อมในอดีตที่จะมาร่วมภาระในส่วนเส้นทางที่ผ่านประเทศไทยด้วย จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนวิธีการใหม่”

นายกรณ์กล่าวด้วยว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมเราจึงคิดว่าควรจะรับภาระนี้ไว้เองคนเดียวซึ่งเป็นภาระที่ไม่น้อยที่ต้องกู้ยืมเงินหลายแสนล้าน ขณะที่ในอดีตเกือบทุกโครงการสุดท้ายต้องใช้งบประมาณมากกว่าที่ตั้งไว้ครั้งแรกจะเป็นภาระขั้นตอนต่อไปที่มากกว่านี้ ถ้ามีผลการดำเนินการขาดทุนจะเป็นภาระซ้ำซ้อนทั้งในแง่ของภาระดอกเบี้ย การชำระเงินต้น และภาระขาดทุนเพิ่มเติมด้วย ถ้ารัฐบาลกู้เงินสร้างเอง 100% จะเป็นภาระประชาชนเต็มร้อย

“คนที่จะได้ประโยชน์ในเชิงยุทธศาสตร์เกี่ยวกับระบบรางคือจีน แต่ไทยต้องแบกภาระทางการเงิน และผู้ได้ประโยชน์อื่นๆ คือ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ขายอุปกรณ์รถไฟ ระบบสัญญาณ ฯลฯ ซึ่งก็น่าจะเป็นทั้งจีนและบริษัทไทยบางบริษัท ถ้าคิดเกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควบคู่ไปด้วยก็เท่ากับสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แต่ผลักภาระหนี้มาให้ประชาชน” นายกรณ์กล่าว

อดีต รมว.คลังยังเสนอว่า หากพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลและต้องลงทุนเอง 100% คงจะทุ่มเทในการลงทุนในระบบรถไฟทางคู่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้เท่าตัวเมื่อเทียบกับปัจจุบัน และจะมีการลงทุนที่น้อยกว่า อีกทั้งมีผลในการขนส่งสินค้ามากกว่า ส่วรถไฟความเร็วสูงมีก็ดีแต่ต้องไม่เป็นภาระการเงินการคลังมากเกินไป ตนกังวลว่าถ้ากู้มาลงทุนฝ่ายเดียวอาจจะเป็นภาระการเงินที่มากเกินไปสำหรับเรา เพราะสถานะของประเทศยังไม่มั่นคงพอที่จะลงทุนเองทั้งหมด ยกตัวอย่างที่ญี่ปุ่นที่ร่ำรวยกว่าเราก็ยังหาข้อสรุปหรือไม่ในการสร้างรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 2 เชื่อมลอนดอนทางเหนือ

ส่วนเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กทม.-เชียงใหม่นั้น นายกรณ์ระบุว่า ยิ่งไม่มีความคุ้มค่าเพราะให้ผลแทนทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์เคยมีสถาบันหนึ่งศึกษาความคุ้มค่าในโครงการนี้พบว่าต้องใช้เวลาถึง 300 ปีจึงจะคุ้มทุน แต่หากคิดดอกเบี้ยแล้วตนเห็นว่าอาจจะใช้เวลาถึง 600 ปีจึงจะคุ้มทุน ซึ่งเวลาก็ผ่านไปไม่นานนักตัวเลขไม่น่าจะเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ หากรัฐบาลเดินตามแผนการก่อสร้างในทุกเส้นทางที่ระบุออกมาก็เท่ากับประเทศไทยจะมีหนี้ราว 8 แสนล้านบาท รัฐต้องทบทวนให้ดีว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ และจะกระทบต่อสถานะการเงินของประเทศหรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น