เอเอฟพี – โครงการก่อสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงสายแรกในอินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งสนามแข่งขันที่ทั้งญี่ปุ่นและจีนต่างยื่นข้อเสนอเพื่อช่วงชิงสัมปทาน และยังถือเป็นความพยายามล่าสุดของปักกิ่งที่จะท้าทายบทบาทของญี่ปุ่นในฐานะแหล่งทุนใหญ่สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ญี่ปุ่นเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่เข้าไปลงทุนในอินโดนีเซียมากที่สุด โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์และเหมืองแร่ จึงเป็นที่คาดหมายว่าจะคว้าโครงการรถไฟความเร็วสูงในแดนอิเหนาไปแบบไม่ต้องลุ้น ทว่าความไม่แน่นอนก็เกิดขึ้น หลังจากที่จีนประกาศตัวเป็นคู่แข่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
บรรยากาศการแข่งขันระหว่าง 2 มหาอำนาจยิ่งร้อนระอุหนัก หลังจากประธานาธิบดี โจโค วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย เดินทางไปเยือนทั้งจีนและญี่ปุ่นในเดือนเมษายน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และเชื้อเชิญให้ทั้ง 2 ประเทศเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ จะต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์
วิโดโด ได้ทดลองนั่งรถไฟหัวกระสุนระหว่างไปเยือนจีนและญี่ปุ่น พร้อมเผยวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการสร้างระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อระหว่างกรุงจาการ์ตากับ “บันดุง” ซึ่งเป็นเมืองมหาวิทยาลัยและศูนย์กลางไอทีที่อยู่ห่างจากเมืองหลวงเพียงราวๆ 160 กิโลเมตร
ถ้าหาก วิโดโด มีเจตนาที่จะดึงความสนใจจากเจ้าภาพทั้ง 2 ประเทศ ก็ดูเหมือนว่าเขาจะประสบความเร็จงดงาม เพราะหลังจากนั้นญี่ปุ่นและจีนต่างก็ทยอยส่งคณะผู้แทนไปเยือนกรุงจาการ์ตา พร้อมกับข้อเสนอที่หวังมัดใจรัฐบาลอินโดนีเซีย
“ให้พวกเขาแข่งกันมาลงทุนในอินโดนีเซียเถอะ เรามีแต่จะได้ประโยชน์” ลูฮุต ปันไจตัน ประธานคณะเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบประธานาธิบดีและคนสนิทของ วิโดโด ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี
“เหมือนหญิงสาวสวยที่มีชายหลายคนหมายปอง เธอย่อมมีสิทธิ์จะเลือกคนที่เธอชอบที่สุด” เขากล่าวเสริม
รถไฟความเร็วสูงไม่เพียงจะช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางระหว่างจาการ์ตากับบันดุงเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การขยายเครือข่ายระบบรางเพื่อเชื่อมกับเมืองใหญ่อันดับ 2 อย่าง “สุราบายา” ในจังหวัดชวาตะวันออกด้วย
จีนไม่เรียกร้องเงินทุนค้ำประกันจากรัฐบาลจาการ์ตา ทั้งยังรับปากจะเริ่มโครงการได้ภายในปีนี้ โดยจะแล้วเสร็จและให้บริการได้อย่างช้าที่สุดภายในปี 2019
เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคม จีนได้จัดนิทรรศการโมเดลรถไฟความเร็วสูงที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา โดยเอกอัครราชทูตจีนประจำอินโดนีเซียถึงกับหยอดคำหวานว่า โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจะเป็นเสมือน “ลูก” ที่ปักกิ่งและอิเหนาช่วยกันเลี้ยงดู
“สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการดูแลให้เด็กคนนี้มีสุขภาพดีและเติบโตสมวัย ไม่ใช่บังคับให้เขาต้องโตเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว” เซี่ย เฟิง เอกอัครราชทูตจีนกล่าว หลังมีเสียงครหาว่าจีนพยายามแย่งสัมปทานกับญี่ปุ่นเพราะหวังผลประโยชน์เท่านั้น
สำหรับข้อเสนอของญี่ปุ่นนั้นต้องใช้งบประมาณสูงกว่าจีน มิหนำซ้ำโตเกียวยังระบุว่ารถไฟจะเริ่มให้บริการได้ภายในปี 2021 ซึ่งช้ากว่าที่จีนสัญญาไว้ถึง 2 ปี ทว่าในแง่ดีนั้น ญี่ปุ่นเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 0.1% ในขณะที่จีนตั้งไว้ถึง 2.0%
เครือข่ายรถไฟหัวกระสุน “ชินคันเซ็น” ของญี่ปุ่นมีชื่อเสียงมานานหลายสิบปีว่าสามารถพาผู้คนเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองใหญ่ๆ ได้ในเวลาอันรวดเร็ว และมีประวัติเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเพียง 1 ครั้งเท่านั้น แต่เรื่องนี้จีนก็โต้แย้งว่า ระบบรถไฟความเร็วสูงที่จีนสร้างมีระยะทางยาวถึง 17,000 กิโลเมตร หรือคิดเป็น 55% ของเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่มีอยู่ทั่วโลก โดยจีนสร้างสำเร็จได้ภายในเวลาแค่ 12 ปีนับจากที่เริ่มผลิตรถไฟหัวกระสุนขบวนแรก
อย่างไรก็ดี อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับขบวนรถไฟความเร็วสูงของจีนเมื่อปี 2011 ได้คร่าชีวิตผู้โดยสารไปอย่างน้อย 40 ราย และยังมีคนบาดเจ็บอีก 200 คน ซึ่งนักวิจารณ์ชี้ว่า เป็นผลมาจากการเร่งรีบก่อสร้างโดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย
รัฐบาลอิเหนาเองก็ทราบดีว่า ระบบรางของญี่ปุ่นมีประวัติเป็นที่น่าเชื่อถือมากกว่าจีน ส่วนเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้พิจารณาข้อเสนอของทั้ง 2 ประเทศก็ยอมรับกับเอเอฟพีว่า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวในระยะนี้ทำให้อินโดนีเซียเริ่มไม่มั่นใจว่าปักกิ่งจะสามารถดำเนินโครงการได้ตามเป้าหมายที่ได้ให้สัญญาไว้หรือไม่
ปีที่แล้ว เศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวเพียง 7.4% ซึ่งเป็นสถิติต่ำสุดตั้งแต่ปี 1990 และยังคงชะลอตัวลงมาเหลือเพียง 7.0% ในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีนี้
แหล่งข่าวของเอเอฟพี ระบุว่า อินโดนีเซียเคย “ได้บทเรียน” มาแล้วจากการลงทุนร่วมกับจีนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเม็ดเงินลงทุนที่ไม่มาตามนัด รวมถึงโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ซึ่งเมื่อสร้างเสร็จสมบูรณ์กลับมีศักยภาพด้อยกว่าที่ปักกิ่งระบุเอาไว้ในสัญญา
รัฐบาลอิเหนาได้จ้างบริษัทที่ปรึกษา บอสตัน คอนซัลติง กรุ๊ป เข้ามาช่วยประเมินข้อเสนอของทั้ง 2 ชาติ แต่อำนาจตัดสินใจขั้นสุดท้ายยังคงอยู่ที่ประธานาธิบดี วิโดโด
เจ้าหน้าที่อาวุโสยอมรับว่า การให้สัมปทานรถไฟความเร็วสูงเป็น “เรื่องละเอียดอ่อน” เพราะจีนและญี่ปุ่นต่างเป็นคู่ค้าที่สำคัญต่ออินโดนีเซียด้วยกันทั้งคู่ และบรรดาผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็เตือนให้ประธานาธิบดีต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
มัคมูร์ เกอเลียต ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติอินโดนีเซีย (UI) ระบุว่า รัฐบาลจะต้องใช้ทักษะการทูตอย่างสูง เพื่อให้ทั้งจีนและญี่ปุ่นยอมรับได้
“รัฐบาลจะต้องอธิบายให้ทั้ง 2 ฝ่ายฟังได้ว่า กระบวนการตัดสินใจของเราเป็นไปอย่างโปร่งใส และนี่ก็ไม่ใช่สนามแข่งขันเพียงแห่งเดียว เรายังมีโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่จะเสนออีกมาก”