ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ทุกวันนี้คุณปู่คุณย่าชาวญี่ปุ่นหลายคนเริ่มวางแผนวาระสุดท้ายของชีวิตตนเอง เพื่อจัดงานศพแบบที่ตัวเองปรารถนา และไม่เป็นภาระของลูกหลาน
สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะแห่งญี่ปุ่นได้ทรงสร้างความประหลาดใจให้กับชาวญี่ปุ่น เมื่อสำนักพระราชวังออกมาประกาศเกี่ยวกับแผนการพระราชพิธีพระบรมศพของพระองค์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว โดยพระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระราชพิธีเป็นไปอย่างเรียบง่าย
การเปิดเผยพระราชประสงค์หลังสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระจักรพรรดิ ได้เป็นแบบอย่างให้ผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นจำนวนมากตระหนักว่า สามารถวางแผนวาระสุดท้ายของชีวิตในรูปแบบที่ตนเองปรารถนาได้
สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ ซึ่งทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ยังทรงคล่องแคล่ว และเสด็จประพาสพร้อมด้วยสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ ซึ่งมีพระชนมพรรษา 79 พรรษา อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระจักพรรดิอะกิฮิโตะทรงเข้ารับการผ่าตัดเบี่ยงหลอดพระโลหิตเมื่อสองปีก่อน และก่อนหน้านี้ก็ทรงได้รับการวินิจฉัยว่าประชวรด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
สำนักพระราชวังได้ประกาศว่า พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ จะเป็นการแหวกจารีตการฝังพระบรมศพที่มีมาเป็นเวลา 400 ปีของราชวงศ์ที่มีอายุยาวนานที่สุดในโลก เนื่องจากพระองค์มีพระราชประสงค์ให้ประหยัดทั้งงบประมาณ พื้นที่ และลดภาระหน้าที่ของประชาชน
ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีการเติบโตของจำนวนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก โดยในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชากรหนึ่งในสามของญี่ปุ่นจะอยู่ในวัยชรา และเนื่องจากชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่มีลูก ผู้สูงอายุหลายคนจะไม่มีเครือญาติคอยเป็นธุระจัดการงานศพให้กับพวกเขา
คุณปู่คุณย่าชาวญี่ปุ่นหลายคนเริ่มวางแผนวาระสุดท้ายของชีวิต หลายคนขายบ้าน เพราะไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในบ้านหลังใหญ่อย่างโดดเดี่ยวอีกต่อไป บางคนเลือกไปอยู่บ้านพักหลังเกษียณ ซึ่งมีเพื่อนวัยเดียวกัน และมีบริการรักษาพยาบาลอย่างดี
ผู้หญิงญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจที่สุด เพราะผู้หญิงมักจะมีอายุยืนกว่าสามีของตน และมีแนวโน้มที่พวกเธอต้องจบชีวิตลงอย่างเดียวดาย โดยไม่มีใครช่วยจัดงานศพหรือจัดการธุระของตนให้ หญิงชราหลายคนจึงได้เขียนพินัยกรรมเพื่อจัดการทรัพย์สินของตนเองไว้ล่วงหน้า บางคนเลือกชุดกิโมโนตัวโปรดเอาไว้ใส่ตอนฝังศพตัวเองด้วย
ธุรกิจช่วยจัดการวาระสุดท้ายแห่งชีวิตกำลังได้รับความนิยม คุณตาคุณยายหลายคนเริ่มคิดว่า งานศพควรจะสนองความต้องการของผู้ตาย ซึ่งแตกต่างจากประเพณีดั้งเดิมที่งานศพเคยเป็นพิธีกรรมบอกลาที่จัดโดยครอบครัวของผู้ตาย หนังสือเกี่ยวกับวิธีการเขียน “จดหมายฉบับสุดท้าย” กลายเป็นหนังสือขายดี และการสัมมนาเกี่ยวกับ “กิจกรรมสุดท้าย”ได้รับความสนใจมาก บริษัทหลายแห่งไม่เพียงรับจัดงานศพ แต่ยังช่วย “วางแผนครั้งสุดท้าย” ให้กับบรรดาผู้สูงอายุด้วย ทั้งการช่วยจองหลุมฝังศพ บริการพาทัวร์สุสาน แม้แต่เครือข่ายซุปเปอร์มาร์เกตอย่างอีออน ก็ยังเปิดแผนกบริการด้านงานศพ
ทุกวันนี้ คุณปู่คุณย่าชาวญี่ปุ่นหลายคนคิดและพูดคุยเกี่ยวกับวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างเปิดเผยมากขึ้น วัดหลายแห่งเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาสร้างหลุมศพในอาคารแบบไฮเทค ที่ญาติๆสามารถเข้ามารำลึกถึงผู้เสียชีวิตได้ตลอดเวลาด้วยระบบคีย์การ์ด
เหล่าคุณปู่คุณย่าแดนอาทิตย์อุทัย ยอมรับว่า พวกเขาโชคดีที่มีอายุยืนยาว และยังสามารถวางแผนให้วาระสุดท้ายของชีวิตได้ด้วยตัวเอง เหมือนดวงอาทิตย์ที่ยังคงงดงามแม้ยามอัสดง.