ลูกหม้อ ปชป.ซัด สปช.ศิษย์เก่าดูแคลนว่ามีคุณตา-คุณปู่บงการ เตือนได้หน้าอย่าลืมหลัง หยันสักพักก็กลับมา อำนาจจากคนอื่นไม่ยั่งยืน แค่ภาพลวงตา “อลงกรณ์” สะบัดตูด โทษสื่อจับไปกระเดียด อ้างไม่เคยทับถม ทวงบุญคุณหรือเนรคุณ อดีต ส.ส.ชลบุรีหนุนคว่ำลูกเดียว อ้างร่างรัฐธรรมนูญนี้แค่แก้ผ้าเอาหน้ารอด หน้าตา คปป.ประหลาด ทั้งโลกไม่เคยมี ปูดบิ๊กสองสายล็อบบี้กันด้วย
วันนี้ (2 ก.ย.) นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตามที่นายอลงกรณ์ พลบุตร สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวหาพรรคการเมืองยังไม่ได้เป็นสถาบันที่แท้จริง และบางพรรคที่ดูเป็นสถาบันก็ยังมีคุณตาคุณปู่คอยควบคุมอยู่ตลอดนั้น แม้นายอลงกรณ์ไม่เอ่ยชื่อก็หมายถึงพรรคที่นายอลงกรณ์เคยสังกัดนั่นเอง ทั้งนี้ ประชาธิปัตย์มีหลักการและอุดมการณ์อย่างแจ่มชัดไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจตามใจหัวหน้าพรรค มีประชาธิปไตยภายในพรรค ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ปีหน้าจะฉลองครบ 70 ปี จึงย่อมมีผู้อาวุโสในพรรคเป็นธรรมดา ใครมีความรู้ความสามารถ พรรคก็ให้โอกาสเป็นถึงรัฐมนตรี ซึ่งนายอลงกรณ์ก็เคยเป็นเพชรเม็ดงามของพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน และโชคดีได้เป็นเลขานุการของนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็น รมช.พาณิชย์สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยไม่ต้องจ่าย 300 ล้าน 500 ล้านแบบบางพรรค เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันการเมืองที่ส่งเสริมคนมีความรู้ความสามารถ ลูกคนจนๆ ได้มีโอกาสเป็นรัฐมนตรีได้ และยิ่งความรู้ประสบการณ์ทางการเมืองที่นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีให้นายอลงกรณ์ จนมีคุณภาพกล้าแกร่งเป็นที่ยอมรับของสังคม
“ทำไมมาวันนี้นายอลงกรณ์จึงมาดูแคลนพรรคที่เคยรักว่ายังมีคุณตาคุณปู่คอยควบคุมอยู่ มันหมายความว่าอย่างไร ตัวนายอลงกรณ์เองก็เคยเป็นถึงเลขานุการส่วนตัวท่านผู้อาวุโสในพรรคแล้วมันจะไม่ดีอย่างไร ถ้าในระบบพรรคมีผู้อาวุโสที่มีคุณธรรมคอยควบคุมดูแลชี้แนะเช่นเดียวกับในสังคมไทย ไม่ใช่คุณตาอัลไซเมอร์หรือคุณปู่โกงชาติ ไม่ใช่คุณตาเจ้าสัวหรือคุณปู่นายพลแล้วการเมืองจะพัฒนาไปได้อย่างไร นายอลงกรณ์ไม่ควรได้หน้าลืมหลัง ผมก็ได้แต่หวังว่าสักวันหนึ่งนายอลงกรณ์จะกลับมาเป็นกำลังสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป เพราะอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชนย่อมไม่ยั่งยืน มันเป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น ถ้าจะกลับลำเพราะคิดได้ว่าสิ่งที่พูดไปผิดพลาด จะรีบขอโทษคุณตาคุณปู่ก็ยังไม่สายเพราะทุกท่านล้วนเป็นผู้ใหญ่ทางการเมืองย่อมมีเมตตาธรรมอยู่เสมอ” นายวัชระกล่าว
ด้านนายอลงกรณ์กล่าวตอบโต้ว่า ตนไม่ถือสาคำวิจารณ์ของนายวัชระ เพราะคงอ่านจากข่าวแล้วรีบแถลงตอบโต้โดยไม่ได้สอบถาม เพราะหนังสือพิมพ์บางฉบับจับบางวรรคไปลงข่าวมิได้ลงคำบรรยายของตนที่กล่าวถึงระบบพรรคการเมืองทั้งหมดว่ายังไม่ได้เป็นสถาบันทางการเมืองอย่างแท้จริง เป็นเพียงสถาบันของนักการเมืองหรือเป็นของนายทุนทางการเมืองหรือเป็นของบางตระกูลบางครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพรรคที่เกือบจะเป็นสถาบันทางการเมืองหรือพรรคแบบบริษัทจำกัด หรือพรรคครอบครัวยังมีคุณปู่คุณตาอากู๋อาก๋ง หรือบริษัทควบคุมพรรคอยู่ ซึ่งไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข จะโทษนักการเมืองและพรรคการเมืองไม่ได้เพราะเป็นปัญหาของระบบ
“คนอย่างผมไม่เคยทับถมพรรคที่เคยสังกัด ไม่เคยทวงบุญคุณหรือลืมบุญคุณพรรค ผมทำให้ประโยชน์ให้พรรคมากมาย ช่วงที่เสนอปฏิรูปพรรคประชาธิปัตย์ก็เสนอหลายประเด็น ผมยังหวังที่จะเห็นพรรคใหญ่อย่างประชาธิปัตย์ปฏิรูปพรรคให้เป็นแบบอย่างที่ดี ข้อคิดใดๆ ในคำบรรยายของผมเป็นการวิเคราะห์และเสนอแนะในภาพรวมของระบบพรรคการเมือง ผมไม่เคยเปลี่ยนแปลงจุดยืนและอุดมการณ์เรื่องการผลักดันการปฏิรูปพรรคการเมือง เพราะเป็นหัวใจของการปฏิรูปการเมืองของประเทศของเรา ผมเชื่อคิดและผมลงมือทำไม่ว่าในช่วงเป็น ส.ส. หรือเป็น สปช. ไม่ใช่มาเป็น สปช.แล้วถึงพูดแบบได้หน้าลืมหลัง” นายอลงกรณ์ระบุ
ด้านนายประมวล เอมเปีย อดีต ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนสนับสนุนให้ สปช. คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้ เพราะไม่ได้เขียนเพื่อแก้โจทย์ประเทศในอนาคตอย่างที่ กมธ.ยกร่างฯ อ้าง แต่เป็นการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า 5-8 ปี โดยให้อำนาจสูงสุดกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งไม่มีชาติใดในโลกทำมาก่อน ส่วน สปช.จะโหวตผ่านหรือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ทราบจากเพื่อน สปช. ว่า ผู้มีอำนาจสองสายส่งคนเดินล็อบบี้รวมเสียงแล้วคือ ฝ่ายหนึ่งหนุนให้คว่ำ เพื่อต่ออายุเรือแป๊ะให้ยาวที่สุด เพราะเครือข่ายคุมอำนาจเบ็ดเสร็จแล้วโดยมี สปช.หน้าม้าออกข่าวรับลูกว่าจะคว่ำร่างฯ เป็นระลอกเพื่อสร้างกระแสว่ามาตามนัดทีละกลุ่ม ขณะที่ผู้มีอำนาจอีกฝ่ายต้องการเดินตามโรดแมปที่ประกาศเป็นสัญญาประชาคมต่อสังคมไทยและโลก ก็ระดมเสียง สปช.ในสายสนับสนุนให้ผ่านเพื่อให้มีการทำประชามติจากประชาชน
“ผมขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเห็นแก่ประเทศชาติและผลประโยชน์ส่วนรวมสั่งคว่ำร่างฯ นี้ และควรแก้ไขในจุดที่บกพร่องบางส่วนเท่านั้นให้เป็นสากลและสมบูรณ์ที่สุด แม้จะต้องเสียเวลาอีกครึ่งปี ดีกว่าปล่อยให้กติกาหลักที่มีปัญหาออกมาบังคับใช้ แล้วถูกผู้เล่นบอยคอต ซ้ำยังต้องเสียงบประมาณแผ่นดินทำประชามติโดยสูญเปล่าอีก 3 พันล้านอย่างไร้ประโยชน์ แทนที่เอามาช่วยเกษตรกรยังดีกว่า” นายประมวลกล่าว