xs
xsm
sm
md
lg

“คุกญี่ปุ่น” จากความทรงจำของเซอร์พอล แมคคาร์ทนีย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ถึงแม้ว่าพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง จะไม่ปริปากถึงเรื่องราวชีวิตในเรือนจำของญี่ปุ่น หากแต่เมื่อ 35 ปีก่อน เซอร์พอล แมคคาร์ทนีย์ นักดนตรีชื่อดัง ก็เคยถูกจับกุมทึ่ประเทศญี่ปุ่นในข้อหาพกพากัญชาเข้าประเทศ และได้บอกเล่าประสบการณ์ชีวิตในคุกของญี่ปุ่น

เซอร์พอล แมคคาร์ทนีย์ หนึ่งในสมาชิกวงเดอะบิเทิล ถูกจับกุมในข้อหาพกพากัญชาน้ำหนัก 225 กรัมเข้าประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 16 มกราคม ปี 1980 ซึ่งทำให้เขาต้องใช้ชีวิตในคุกของญี่ปุ่นนานถึง 9 วันจึงได้รับการปล่อยตัว และทำให้พอล แมคคาร์ทนีย์ ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นนานเกือบ 10 ปี ทำให้เขาสูญเสียโอกาสในการเปิดการแสดงคอนเสิร์ต ถึงแม้จะมีแฟนคลับจำนวนมากในแดนอาทิตย์อุทัยก็ตาม

นักดนตรีชื่อดังบอกเล่าประสบการณ์ในเรือนจำของญี่ปุ่นกับนักข่าวชาวญี่ปุ่นที่เดินทางไปสัมภาษณ์ที่ประเทศอังกฤษเมื่อกว่า 30 ปีก่อน โดยยอมรับว่าคาดไม่ถึงว่าต้องถูกจำคุกในแดนอาทิตย์อุทัย และทั้งหมดเป็นความผิดของตัวเอง

“ผมทำผิดเอง ผมเลินเล่อเกินไป เพราะในสังคมตะวันตกมีสิ่งที่ร้ายแรงกว่ากัญชามากมาย ผมจึงไม่คิดว่ามันจะเป็นเรื่องใหญ่ แต่ตามกฎหมายของญี่ปุ่นแล้วมันเป็นความผิดร้ายแรง”

เซอร์พอล แมคคาร์ทนีย์ ยอมรับว่าหลังถูกจับกุมที่สนามบินนาริตะ เขากังวลมากเพราะโทษตามกฎหมายของญี่ปุ่น คือ จำคุกและใช้แรงงาน 7 ปีทำให้เขาแทบจะนอนไม่หลับใน 3คืนแรก

เซอร์พอลยังเล่าว่า เขาต้องตื่นนอนตอน 6 โมงเช้า และทำความสะอาดห้องขังของตัวเองทุกเช้า และพับเก็บฟูกที่นอนให้เรียบร้อย ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ล้างหน้าแปรงฟันได้

“ผมอยู่มาถึงวันที่ 3 ถึงเพิ่งรู้ว่าสามารถเปลี่ยนเสื้อผ้าและล้างหน้าแปรงฟันได้ หลังจากนั้นผมจะเป็นคนแรกที่ตื่นนอนไปล้างหน้าแปรงฟัน และเตรียมออกกำลังกายตอนเช้า”

นักดนตรีชื่อดังเล่าถึงชีวิตในเรือนจำว่า ช่วงเวลาที่เขารู้สึกผ่อนคลายมากที่สุด คือ เวลาพักสูบบุหรึ่ ซึ่งเขามีโอกาสพูดคุยกับนักโทษคนอื่น โดยเขายอมรับว่าถึงแม้จะแทบกินไม่ได้ นอนไม่หลับ แต่ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างดีจากเจ้าหน้าที่เรือนจำและบรรดาเพื่อนร่วมเรือนจำ

“ผมพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้ จึงได้แต่ใช้คำศัพท์ที่พอจะรู้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนนักโทษแก้เหงา เช่น ผมตะโกนคำว่า โตโยต้า พวกเขาก็ตะโกนคำว่า จอห์นนีย์ วอล์กเกอร์ กลับมา”

เซอร์พอล แมคคาร์ทนีย์ เล่าว่าเพื่อนร่วมเรือนจำที่เขาจำได้ดีมี 2 คน คนหนึ่งเป็นฆาตกรฆ่าคนตายที่เป็นสมาชิกแก็งค์ยากูซ่าที่มีรอยสักขนาดใหญ่บนแผ่นหลัง ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นนักศึกษาที่ถูกจับกุมเพราะฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งนักศึกษาคนนี้พูดภาษาอังกฤษได้

“ผมเล่นเกมกับพวกเขา โดยเป็นเกมที่สมาชิกวงเดอะบีเทิลเคยเล่นกันในสตูดิโอระหว่างบันทึกเสียง ผมได้ขอกีตาร์กับผู้คุมเรือนจำเพื่อมาเล่นแก้เหงา แต่ถูกปฏิเสธ โดยผู้ต้องหาทำได้แค่อ่านหนังสือ”

หลังใช้ชีวิตในเรือนจำญี่ปุ่นนาน 9 วัน พอล แมคคาร์ทนีย์ ก็ได้รับการปล่อยตัวและเนรเทศออกจากประเทศญี่ปุ่น โดยเขายอมรับว่า รู้สึกผิดอย่างมาก โดยเฉพาะการที่ทำให้วงเดอะบีเทิลต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการยกเลิกคอนเสิร์ตในญี่ปุ่นเป็นเงินถึง 1ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นเงินมหาศาลตามค่าเงินเมื่อ 35 ปีก่อน

“ผมไม่อยากขอความเห็นใจ ผมไม่อาจบอกว่ากัญชาเป็นสิ่งดี เพราะทุกคนต้องยอมรับผลจากการตัดสินใจของตัวเอง ผมได้รับจดหมายและโทรเลขให้กำลังใจจากแฟนเพลงชาวญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ผมซาบซึ้งมาก”

ประสบการณ์อันขมขื่นในเรือนจำแดนอาทิตย์อุทัย ทำให้พอล แมคคาร์ทนีย์ ตัดสินใจเลิกใช้กัญชา โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของลูกและหลาน”.
กำลังโหลดความคิดเห็น