xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจระบบความปลอดภัยชินคันเซน บทเรียนก่อนไทยมีรถไฟความเร็วสูง (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุการณ์ชายชาวญี่ปุ่นเผาตัวตายบนรถไฟชินคันเซน ถือเป็นเหตุร้ายแรงที่สุดของรถไฟญี่ปุ่น ซึ่งไม่เคยประสบอุบัติเหตุใดๆเลยตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี แต่ผู้ออกแบบรถไฟยังมั่นใจในระบบความปลอดภัยของญี่ปุ่น

บริษัทโทไกโดชินคันเซน ยอมรับว่าเหตุไฟไหม้ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง และทำให้บริษัทจะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยบนรถไฟด่วนชินคันเซน เพื่อเตรียมรับการที่กรุงโตเกียวจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในอีก 5 ปีข้างหน้า

บริษัทผู้รับผิดชอบการเดินรถไฟชินคันเซน ระบุว่าเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเมื่อเวลา 11.30 น.ของวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยทันทีที่เกิดเหตุอุปกรณ์ตรวจควันไฟได้ส่งสัญญาณฉุกเฉิน และแจ้งเหตุไปยังศูนย์ควบคุมการเดินรถ

หลังจากหยุดรถไฟฉุกเฉินแล้ว พนักงานขับรถได้เร่งไปตรวจสอบเหตุการณ์ และพบว่าที่ตู้โดยสารที่ 1 มีชายคนหนึ่งที่ไฟลุกท่วมตัว พร้อมควันไฟคละคลุ้งไปทั้งตู้โดยสาร จึงรีบใช้เครื่องดับเพลิงฉีดเข้าไปที่ร่างของชายคนดังกล่าวจนตัวเองได้รับบาดเจ็บถูกไฟลวก แต่ก็ไม่อาจจะช่วยชีวิตของชายผู้คิดสั้นได้

ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตู้รถไฟชินคันเซนไม่ได้เกิดไฟลุกไหม้แต่อย่างใด โดยผู้เสียชีวิต 2 คนนอกจากชายที่จุดไฟเผาตัวเองแล้ว ยังมีผู้โดยสารหญิงอีกคนหนึ่งเสียชีวิตจากการสำลักควันไฟ และมีผู้บาดเจ็บ 26 ราย

ในปี 1972 เคยเกิดเหตุไฟไหม้ในตู้โดยสารของรถไฟรุ่นเก่าของญี่ปุ่นทำให้มีผู้เสียชีวิต 30 คน นับตั้งแต่นั้นบริษัทรถไฟของญี่ปุ่นก็บังคับใช้มาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มงวด โดยรถไฟชินคันเซนจะถูกออกแบบให้สามารถป้องกันการเกิดไฟไหม้ วัสดุที่ใช้ทุกอย่างตั้งแต่เก้าอี้จนถึงแผ่นปูพื้นจะต้องเป็นวัสดุที่ไม่ติดไฟ ส่วนถังดับเพลิงจะติดตั้งไว้ในทุกตู้โดยสาร และที่ห้องของพนักงานขับรถยังมีถังดับเพลิงขนาดใหญ่อีก 2 ถัง

นอกจากนี้ รถไฟชินคันเซนยังถูกออกแบบให้ประตูระหว่างตู้โดยสารทุกตู้ต้องปิดสนิทตลอดเวลา ซึ่งประตูนี้สามารถสกัดกั้นไฟไม่ให้ลุกลามได้อีกทางหนึ่ง

นอกจากมาตรการป้องกันไฟไหม้แล้ว รถไฟชินคันเซนยังมีการป้องกันเหตุร้าย โดยติดตั้งกล้องวงจรปิด 60 ตัวไว้ในทุกตู้โดยสาร 16 ตู้ และทุกตู้ยังมีปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉิน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินลาดตระเวนด้วย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟของญี่ปุ่น ยอมรับว่าจำนวนเจ้าหน้าที่มีจำกัด ทำให้การลาดตระเวนอย่างเข้มงวดนั้นไม่อาจทำได้ แต่หลังจากเกิดเหตุวินาศกรรมก่อการร้ายในต่างประเทศหลายครั้ง บริษัทรถไฟของญี่ปุ่นก็ได้เพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยอยู่แล้ว

หลังเกิดเหตุการณ์ล่าสุด ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากได้ตั้งคำถามว่า “สามารถสแกนสัมภาระของผู้โดยสารทุกคนได้หรือไม่?”  โดยกระทรวงคมนาคมและบริษัทรถไฟของญี่ปุ่นต่างกำลังพิจารณาเรื่องนี้ แต่อุปสรรคสำคัญ คือ รถไฟของญี่ปุ่นมีเครือข่ายกว้างขวาง และมีจำนวนเที่ยวรถมหาศาล มีรถออกแทบทุก 2-3 นาที ดังนั้นหากใช้ระบบตรวจสัมภาระของผู้โดยสาร ไม่เพียงแต่ต้องใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก แต่ยังอาจทำให้ระบบเดินรถไฟต้องล่าช้าออกไปอย่างมาก

ทั้งนี้ รถไฟในยุโรปจะการสแกนสัมภาระของผู้โดยสารในเที่ยวรถที่ข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ และในประเทศจีนก็มีการสแกนสัมภาระของผู้โดยสารในสถานีรถไฟตามเมืองสำคัญ.
ภาพเหตุการณ์ภายในตู้รถไฟที่เกิดเหตุ


กำลังโหลดความคิดเห็น