xs
xsm
sm
md
lg

นักวิเคราะห์ประเมิน ญี่ปุ่น-จีน เบ่งเค้กสัมปทานรถไฟของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รถไฟชินคันเซนของญี่ปุ่น
ผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นและจีนวิเคราะห์ว่า รัฐบาลไทยจะแบ่งสัมปทานโครงการรถไฟให้กับทั้งญี่ปุ่นและจีน เพื่อรักษาดุลอำนาจและสัมพันธภาพที่ดีระหว่างมหาอำนาจทั้งสองประเทศ

ข่าวการลงนามลงนามความร่วมมือเพื่อศึกษาการใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น ระหว่างพลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของไทย และนายอะกิฮิโระ โอตะ รัฐมนตรีกระทรวงที่ดิน สาธารณูปโภค คมนาคม และการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ที่กรุงโตเกียวเมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ถูกตีความโดยนักวิเคราะห์จากสำนักข่าวของญี่ปุ่นและจีนว่า นี่คือหลักหมุดสำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะเป็นผู้ได้สิทธิ์ในโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง700 กิโลเมตร

สำนักข่าวเกียวโตเปิดเผยว่า ฝ่ายญี่ปุ่นที่จะทำการสำรวจโครงการนี้ประกอบด้วย บริษัทเจอาร์ อีสต์, บริษัทมิตซุย, บริษัทฮิตาชิ และบริษัทมิซูบิชิ เฮฟวี่ อินดีสตรีย์ โดยฝ่ายญี่ปุ่นจะทำการสำรวจเส้นทาง, ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟชินคันเซน และฝึกอบรมบุคคลากรให้กับฝ่ายไทย นอกจากนี้ฝ่ายญี่ปุ่นยังจะปรับปรุงและซ่อมแซมรางรถไฟเส้นทางปัจจุบันของประเทศไทย เพื่อยกระดับการขนส่งสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโครงการนี้มีมูลค่าสูงเป็นประวัติการณ์มากกว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ว่ารัฐบาลไทยจะจัดสรรเงินลงทุนอย่างไร และฝ่ายญี่ปุ่นจะสนับสนุนได้แค่ไหน? เนื่องจากหากพิจารณาถึงความคุ้มทุนแล้วเป็นเรื่องยากลำบากอย่างมาก ทำให้สื่อมวลชนบางส่วนประเมินว่า รัฐบาลญี่ปุ่นอาจเสนอขอความร่วมกับมือเพิ่มเติมในโครงการอื่นควบคู่ด้วย โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมทวาย ประเทศพม่า
โรงงานผลิตรถไฟความเร็วสูงของจีน
นับตั้งแต่ รัฐบาลไทยริเริ่มโครงการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ญี่ปุ่นและจีนเป็นสองประเทศที่ถูกประเมินว่ามีโอกาสได้รับสัมปทานในโครงการนี้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจใช้เทคโนโลยีชินคันเซนในเส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-เชียงใหม่นั้น ไม่ได้หมายความว่าฝ่ายจีนก็พ่ายแพ้ เนื่องจากเส้นทางที่รัฐบาลจีนต้องการ คือ เส้นทางสายอีสานเชื่อมโยงจากลาว ผ่านกัมพูชา ประเทศไทย และลงใต้ไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เส้นทางรถไฟ 3000 กิโลเมตรเชื่อมอาเซียนของฝ่ายจีน โดยรัฐบาลจีนได้ลงนามความร่วมมือกับรัฐบาลไทยเพื่อสำรวจเส้นทางรถไฟ 3เส้นทาง คือ หนองคาย-มาบตาพุด-แก่งคอย เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

นักวิเคราะห์จากฝั่งจีน ประเมินว่า เส้นทางรถไฟในไทยที่รัฐบาลจีนทำการศึกษาจะไม่ใช่รถไฟความเร็วสูง แต่เป็นการปรับเปลี่ยนขนาดรางรถไฟให้มีขนาด 1.435 เมตร ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรางรถไฟในประเทศจีนและลาวที่รัฐบาลจีนกำลังดำเนินการสำรวจได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังไม่ละความพยายามในการเจรจากับรัฐบาล คสช. เพื่อให้พิจารณาใช้เทคโนโลยีรถไฟมาตรฐานเดียวกันทุกเส้นทาง โดยระบุว่ารถไฟความเร็วสูงของจีนมีมาตรฐานเข่นเดียวกัน แต่มีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก นอกจากนี้รัฐบาลจีนยังสามารถให้การสนับสนุนทางการเงินกับประเทศไทยได้ด้วย

สื่อมวลชนของทั้งญี่ปุ่นและจีนประเมินตรงกันว่า ถึงแม้รัฐบาลไทยจะพยายามรักษาผลประโยชน์ของทั้งญี่ปุ่นและจีนแบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” หากแต่ศึกชิงอภิมหาโครงการของประเทศไทยยังยืดเยื้อยาวนาน เนื่องจากการเลือกใช้เทคโนโลยีของประเทศใดจะเป็นตัวกำหนดเรื่องการเดินรถ, ระบบอาณัติสัญญาณ รวมทั้งการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่ผูกขาดยาวนานยิ่งกว่าการก่อสร้างเส้นทาง.
กำลังโหลดความคิดเห็น