ผ่านฉลุยวาระแรก ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 วงเงินกว่า 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงขึ้นจากปีงบประมาณที่แล้ว 9.3% โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณา เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 ลงมติด้วยคะแนน เห็นด้วย 311 คน ไม่เห็นด้วย 177 คน งดออกเสียง 4 คน โดยมีผู้แสดงตนทั้งหมด 492 คน และเข้าสู่ขั้นตอนคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 โดยใช้เวลาในการแปรญัตติ 30 วัน และพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 วันที่ 3-4 เม.ย.2567 โดยคาดว่าจะนำ ร่าง พ.ร.บ.งบปี 2567 ทูลเกล้าฯ วันที่ 17 เม.ย.2567
.
โดยร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ได้จัดทำขึ้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2566-2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งกระทรวงคมนาคม ติดอันดับท้อป 5 กระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงสุด ทุกปี
.
กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณฯ ปี 2567 รวมทั้งสิ้น 229,433.8539 ล้านบาท
มีส่วนราชการ 9 หน่วยงาน ได้รับงบประมาณวงเงินรวม 183,635.0399 ล้านบาท ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) จำนวน 121,827.3559 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จำนวน 47,926.3593 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 4,624.1804 ล้านบาท กรมเจ้าท่า (จท.) จำนวน 4,364.6429 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จำนวน 3,509.4083 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม จำนวน 635.0409 ล้านบาท สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) จำนวน 381.7964 ล้านบาท กรมการขนส่งทางราง (ขร.) จำนวน 115.3823 ล้านบาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จำนวน 250.8735 ล้านบาท
.
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 5 หน่วยงาน ได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้น 45,798.8140 ล้านบาท ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 21,092.6810 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 20,045.0349 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 3,249.6410 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จำนวน 1,251.1939 ล้านบาท และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) จำนวน 160.2632 ล้านบาท
.
โดยจำแนกตามโหมดการเดินทาง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการขนส่งทางบก ร้อยละ 77.48 ด้านการขนส่งทางราง ร้อยละ 18.15 ด้านการขนส่งทางอากาศ ร้อยละ 2.09 ด้านการขนส่งทางน้ำ ร้อยละ 1.90 และด้านนโยบาย ร้อยละ 0.39