“สุริยะ”เรียกหารือเตรียมพร้อมชี้แจงงบประมาณ 2567 ต่อรัฐสภา ม.ค.67 เผย”คมนาคม”งบกว่า 2.29 แสนล้านบาท กรมทางหลวง มากสุด 1.21 แสนล้านบาท ส่วน รฟท. ได้ 2.1 หมื่นล้านบาท ย้ำจัดลำดับความสำคัญโครงการ เปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชน พัฒนาระบมขนส่งของประเทศมีประสิทธิภาพสูงสุด
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมเตรียมความพร้อมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม สำหรับการชี้แจงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อรัฐสภา โดยมีผู้บริหารจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม 9 ส่วนราชการ 5 รัฐวิสาหกิจ เข้าร่วมประชุมฯ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ตามที่สำนักงบประมาณได้กำหนดให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยให้เสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาและนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเสนอร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 1 ได้ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2567 นั้น กระทรวงฯ ได้ประชุมเตรียมความพร้อมสำหรับการชี้แจงและเตรียมข้อมูลในโครงการสำคัญต่าง ๆ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล และเพื่อความอุดมสุขของประชาชน
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคมได้รับการจัดสรรงบประมาณฯ ปี 2567 รวมทั้งสิ้น 229,433.8539 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนราชการ 9 หน่วยงาน 183,635.0399 ล้านบาท ได้แก่ กรมทางหลวง (ทล.) 121,827.3559 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท (ทช.) 47,926.3593 ล้านบาท กรมท่าอากาศยาน (ทย.) 4,624.1804 ล้านบาท กรมเจ้าท่า (จท.) 4,364.6429 ล้านบาท กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) 3,509.4083 ล้านบาท สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม 635.0409 ล้านบาท สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) 381.7964 ล้านบาท กรมการขนส่งทางราง (ขร.) 115.3823 ล้านบาท สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร จำนวน 250.8735 ล้านบาท
สำหรับรัฐวิสาหกิจ 5 หน่วยงาน ได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้น 45,798.8140 ล้านบาท ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 21,092.6810 ล้านบาท การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) 20,045.0349 ล้านบาท องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 3,249.6410 ล้านบาท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) 1,251.1939 ล้านบาท และสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) 160.2632 ล้านบาท
โดยจำแนกตามโหมดการเดินทาง 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการขนส่งทางบก ร้อยละ 77.48 ด้านการขนส่งทางราง ร้อยละ 18.15 ด้านการขนส่งทางอากาศ ร้อยละ 2.09 ด้านการขนส่งทางน้ำ ร้อยละ 1.90 และด้านนโยบาย ร้อยละ 0.39
นายสุริยะกล่าวว่า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานจัดลำดับความสำคัญของโครงการ พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้ตรงกับตามความต้องการของประชาชน รวมทั้งดำเนินโครงการตามขั้นตอนและถูกต้องตามหลักของกฎหมาย และมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การนำงบประมาณไปพัฒนางานด้านคมนาคมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด