กรมวิทย์เผยผลตรวจแป้งฝุ่น 3 ปี ไม่มีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ชี้แป้งฝุ่นมี "ทัลค์" เป็นส่วนประกอบ ต้องระมัระวังตอนโรยแป้ง ระบุสูดเข้าลมหายใจเป็นเวลานานเกิดการสะสมก้อนในปอด ในเด็กทารกทำปอดอักเสบถึงตายได้ ย้ำผผู้หญิงโรยแป้งทาจุดซ่อนเร่นเสี่ยงมะเร็งรังไข่
วันนี้ (28 ต.ค.) นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวอันตรายจากการทาแป้งฝุ่นในสังคมออนไลน์ จนสร้างความกังวลให้กับประชาชนทั่วไป ว่า แป้งฝุ่นโรยตัวและแป้งฝุ่นผัดหน้า มีส่วนประกอบหลักคือ ทัลค์ (Talc) หรือทัลคัม (Talcum) ชื่อทางเคมีคือไฮดรัส แมกนีเซียมซิลิเกต ซึ่งเป็นสารอนินทรีย์ มีอยู่ในธรรมชาติ ลักษณะเป็นผงสีขาวหรือสีครีม มีคุณสมบัติทนความร้อน ทนกรด ต้านทานต่อการนำไฟฟ้า ช่วยการผสมผสานและดูดซึมซับความชื้น ทำให้พื้นผิวแห้งเนียนลื่น ไม่ดูดติดกัน ดังนั้น จึงนิยมนำไปใช้ประโยชน์ในทุกวงการ เช่น สี สารหล่อลื่น เซรามิกกันไฟ แก้ว ผลิตภัณฑ์ขัดล้างทำความสะอาด กระดาษ ยาง ยา และเครื่องสำอาง
นพ.อภิชัย กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ทัลค์ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อสัตว์ทดลอง ไม่มีฤทธิ์ก่อกลายพันธุ์ และไม่เป็นสารก่อมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางนั้น ทัลค์จะต้องมีความบริสุทธิ์สูง ผ่านการบดและคัดแยก มีขนาดตั้งแต่ 0.3 - 75 ไมโครเมตร ไม่มีอนุภาคแข็ง ไม่มีสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นได้ และต้องไม่พบแร่ใยหิน สำหรับการผลิตทัลค์จากแหล่งหินตามธรรมชาติอาจมีการปนเปื้อนของแร่ใยหิน ดังนั้น สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้เฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์แป้งที่มีส่วนผสมของทัลค์ในปีงบประมาณ 2556 - 2558 จำนวน 73 ตัวอย่าง พบว่า ทุกตัวอย่างไม่พบการปนเปื้อนของแร่ใยหิน
"ทัลค์ เป็นสารอนินทรีย์ จึงไม่ถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ในธรรมชาติ ดังนั้น การทาแป้งโดยเฉพาะตอนโรยแป้ง ผงแป้งจะลอยในอากาศ หากสูดดมเข้าไปทางลมหายใจเป็นเวลานานจะเกิดการสะสมเป็นก้อนในปอด ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ ส่วนในเด็กทารกอาจทำให้ปอดอักเสบและตายได้ ในสตรีหากใช้โรยบริเวณจุดซ่อนเร้นเป็นเวลานานๆ อาจทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการโรยแป้งไปที่ตัวเด็กโดยตรง และสตรีไม่ควรโรยแป้งบริเวณจุดซ่อนเร้น” อธิบดีกรมวิทย์ กล่าว