xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : ท้องผูกท้องเสีย...ไม่หาย เสี่ยงตาย...มะเร็งลำไส้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“มะเร็งลำไส้” เป็นมะเร็งของผู้ใหญ่ พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งทั้งหมด ทั้งในเพศชายและเพศหญิงทั่วโลก พบมากในประเทศแถบอเมริกาเหนือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ยุโรปเหนือ และยุโรปตะวันตก สำหรับในประเทศไทย พบว่า เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งทั้งหมดทั้งในเพศชายและเพศหญิง และมากกว่าร้อยละ 90 มักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยจะพบเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย

ปัจจัยเสี่ยง
1. การบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงและมีกากหรือไฟเบอร์น้อย
2. ประวัติการมีเนื้องอกหรือภาวะที่มีการอักเสบของเนื้อเยื่อลำไส้ใหญ่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีโอกาสเพิ่มการเกิดมะเร็งลำไส้มากขึ้น
3. ประวัติการมีมะเร็งลำไส้ในครอบครัว หรือมะเร็งอื่นๆ เช่น มะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก และมะเร็งเต้านม พบว่า มีโอกาสเกิดมะเร็งลำไส้มากกว่าคนทั่วไป

อาการหลักของมะเร็งลำไส้
- ถ่ายอุจจาระมีมูกปน หรือมีเลือดออกทางทวารหนัก
- ปวดท้องบริเวณท้องน้อย (ปวดบิดๆ)
- ขนาดของอุจจาระที่ลีบลง (เนื่องจากก้อนเนื้อมะเร็งมีขนาดใหญ่ จนไปอุดทางเดินของลำไส้ใหญ่)
- มีการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติเกิดขึ้น เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ที่ไม่หายหลังได้รับการรักษา หรือมีท้องผูกสลับท้องเสีย
- อาการอื่นๆที่อาจจะพบได้คือ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร
- สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนต้น อาจตรวจพบว่ามีอาการซีด ซึ่งเกิดจากการเสียเลือดโดยที่ไม่มีเลือดออกในอุจจาระให้เห็นได้ด้วยตาเปล่า
- อาจคลำพบก้อนที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา
- บางรายอาจมีอาการของลำไส้อุดตัน ซึ่งจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด อาเจียน และถ่ายอุจจาระ หรือผายลมลดลง

ระยะของโรค
มะเร็งลำไส้ แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดเล็ก ยังอยู่เฉพาะในตัวลำไส้ใหญ่
ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งลุกลามออกมาทะลุเนื้อเยื่อของลำไส้ใหญ่ แต่ยังไม่มีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
ระยะที่ 3 ก้อนมะเร็งอาจลุกลามออกมาทะลุเนื้อเยื่อของลำไส้หรือไม่ก็ได้ แต่มีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง
ระยะที่ 4 ก้อนมะเร็งลุกลามเข้าอวัยวะใกล้เคียง หรือมีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองไกลๆ หรือกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆที่อยู่ไกลออกไป ได้แก่ ปอด ตับ เป็นต้น

การรักษา
การรักษาหลักในกรณีที่โรคยังไม่แพร่กระจาย คือ การผ่าตัด

การผ่าตัดเป็นการตัดเอาก้อนมะเร็งออก และลำไส้บางส่วนร่วมกับต่อมน้ำเหลืองในบริเวณนั้นออก

การฉายรังสี และ/หรือยาเคมีบำบัด นิยมใช้เป็นการรักษาเสริม เพื่อเพิ่มผลการรักษาให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันมีหลายลักษณะ ซึ่งอาจจะให้ก่อนหรือหลังการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ โดยคำนึงจากระยะของโรคและผู้ป่วยเป็นรายๆไป สำหรับผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ระยะที่ 4 ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ

จุดมุ่งหมายในการรักษาจะเป็นการประคับประคองอาการ มักจะเริ่มด้วยการให้ยาเคมีบำบัด สำหรับการฉายรังสีอาจจะช่วยได้ในกรณีการรักษาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บเวลาถ่าย ปวดทวารหนักจากตัวก้อน หรืออาการปวดของการกระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่นๆ

แนวทางการป้องกัน
- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผักและผลไม้ รวมไปถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันต่ำจะช่วยลดการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- รับการตรวจคัดกรอง สามารถป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
- ในผู้ที่ไม่มีอาการและไม่มีปัจจัยเสี่ยงควรเริ่มต้นที่อายุ 50 ปี
- สำหรับผู้ที่มีประวัติมะเร็งลำไส้ใหญ่ในครอบครัว ควรเริ่มตรวจคัดกรองที่อายุ 40 ปี หรือที่อายุ 50 ปี ก่อนอายุของคนในครอบครัวที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
-ส่วนผู้ที่มีประวัติเป็นลำไส้อักเสบชนิด Crohn’s disease และ Ulcerative colitis หรือผู้ป่วยที่มีติ่งเนื้องอกจำนวนมาก (Polyposis Coli) การตรวจอาจเริ่มในอายุที่เร็วขึ้น โดยสามารถปรึกษาแพทย์ได้

ข้อมูลส่วนหนึ่งจากสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา
ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (chulacancer)


คนที่มีความเสี่ยงสูงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้ในทุกอายุ แต่อัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะสูงขึ้นในผู้สูงอายุ โดยจะพบได้มากหลังอายุ 50 ปี แต่โอกาสเกิดโรคจะมีการเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับหลังอายุ 40 ปี เป็นต้นไป

- บุคคลที่มีญาติใกล้ชิดเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือผู้ที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังของลำไส้บางอย่าง จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงกว่าคนทั่วไป (Crohn’s disease และ Ulcerative colitis)
- ผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน
- มีอาการท้องผูกเป็นประจำ
- ทานเนื้อสัตว์จำนวนมาก
- ทานผักน้อย
- ไม่ออกกำลังกาย
- สูบบุหรี่ หรือดื่มสุรา

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 178 ตุลาคม 2558 โดย กองบรรณาธิการ)

กำลังโหลดความคิดเห็น