xs
xsm
sm
md
lg

รู้แล้วพึงระวัง ปัญหาสุขภาพที่คุณผู้หญิงไม่ควรละเลย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ภาวะติดเชื้อ HPV และมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกมีสาเหตุหลักมาจากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Papilloma Virus หรือ HPV เป็นไวรัสที่ติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ ไวรัสชนิดนี้จะเข้าไปทำลายยีน p53 ซึ่งเป็นยีนที่ช่วยไม่ให้เซลล์ที่ดีกลายเป็นเซลล์มะเร็ง ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งในร่างกายได้ เชื้อไวรัส HPV มีอยู่หลากหลายสายพันธุ์ และสายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากที่สุดนั่นก็คือสายพันธุ์ 16 และ 18

โรคมะเร็งปากมดลูกยิ่งทำการรักษาเร็วก็ยิ่งจะทำให้อัตราการรอดชีวิตมีสูงขึ้น เพราะมะเร็งในระยะแรกนั้นจะถูกจำกัดอยู่แค่เพียงภายในมดลูกเท่านั้น มีผู้ป่วยถึง 80% ที่รีบรักษาตั้งแต่ในระยะแรกที่สามารถมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้มากกว่า 5 ปี แต่ถ้าหากมะเร็งเกิดการลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ อย่างเช่น ปอด แล้วละก็ อัตราของผู้หญิงที่หายจากโรคและสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้มากกว่า 5 ปีก็จะลดเหลือเพียงแค่ 5% เท่านั้น

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกผิดที่ คือภาวะที่เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตยังบริเวณอื่น ๆ ภายในร่างกาย โดยผู้ที่เป็นอาการนี้อาจจะมีการเจริญเติบโตของเยื่อบุโพรงมดลูกที่บริเวณท่อนำไข่ รังไข่ หลังมดลูก ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ กระดูกเชิงกราน แผลในช่องท้อง หรือแม้แต่ในปอดก็ยังมี ซึ่งอาการนี้จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน, ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้, ผู้ที่มีรอบเดือนสั้นกว่า 28 วัน หรือมีประจำเดือนนานกว่า 1 สัปดาห์ ก็มีความเสี่ยงที่จะมีอาการนี้ได้เหมือนกัน

โดยอาการหลัก ๆ ที่มักพบได้ในผู้ที่เป็นโรคนี้ก็คือ อาการปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน นอกจากนี้ก็ยังมีอาการอื่น ๆ อีก อาทิเช่น ท้องอืด, เมื่อยล้า, รู้สึกเจ็บเวลามีประจำเดือน, รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์, เจ็บบริเวณลำไส้, ท้องผูก, รู้สึกเจ็บเวลาปัสสาวะหรือมีเลือดปนออกมากับปัสสาวะ และอยู่ในภาวะมีบุตรยาก ซึ่งหากเกิดอาการเหล่านี้ ควรจะไปพบและปรึกษาแพทย์ในทันทีค่ะ

โรคกระดูกพรุน

เมื่อกระดูกสูญเสียแร่ธาตุที่สำคัญอย่างแคลเซียมไป ก็จะทำให้กระดูกอ่อนแอลงและเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนได้ ซึ่งโรคนี้จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีบทบาทสำคัญในการใช้แคลเซียมสำหรับสร้างเสริมความแข็งแรงให้กับกระดูก โดยเฉพาะเมื่อผู้หญิงเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน ร่างกายก็จะผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงด้วย

มีการพบว่า 20-30% ของการสูญเสียมวลกระดูกจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงภายใน 5 ปีแรกหลังจากหมดประจำเดือน ถ้าหากไม่รักษาก็จะทำให้กระดูกบางลงและเป็นสาเหตุของการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ แต่ใช่ว่าโรคนี้จะเกิดกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเท่านั้น ผู้หญิงที่อยู่ในวัยมีประจำเดือนที่ผ่านการผ่าตัดมดลูก หรือนักกีฬาที่มีปริมาณไขมันในร่างกายต่ำที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายไม่เพียงพอก็สามารถเป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน

มะเร็งรังไข่

หากไข่ที่ถูกผลิตขึ้นในรังไข่เกิดแตก ร่างกายจะต้องเข้าไปซ่อมแซมในส่วนที่เสียหาย และในการซ่อมแซมนั้น เซลล์ที่อยู่ภายในรังไข่จะเกิดการแบ่งตัว หากการแบ่งตัวของเซลล์นั้นมากเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดเซลล์มะเร็ง และกลายเป็นเนื้องอกในที่สุด

มะเร็งในรังไข่ เป็นโรคที่ตรวจพบได้ยากเพราะไม่มีอาการเริ่มแรก หรืออาการใด ๆ บ่งบอก แถมอาการยังคลุมเครือและคล้ายคลึงกับโรคอื่น ๆ เสียมากกว่า โดยมีถึง 70% ของผู้ที่ป่วยถูกตรวจพบอาการเมื่่อมะเร็งได้กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ แล้ว ซึ่งมีอัตราการรอดเพียงแค่ 20 - 25% เท่านั้น แต่ผู้ที่ตรวจพบอาการก่อนที่มะเร็งจะแพร่กระจายนั้นมีอัตราการรอดถึง 85-90% ในการรักษา แต่ก็โชคไม่ดีนักที่การตรวจพบของโรคนี้ไม่สามารถพบได้จากการคัดกรองเบื้องต้น จำเป็นจะต้องตรวจจากเนื้องอกที่เกิดขึ้นและต้องนำชิ้นเนื้อไปตรวจจึงจะทราบอาการที่แท้จริง

โดยส่วนใหญ่แล้ว มะเร็งรังไข่จะเกิดขึ้นกับผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ยิ่งถ้าในครอบครัวมีผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคนี้มาก่อน หรือในร่างกายคุณมียีน BRCA1 ก็จะทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านมมากขึ้นถึง 45% ต่างจากผู้หญิงที่ไม่มียีนดังกล่าว ที่จะมีความเสี่ยงแค่เพียง 2% เท่านั้น

การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายของระบบทางเดินปัสสาวะ อย่างเช่น ท่อปัสสาวะ และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาจจะเรียกอาการเหล่านี้ว่า ท่อปัสสาวะอักเสบ หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่ถ้าหากการติดเชื้อเกิดขึ้นที่ส่วนบนของระบบก็จะทำให้มีผลต่อท่อไตที่จะนำไปสู่ไต กลายเป็นกรวยไตอักเสบในที่สุด

โดย 80-90% ของการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะเกิดจากเชื้อ E.coli ที่อยู่ในลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และเมื่อเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคดังกล่าวไปยังท่อปัสสาวะแล้วก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ และโรคนี้มักจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าเพราะท่อปัสสาวะของผู้หญิงมีขนาดสั้นกว่าผู้ชาย ทำให้เชื้อแบคทีเรียเดินทางเข้าสู่ระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ผู้หญิงที่ในวัยหลังหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้มากขึ้นเนื่องจากขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น