xs
xsm
sm
md
lg

เปิดไฟนอนทุกคืน รู้ยังจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเราเปิดไฟนอนตอนกลางคืนเป็นประจำ ทั้งที่เราไม่ควรสัมผัสแสงไฟพวกนี้มากเกินไปในช่วงเวลาที่ควรจะหลับ !

ทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน พอกระโดดลงบนเตียงนุ่ม ๆ เข้าหน่อยก็เผลอหลับผล็อยทั้งที่ยังไม่ได้ปิดไฟ มาตื่นอีกทีก็ตอนเช้าถึงรู้ตัวว่าลืมปิดไฟ แต่บางคนก็ตั้งใจเปิดไฟทิ้งไว้ เพราะกลัวความมืด หรือกลัวอะไรก็แล้วแต่ จนกลายเป็นความเคยชินไปซะแล้ว เราอยากบอกค่ะว่าการเปิดไฟนอนไม่ใช่แค่เปลืองไฟเท่านั้น แต่ผลเสียที่เกิดกับสุขภาพก็มีไม่น้อยเหมือนกัน

ผิวพรรณหมองคล้ำ

การเปิดไฟนอนจะทำให้เรานอนได้ไม่เต็มที่ หรืออาจตื่นขึ้นมากลางดึกได้ โดยเฉพาะเวลาหลัง 4 ทุ่มถึงตีสอง เป็นเวลาที่โกรทฮอร์โมน (Groeth Hormone) จะหลั่งออกมาช่วยซ่อมแซ่มผิวพรรณ หากเรานอนไม่หลับในช่วงนี้ ปัญหาริ้วรอยก็จะตามมา ยิ่งถ้าอดนอนบ่อย ๆ ผิวก็จะดูหมองคล้ำขึ้น ไวต่อการแพ้ การอักเสบ ติดเชื้อได้ง่าย

ความจำแย่ลง

เปิดไฟนอนทุกคืน รู้ยังจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย

ตามปกติเวลาเรานอนหลับในที่มืด ต่อมใต้สมองจะหลั่งสารเมลาโทนินออกมา ช่วยให้เราหลับสนิท ตื่นมาตอนเช้าก็จะรู้สึกสดชื่น แต่ถ้าเราเปิดไฟทิ้งไว้ขณะนอนหลับ แสงไฟจะไปรบกวนระบบนาฬิกาชีวภาพของเรา ทำให้สับสนไม่รู้ว่าตอนนี้เราหลับอยู่หรือตื่นอยู่ จึงไปยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน จนหลับไม่สนิท ตื่นมาก็ไม่สดชื่น กระปรี้กระเปร่า และการนอนน้อยยังทำให้เหนื่อยง่าย สมองเบลอ กระทบต่อประสิทธิภาพการจดจำและการทำงานระหว่างวันอีกต่างหาก

ความอ้วนถามหา

ไม่อยากจะเชื่อว่าเปิดไฟนอนก็ทำให้อ้วนด้วยหรือ? นี่คือเรื่องจริงค่ะ โดยนักวิทยาศาสตร์พบว่า การปิดไฟนอนจะช่วยทำให้ระบบเผาผลาญพลังงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงไม่มีการเก็บสะสมพลังงานในรูปแบบของไขมันเพิ่ม

แต่ถ้าเราเปิดไฟนอน เราจะรู้สึกอยากทานอาหารมากขึ้น เพราะฮอร์โมนเลปตินที่ควบคุมความอยากอาหาร และฮอร์โมนเกรลินที่ช่วยให้เจริญอาหาร ทำงานไม่สมดุลกัน เราจึงรู้สึกหิวตลอดเวลา ยิ่งถ้าเรานอนน้อยด้วยแล้ว ร่างกายจะผลิตเลปตินน้อยลง แล้วผลิตเกรลินมากขึ้น ทำให้เรากินไม่หยุดจนน้ำหนักพุ่ง กลายเป็นโรคอ้วนและอาจลุกลามไปถึงโรคเบาหวาน

โรคร้ายรุมเร้า

เมลาโทนินที่จะหลั่งออกมาในช่วงที่เรานอนหลับก็ถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระหรือแอนตี้ออกซิแดนซ์ที่ช่วยยับยั้งการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ และช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงด้วย แต่ถ้าเราเปิดไฟ แสงไฟก็จะไปยับยั้งการผลิตเมลาโทนินจนบั่นทอนระบบภูมิคุ้มกัน เพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งอีกต่างหาก อย่างที่มีงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า คนที่เปิดไฟนอนมีความเสี่ยงโรคมะเร็งบางชนิดสูงกว่าคนที่ปิดไฟนอน

เสี่ยงโรคซึมเศร้า

เปิดไฟนอนทุกคืน รู้ยังจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกาย

เรื่องนี้ก็เกี่ยวกับเมลาโทนินเช่นกัน เพราะถ้าระบบเมลาโทนินถูกรบกวน จะทำให้เราอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า เกิดความเครียดได้ง่าย และเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าที่จะตามมา แต่ถ้าเราปิดไฟนอน สารเมลาโทนินที่ผลิตออกมาจะทำให้เรานอนหลับสนิท พักผ่อนได้เต็มที่ แล้วความเครียดอันเป็นบ่อเกิดของโรคซึมเศร้าก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย

เร่งอาการสายตาสั้น

การศึกษาของ University of Pennsylvania Medical Center และ The Children's Hospital
of Philadelphia พบว่า เด็กที่เริ่มเปิดไฟนอนตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 2 ขวบมากถึงร้อยละ 55 มีอาการสายตาสั้น ส่วนเด็กที่ปิดไฟนอนมีอาการสายตาสั้นเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น

นั่นก็เพราะเด็กวัยนี้มีพัฒนาการของดวงตาอย่างรวดเร็ว แม้จะมีแสงเพียงเล็กน้อยก็สามารถเล็ดลอดผ่านเข้าไปในดวงตาของเด็กที่กำลังหลับได้ ทำให้เด็กมีปัญหาสายตาสั้น ดังนั้นจึงต้องระวังให้มากโดยเฉพาะในเด็กทารก

อย่างไรก็ดี แสงไฟที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงแสงไฟจากหลอดไฟหรือโคมไฟเท่านั้น แต่ยังรวมถึงแสงไฟจากหน้าจอโทรทัศน์ที่บางคนชอบเปิดโทรทัศน์ทิ้งไว้ตอนกลางคืน รวมทั้งแสงไฟจากหน้าจอสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตด้วยเช่นกัน ดังนั้นการปิดไฟนอนย่อมดีกว่าเห็น ๆ เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ แถมยังมีเงินเหลือ เพราะไม่ต้องจ่ายค่าไฟที่เปิดทิ้งไว้หลายชั่วโมงอีกด้วยค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น