เศรษฐกิจเอเชียโต 7.1% จากเดิม 7.8%
วันที 7 ตุลาคม 2556 ธนาคารโลกเผยแพร่รายงาน “East Asian Pacific Economic Update” โดยประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกในปีนี้ชะลอลงจาก 7.8% เป็น 7.1% และ 7.2% ในปี 2557 โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ถูกปรับลดเกือบทุกประเทศ ยกเว้น ฟิลิปปินส์ กับกัมพูชา ทั้งนี้ ธนาคารโลกปรับประมาณการจีดีพีของไทยในปี 2556 ลงจากเดิม 5.3% เป็น 4%
แม้ว่าธนาคารโลกจะมองว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกและเศรษฐกิจไทยชะลอลง แต่ประเมินตัวเลขดีกว่าธนาคารพัฒนาเอเชีย (อีดีบี) ที่ประเมินว่าจีดีพีในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวได้ 6% ในปีนี้ และ 6.2% ในปีหน้า ส่วนจีดีพีของไทย ทางเอดีบีคาดว่าจะขยายตัวได้เพียง 3.8% ในปีนี้ และ 4.9% ในปีหน้า
นายเบิร์ต ฮอฟแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียชะลอตัวลง มีสาเหตุสำคัญมาจากอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะจีนที่ค่อนข้างต่ำเพราะรัฐบาลต้องการลดขนาดเศรษฐกิจ แต่คาดว่าจีดีพีของจีนจะขยายตัวได้ 7.5% ตามที่รัฐบาลจีนตั้งเป้าไว้ ขณะที่การเติบโตของประเทศรายได้ระดับกลางสูง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ก็ชะลอตัวลง เนื่องจากการลงทุนลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกตกต่ำ และการส่งออกเติบโตต่ำกว่าเป้าหมาย
อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกประเมินว่า ถ้าไม่นับรวมเศรษฐกิจจีน ในส่วนของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกก็ยังขยายตัวได้ดีในอัตรา 5% ในปีนี้ และ 5.3% ในปีหน้า
“แต่ในครึ่งปีหลังคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้น โดยอียูเริ่มออกจากภาวะถดถอยแล้ว ญี่ปุ่นก็เริ่มฟื้นตัว และสหรัฐปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5% เพราะฉะนั้น ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวได้จากปัจจัยภายนอกชดเชยอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอลง” นายฮอฟแมนกล่าว
“คิวอี-การคลังสหรัฐ-เศรษฐกิจจีน” ปัจจัยเสี่ยงต้องเฝ้าระวัง
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกต้องเตรียมรับมือคือ
1. การลดขนาดของมาตรการคิวอี (Quantitative Easing: QE) แม้ไม่รู้ว่าจะดำเนินการเมื่อไร แต่ตอนนี้รู้ว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกจะปรับสูงขึ้น ทำให้อุปสงค์ในประเทศถูกกดทับ และกระทบทำให้การลงทุนลดลง เพราะฉะนั้น ประเทศต่างๆ ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับดอกเบี้ยทั่วโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
2. ภาวะทางตันของการคลังสหรัฐที่มีความไม่แน่นอน ว่างบประมาณจะเบิกใช้ได้หรือไม่ ธนาคารโลกเคยทำแบบจำลองคำนวณไว้เมื่อช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ถ้าเกิดทางตันของการคลังสหรัฐ คือ ไม่สามารถเบิกใช้งบประมาณได้ในระยะยาว จะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐทำให้จีดีพีสหรัฐลดลง 2% และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกด้วย โดยถ้าจีดีพีสหรัฐขยายตัวลดลง 1% จะกระทบจีดีพีเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกโดยรวมลดลง 0.5% อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกคาดว่า สหรัฐจะสามารถผ่านข้อตกลงเรื่องงบประมาณไปได้
3. ความเสี่ยงของเศรษฐกิจจีน โดยทางการจีนมีนโยบายค่อยๆ ปรับลดขนาดเศรษฐกิจลง แต่ความเสี่ยงเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และปฏิรูปภาคการเงิน ต้องจับตาดูว่าเศรษฐกิจจีนจะทำตามที่วางแผนไว้ได้หรือไม่ เพราะถ้าเศรษฐกิจจีนชะลอลงกว่าที่คาดหรือมีปัญหาก็จะกระทบเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออก