xs
xsm
sm
md
lg

เวิลด์แบงก์หั่นจีดีพีเอเชียตะวันออก เตือนภัยวิกฤตงบUS-ลดเป้า‘ไทย’1.3%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - ธนาคารโลกลดเป้าหมายอัตราเติบโตประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก สำหรับจีดีพีไทยปีนี้ถูกหั่นทิ้งถึง 1.3% อยู่ที่ 4% พร้อมกันนั้นก็เตือนว่าวิกฤตการเงินอเมริกาที่ยืดเยื้อจะสร้างความเสียหายต่อภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอเมริกาผิดนัดชำระหนี้ อย่างไรก็ดี คาดว่าผลกระทบจากแนวโน้มเงินทุนไหลออกจากเอเชียที่สืบเนื่องจากสถานการณ์ในแดนอินทรี จะได้รับการชดเชยจากคลื่นการลงทุนของญี่ปุ่นที่ได้อานิสงส์จาก “อาเบะโนมิกส์”

“ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียกำลังเติบโตขยายตัวช้าลง ขณะที่จีนเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจที่อิงกับการส่งออกมาเน้นที่การบริโภคภายใน

“ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย กำลังชะลอตัวลงเช่นกัน เนื่องจากภาวะการลงทุนลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกตกต่ำ และการส่งออกเติบโตต่ำกว่าคาด” รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกฉบับปรับปรุงล่าสุด (East Asia Pacific Economic Update)ของธนาคารโลก ซึ่งนำออกเผยแพร่ในวันจันทร์ (7 ต.ค.) ระบุ

รายงานล่าสุดของธนาคารโลกคาดว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของพวกประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกในปีนี้จะอยู่ที่ 7.1% จากที่ในรายงานฉบับเมื่อเดือนเมษายนเคยคาดไว้ 7.8% และเทียบกับอัตรา 7.5% ในปีที่ผ่านมา และ 8.3% ในปี 2011

สำหรับปีหน้าและปี 2015 อัตราเติบโตถูกคาดหมายไว้ที่ 7.2% เท่ากัน แต่หากไม่รวมจีน อัตราเติบโตของเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มอยู่ที่เพียง 5.2% ในปีปัจจุบัน และ 5.3% ในปี 2014

จีนนั้นก็ถูกลดอัตราเติบโตในปีนี้ลงอยู่ที่ 7.5% จาก 8.3% ที่คาดไว้ในเดือนเมษายน และยังต่ำกว่าตัวเลขพยากรณ์ล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งอยู่ที่ 7.75% ส่วนปีหน้าเวิลด์แบงก์คาดว่า จีดีพีแดนมังกรจะอยู่ที่ 7.7% ลดลง 0.3% จากตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้า

เมื่อแจกแจงเป็นรายประเทศ ธนาคารโลกได้ลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปีนี้อยู่ที่ 5.6% และ 5.3% สำหรับปีหน้า ลดลงมา 0.6% และ 1.2% ตามลำดับ เช่นเดียวกับจีดีพีของไทยที่ถูกปรับลดลงถึง 1.3% เหลือ 4.0% ในปีนี้ ส่วนปีหน้าก็ให้ไว้ที่ 4.5% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ครั้งก่อน 0.5%

ตรงข้ามกับจีดีพีของฟิลิปปินส์ที่ได้รับการปรับเพิ่มเป็น 7.0% และ 6.7% ในปีนี้และปี 2014 สูงขึ้น 0.8% และ 0.3% ตามลำดับ

เบิร์ต ฮอฟแมน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของเวิลด์แบงก์ แถลงในวันจันทร์ (7) ว่า ธนาคารโลกคาดว่า วิกฤตงบประมาณที่บีบให้หน่วยงานบางส่วนของรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องปิดทำการ จะมีทางออกที่ราบรื่น แต่ถ้าหากปัญหานี้ยืดเยื้อ ก็น่าจะส่งผลร้ายแรงมาถึงเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก

ฮอฟแมนแจงว่า การเติบโตทุก 1% ที่ขาดหายไปของอเมริกา จะทำให้จีดีพีของเอเชียตะวันออกวูบลง 0.5%

นอกจากนั้น ความขัดแย้งในคองเกรส ยังทำให้เกิดความกังวลกันว่าสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯจะไม่ยอมขยายเพดานการก่อหนี้ของประเทศก่อนเส้นตายในวันที่ 17 นี้ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลผิดนัดชำระหนี้

ในรายงาน ธนาคารโลกระบุว่า เอเชียตะวันออกยังคงเป็นภูมิภาคที่โตเร็วที่สุดในโลก และมีส่วนสนับสนุนถึง 40% ในการขยายตัวของจีดีพีโลก แม้มหาอำนาจอย่างจีนอยู่ในช่วงขาลง และเศรษฐกิจอินโดนีเซียและไทยในปีนี้ชะลอตัวก็ตาม

แอกเซล แวน ทรอตเซนเบิร์ก รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เพิ่มเติมว่า ขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมกำลังรุดหน้า นี่จึงเป็นโอกาสเหมาะที่ประเทศกำลังพัฒนาจะดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและนโยบาย เพื่อรักษาการเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความยากจน และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส

ธนาคารโลกตั้งข้อสังเกตว่า การคาดเดาในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หรือ “คิวอี” ได้นำไปสู่การเทขายหุ้นและการอ่อนค่าของเงินหลายสกุลในเอเชียตะวันออก และกระทบต่อประเทศที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดเงินจำนวนมาก

ฮอฟแมนสำทับว่า การที่เฟดชะลอการตัดสินใจเลื่อนการตัดลดมาตรการนี้ออกไปก่อน ทำให้ตลาดกลับมามีเสถียรภาพอีกครั้งในขณะนี้ และทำให้ประเทศต่างๆ มีโอกาสทบทวนเพื่อดำเนินการลดความเสี่ยงจากความผันผวนในอนาคต

“การลดการพึ่งพิงตราสารหนี้ระยะสั้นและตราสารหนี้สกุลเงินต่างชาติ การยอมรับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงขณะที่การเติบโตต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง และการสร้างนโยบายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพคล่องทั่วโลกอย่างรวดเร็ว คือส่วนหนึ่งของการเตรียมพร้อมสำหรับประเทศเหล่านี้”

รายงานยังระบุว่า ผลกระทบจากการดำเนินการของอเมริกาซึ่งอาจทำให้เงินทุนไหลออกจากภูมิภาคนี้ อาจได้รับการชดเชยจากยุทธศาสตร์ฟื้นการเติบโตใหม่ของญี่ปุ่นที่เรียกขานกันว่า “อาเบะโนมิกส์” ซึ่งมีแนวโน้มกระตุ้นให้ญี่ปุ่นเพิ่มการลงทุนในเอเชีย
กำลังโหลดความคิดเห็น