xs
xsm
sm
md
lg

เอดีบีหั่นแนวโน้มเติบโตเอเชียชี้3ปัจจัยลบทั้ง‘คิวอี-จีน-อินเดีย’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - เอดีบีปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียทั้งปีนี้และปีหน้า ชี้การเติบโตชะลอตัวในจีนและอินเดีย ตลอดจนความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการคิวอีของเฟด ส่งผลกระทบต่อโมเมนตัมเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าภูมิภาคนี้สามารถต้านทานปัจจัยลบที่กล่าวมาทั้งหมดได้

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เมื่อวันพุธ (2) เปิดตัวรายงานใหม่ซึ่งเป็นการอัปเดตรายงานพยากรณ์เศรษฐกิจฉบับเดือนเมษายนของตน โดยในคราวนี้คาดหมายว่า พวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะมีอัตราเติบโตในปีนี้อยู่ที่ 6% จากที่เคยคาดไว้ 6.6% ในเดือนเมษายน รวมทั้งยังปรับลดแนวโน้มการเติบโตของปีหน้าจาก 6.7% ลงมาอยู่ที่ 6.2%

ในรายงานอัปเดตแนวโน้มการพัฒนาของเอเชียที่ครอบคลุมพวกประเทศกำลังพัฒนาและชาติอุตสาหกรรมใหม่รวม 45 รายในเอเชีย-แปซิฟิก ยกเว้นญี่ปุ่นฉบับนี้ เอดีบียังแจกแจงว่า เศรษฐกิจเอเชียอยู่ในภาวะขาลงเนื่องจากปัญหาในจีน ซึ่งเป็นผู้เล่นหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาค ขณะที่อินเดียต้องฝ่าฟันภาวะอัมพาตทางการเมือง อัตราเงินเฟ้อพุ่ง และค่าเงินอ่อนตัว

แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยที่มาตรการดังกล่าวเป็นตัวกระตุ้นให้เงินทุนก้อนใหญ่ไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แต่ขณะนี้กลายเป็นประเด็นที่สร้างความหนักใจ เนื่องจากเฟดกำลังพิจารณาลดขนาดและยกเลิกมาตรการนี้ในที่สุด

เมื่อแจกแจงเป็นรายประเทศ รายงานล่าสุดของเอดีบีได้ลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของจีนในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 7.6% จากที่พยากรณ์ไว้ในเดือนเมษายนที่ 8.2% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศซบเซาลง การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมแผ่ว และการค้ากับต่างประเทศลดฮวบ

ชางยอง รี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบีแถลงว่า การเติบโตระดับปานกลางในจีนในปีนี้ เป็นผลจากการปฏิรูปเชิงโครงสร้างซึ่งมุ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงระยะกลาง เพื่อมุ่งสู่แนวทางการเติบโตที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นกว่าการเติบโตที่หนุนนำโดยการส่งออกและการลงทุนขนาดใหญ่

อย่างไรก็ดี การชะลอตัวนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้านในเอเชีย เนื่องจากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนแผ่ปกคลุมอย่างกว้างขวาง

สำหรับอินเดีย ได้ถูกเอดีบีลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตในปีนี้จาก 6% เหลือ 4.7% ปัจจัยคือการอ่อนค่าของรูปี ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วทำสถิติต่ำสุดเมื่อเทียบดอลลาร์ นอกจากนี้ยังเนื่องจากการไหลออกของเงินทุน จากการที่นักลงทุนคาดว่า เฟดจะยุติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วๆ นี้

เศรษฐกิจแดนภารตะยังได้รับผลกระทบจากโครงสร้างพื้นฐานที่ย่ำแย่และความล่าช้าในการปฏิรูปซึ่งส่งผลต่อการลงทุนและอุตสาหกรรม

ในส่วนเอเชียตะวันออกที่รวมถึงฮ่องกงและไต้หวันนั้น เอดีบีคาดหมายว่า จะมีการขยายตัว 6.6% ในปีนี้

สำหรับการเติบโตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถูกคาดหมายไว้ที่ 4.9% จากเดิม 5.4% สืบเนื่องจากผลงานที่ย่ำแย่ของสามประเทศใหญ่สุดของอาเซียนคือ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จากปัญหาการส่งออกซบเซาและการลงทุนอยู่ในระดับพอประมาณ

รายงานกล่าวว่า ความไม่แน่นอนของเฟดได้ผลักดันให้เงินทุนต่างชาติจำนวนมหาศาลไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ซึ่งรวมถึงอินเดียและอินโดนีเซีย สร้างความวิตกกังวลและฉุดให้เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าคาด

“สถานการณ์ปัจจุบันตอกย้ำความจำเป็นที่เอเชียจะต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเงินในระยะสั้น ควบคู่ไปกับผลักดันการปฏิรูปเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว” รีแนะนำ

กระนั้น เอดีบีสำทับว่า ความกังวลที่ว่าวิกฤตการเงินจะกลับมาใหม่นั้นเป็นการกลัวกันไปเอง เนื่องจากเอเชียวันนี้เข้มแข็งกว่าในช่วงวิกฤตปี 1997 และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลายประเทศอยู่ในภาวะเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

เอดีบีเสริมว่า เงินเฟ้อในเอเชียในปีนี้และปีหน้ามีแนวโน้มชะลอลง แม้บางประเทศอาจเผชิญความกดดันมากขึ้น เช่น อินโดนีเซีย จากการยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิง

รายงานของเอดีบีเสนอแนะว่า มาตรการปฏิรูปที่ชาติเอเชียควรดำเนินการเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวนั้น ควรครอบคลุมการส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความสามารถมากขึ้น ดึงรัฐบาลท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม รวมทั้งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อสร้างการเติบโตโดยรวม นอกจากนี้ภาครัฐควรเพิ่มความพยายามในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น และยกระดับกรอบโครงกฎหมายและกฎระเบียบให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น