เอพี - สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 9 ประเทศ ร่วมกันประณามการโจมตีทางอากาศตามอำเภอใจของกองทัพพม่าต่อพลเรือน ก่อนที่ผู้แทนพิเศษจะบรรยายสรุปต่อคณะมนตรีที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของภูมิภาคที่จะดำเนินการตามแผนสันติภาพที่จนถึงขณะนี้ส่วนใหญ่ยังไม่เห็นผล
แผนสันติภาพที่บรรลุในเดือน เม.ย.2564 ไม่นานหลังจากที่กองทัพพม่ายึดอำนาจในการรัฐประหารที่ก่อใ้ห้เกิดสงครามกลางเมือง เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในประเทศ การเจรจาระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง การไกล่เกลี่ยโดยผู้แทนพิเศษจากสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านช่องทางของอาเซียน และการเยือนพม่าของผู้แทนพิเศษเพื่อพบหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
อลุนแก้ว กิตติคุณ ผู้แทนพิเศษด้านกิจการพม่าจากลาว ที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ได้กล่าวปราศรัยในการประชุมของคณะมนตรีในนามของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเขาย้ำความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามฉันทมติ 5 ข้อ ของอาเซียนเพื่อสร้างสันติภาพในพม่าผ่านการทูตแบบเงียบๆ ต่อไป
จนถึงขณะนี้ ผู้นำทหารในพม่ายังคงเพิกเฉยต่อแผนของอาเซียนดังกล่าว ขณะที่ความรุนแรงและวิกฤตด้านมนุษยธรรมในประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็ว
ก่อนการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ สมาชิก 9 ประเทศจากทั้งหมด 15 ประเทศ ยืนต่อหน้านักข่าวเพื่อสนับสนุนคำแถลงของเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำสหประชาชาติ ที่สะท้อนข้อเรียกร้องของอาเซียนต่อกองทัพพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้หยุดโจมตีพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน
กองทัพพม่ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของอองซานซูจีในเดือน ก.พ.2564 และกำลังเผชิญกับขบวนการต่อต้านด้วยอาวุธเรียกร้องประชาธิปไตย ที่ได้รับการช่วยเหลิอจากกองกำลังชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ กองทัพเพิ่มการโจมตีทางอากาศหลังกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ 3 กลุ่มเปิดฉากโจมตีร่วมกันในปลายเดือน ต.ค. ยึดเมืองในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ พร้อมด้วยจุดผ่านแดนสำคัญสำหรับการค้ากับจีน
สมาชิก 9 ประเทศในคณะมนตรีความมั่นคง ประกอบด้วย เอกวาดอร์ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น มอลตา เกาหลีใต้ สโลเวเนีย สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ และสหรัฐฯ กล่าวว่า 3 ปี หลังทหารยึดอำนาจ ประชาชนมากกว่า 18 ล้านคน ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และอีก 2.6 ล้านคนยังคงเป็นผู้พลัดถิ่น
ที่การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนเมื่อวันที่ 29 ม.ค. สะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีต่างประเทศของลาว กล่าวกับนักข่าวว่าไทยกำลังเดินหน้าตามแผนการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อพม่า และทั้ง 9 ประเทศย้ำคำร้องของคณะมนตรีในการปรับปรุงการเข้าถึงด้านมนุษยธรรม
นอกจากนี้ พวกเขายังแสดงความกังวลมากขึ้นต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ที่มีพรมแดนติดกับบังกลาเทศ ที่ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 1 ล้านคน อาศัยหลบภัยตั้งแต่เดือน ส.ค.2560 หลังจากทหารดำเนินการปฏิบัติการกวาดล้างตอบโต้การโจมตีของกองทัพอาระกัน
กองทัพอาระกันเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ เจ้าหน้าที่บังกลาเทศกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่าตำรวจรักษาชายแดนของพม่ามากกว่า 100 นาย ได้หลบหนีการต่อสู้กับกองทัพอาระกันในรัฐยะไข่ ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา และเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศ
9 ประเทศสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับโรฮิงญาที่ยังคงอยู่ในพม่า ที่เผชิญกับการเลือกปฏิบัติอย่างเป็นระบบมานานหลายทศวรรษ ในตอนนี้กำลังต่อสู้กับข้อจำกัดในด้านเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ตลอดจนการปฏิเสธการเข้าถึงยารักษาโรคและการดูแลรักษาทางการแพทย์ พวกเขาเรียกร้องให้ดำเนินการตามมติแรกของคณะมนตรีความมั่นคงที่มีต่อพม่า ที่ลงมติกันเมื่อเดือน ธ.ค.2565 เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทันที และปล่อยตัวนักโทษที่ถูกคุมขังโดยพลการทั้งหมดทันที รวมถึงอองซานซูจี และอดีตประธานาธิบดีวิน มี้น
จ่อ โม ตุน เอกอัครราชทูตพม่าประจำสหประชาชาติ ที่ยังคงเป็นตัวแทนของรัฐบาลที่ถูกโค่นล้มของอองซานซูจี เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงมีมติที่บังคับใช้ได้และแข็งกร้าวขึ้น พร้อมทั้งกล่าวว่า กองกำลังประชาธิปไตยกำลังรุกคืบและรัฐบาลทหารกำลังพ่ายแพ้ทุกวัน
9 ประเทศสมาชิกกล่าวว่าพวกเขายังคงรู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อการขาดความคืบหน้าเกี่ยวกับมติที่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพสิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และหลักนิติธรรม และเจตจำนงและผลประโยชน์ตามประชาธิปไตยของประชาชนในพม่า
นักการทูตกล่าวว่าไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันจันทร์เกี่ยวกับขั้นตอนต่อไป แม้ว่าจะมีความกังวลในวงกว้างต่อสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศจากการสู้รบของทหารกับหลายแนวรบ ความเสี่ยงของความโหดร้ายทารุณในรัฐยะไข่ และความจำเป็นในการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมที่ดียิ่งขึ้น
สหรัฐฯ ผลักดันให้มีมติคณะมนตรีความมั่นคงที่สามารถบังคับใช้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพพม่าเข้าถึงเชื้อเพลิงเครื่องบิน นักการทูตรายหนึ่งกล่าว
สหรัฐฯ อังกฤษ สหภาพยุโรป และอื่นๆ ได้บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรในปี 2566 ต่อการจัดหาเชื้อเพลิงการบินให้พม่า แต่องค์การนิรโทษกรรมสากลรายงานเมื่อวันที่ 31 ม.ค. ว่ามีหลักฐานใหม่บ่งชี้ว่ากองทัพพม่ากำลังใช้วิธีการใหม่เพื่อเลี่ยงการคว่ำบาตร
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระบุว่า ปี 2566 เป็นปีที่เลวร้ายที่สุดสำหรับการโจมตีทางอากาศในพม่านับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจ โดยระบุว่า การขนส่งเชื้อเพลิงการบินอย่างน้อย 7 ครั้งไปพม่ามีความเชื่อมโยงโดยตรงกับหน่วยจัดเก็บแห่งหนึ่งในเวียดนาม ที่เป็นสมาชิกอาเซียนด้วยกัน
นักการทูตระบุว่า จีน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพม่า ได้ย้ำถึงความจำเป็นในการให้เวลาและพื้นที่กับความพยายามของอาเซียน ขณะที่รัสเซีย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับพม่าเช่นกัน ย้ำว่าคณะมนตรีไม่ควรแทรกแซงกิจการภายในของพม่า.