xs
xsm
sm
md
lg

พม่าแนะสหประชาชาติต้องใช้แนวทางใหม่ในการแก้ไขวิกฤตนองเลือดหลังรัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - สหประชาชาติจำเป็นต้องทบทวนแนวทางของตนในการแก้ไขวิกฤตนองเลือดหลังการรัฐประหารของพม่า รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารกล่าวกับผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติระหว่างการเยือนพม่าครั้งแรกเมื่อวันพุธ (17)

พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในเดือน ก.พ.2564 ที่ก่อให้เกิดการต่อต้านและความรุนแรงในหลายพื้นที่ของประเทศ

ความพยายามทางการทูตเพื่อแก้ไขวิกฤตภายใต้การนำของสหประชาชาติ และกลุ่มภูมิภาคสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย ด้วยนายพลพม่าปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมกับฝ่ายตรงข้าม

ในการพบหารือกับโนลีน เฮย์เซอร์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติเมื่อวันพุธ (17) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของรัฐบาลทหารเรียกร้องให้สหประชาชาติทบทวนแนวทางปฏิบัติอย่างสร้างสรรค์ในความร่วมมือกับพม่า

เฮย์เซอร์ยังได้พบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทันทีและปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด สำนักงานของเฮย์เซอร์ระบุในคำแถลง

คำแถลงยังระบุว่า เฮย์เซอร์ได้ร้องขอการพบหารือกับอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนที่ถูกขับไล่ ที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่การรัฐประหาร และเมื่อต้นสัปดาห์ยังถูกศาลรัฐบาลทหารตัดสินจำคุกเพิ่ม

นับตั้งแต่เดือน ก.ย.2564 มีประชาชนถูกสังหารมากกว่า 2,200 คน และถูกจับกุมตัวมากกว่า 15,000 คน ในการปราบปรามผู้เห็นต่างของทหาร ตามการระบุของกลุ่มสิทธิมนุษยชนท้องถิ่น

ท่ามกลางการถูกชาติตะวันตกคว่ำบาตรและถูกโดดเดี่ยวบนเวทีโลก รัฐบาลทหารเคยกล่าวหาว่าสหประชาชาติแทรกแซงกิจการภายในของตน และเมื่อเดือนที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้จุดชนวนการประณามจากนานาชาติครั้งใหม่เมื่อตัดสินประหารชีวิต เพียว เซยา ตอ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจีจากความผิดภายใต้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย

สำนักงานของเฮย์เซอร์กล่าวว่าเธอได้เรียกร้องโดยตรงต่อ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะรัฐบาลทหาร ให้ระงับการประหารชีวิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งหมด และยังระบุว่าเธอได้ถ่ายทอดคำร้องจากรัฐบาลออสเตรเลียถึงรัฐบาลทหารให้ปล่อยตัวฌอน เทอร์เนลล์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในข้อหาละเมิดกฎหมายความลับทางการ

เฮย์เซอร์ ได้รับการแต่งตั้งโดยอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อปีก่อน ให้เข้าทำหน้าที่แทนที่คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ นักการทูตชาวสวิส

ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ได้เรียกร้องให้สหประชาชาติใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นกับกองทัพพม่า และเธอได้ตกเป็นเป้าโจมตีของสื่อพม่าที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ผู้นำพม่าขัดขวางไม่ให้เธอเยือนประเทศ ซึ่งเธอหวังที่จะได้พบกับซูจี

เมื่อเดือน ธ.ค. สื่อของรัฐรายงานว่ารัฐบาลทหารได้ปิดสำนักงานในพม่าของเธอ โดยกล่าวว่างานของเธอในพม่าได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานจากสื่อของรัฐว่าเฮย์เซอร์จะได้รับอนุญาตให้เปิดสำนักงานในประเทศหรือไม่.




กำลังโหลดความคิดเห็น