รอยเตอร์ - รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศเมื่อวันจันทร์ (25) ว่าได้ดำเนินการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย 4 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าให้ความช่วยเหลือดำเนินการก่อการร้าย ที่ก่อให้เกิดการตำหนิประณามอย่างกว้างขวางต่อการประหารชีวิตครั้งแรกของประเทศในรอบหลายทศวรรษ
นักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ถูกตัดสินประหารชีวิตในการพิจารณาคดีอย่างลับๆ ในเดือน ม.ค. และเดือน เม.ย. พวกเขาถูกกล่าวหาว่าช่วยเหลือขบวนการต่อต้านของพลเรือนที่ต่อสู้กับกองทัพนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปีก่อน
ในบรรดาผู้ที่ถูกประหารชีวิต ประกอบด้วย จ่อ มิน ยู นักรณรงค์ประชาธิปไตย หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ จิมมี และเพียว เซยา ตอ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ และศิลปินฮิปฮอป พันธมิตรของอองซานซูจี ส่วนอีก 2 คนที่เหลือคือหล่า เมียว อ่อง และอ่อง ตูระ ซอ
สื่อของรัฐรายงานว่าได้ดำเนินการลงโทษแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าเมื่อใด หรือโดยวิธีใด แต่การประหารครั้งก่อนหน้าในพม่าใช้วิธีการแขวนคอ
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ที่กำลังพยายามบ่อนทำลายความพยายามของรัฐบาลทหารที่จะปกครองประเทศ กล่าวว่าถึงเวลาที่นานาชาติจะต้องตอบโต้
“ประชาคมโลกต้องลงโทษความโหดร้ายของพวกเขา” จ่อ ซอ โฆษกสำนักงานประธาน NUG กล่าว
พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายมาตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 โดยกองทัพพัวพันอยู่กับการต่อสู้ในหลายแนวรบกับกลุ่มติดอาวุธที่จัดตั้งขึ้นใหม่
มิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุการประหารชีวิตเป็น ‘ขั้นตอนที่โหดร้ายและถดถอย’
อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวประณามอย่างรุนแรงต่อการประหารและเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษที่ถูกคุมขังตามอำเภอใจ รวมถึงอองซานซูจี
ในคำแถลงร่วมของสหภาพยุโรป ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ เกาหลีใต้ อังกฤษ และสหรัฐฯ ระบุว่า การประหารชีวิตดังกล่าวเป็นการกระทำความรุนแรงที่น่าประณาม ที่เป็นตัวอย่างเพิ่มเติมของการเพิกเฉยต่อสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมของรัฐบาลทหาร
ส่วนที่ปรึกษาด้านโทษประหารชีวิตขององค์การนิรโทษกรรมสากล กล่าวว่า การประหารการเป็นการเสื่อมถอยครั้งใหญ่ และรัฐบาลทหารจะไม่หยุดอยู่แค่นั้น
เอเลน เพียร์สัน รักษาการผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า เป็นการกระทำที่โหดร้ายอย่างที่สุดโดยมีจุดมุ่งหมายให้ขบวนการประท้วงต่อต้านการรัฐประหารสงบลง
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ที่ติดตามการจับกุม การสังหาร และคำตัดสินของศาลในพม่าระบุว่า การประหารครั้งนี้ถือเป็นการประหารชีวิตนักโทษกลุ่มแรกจาก 117 คนที่ได้รับโทษประหารจากศาลทหารนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร
ตาซิน ยุ้น อ่อง ภรรยาของเพียว เซยา ตอ กล่าวว่า ครอบครัวของผู้ที่ถูกประหารถูกปฏิเสธไม่ให้รับศพคนรักของพวกเขา และว่าเป็นเหมือนกับฆาตกรที่พยายามปกปิดอาชญากรรมที่ได้ก่อไว้
“นี่เป็นการฆ่าและซ่อนศพ พวกเขาดูหมิ่นชาวพม่าและประชาคมระหว่างประเทศ” ตาซิน ยุ้น อ่อง กล่าวกับรอยเตรอ์
นีลา เต็ง ภรรยาของจ่อ มิน ยู กล่าวว่าเธอจะไม่จัดงานศพโดยไม่มีศพ
“เราทุกคนต้องกล้าหาญ แน่วแน่ และเข้มแข็ง” นีลา เต็ง โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก
ชายทั้ง 4 คน ถูกควบคุมตัวในเรือนจำอินเส่งในย่างกุ้ง ซึ่งครอบครัวของพวกเขาได้เข้าเยี่ยมเมื่อวันศุกร์ (22) ตามข้อมูลจากบุคคลที่ทราบเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว และกล่าวว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำอนุญาตให้ญาติเพียงคนเดียวพูดคุยกับผู้ต้องขังผ่านวิดีโอคอล
“ฉันถามว่าทำไมคุณถึงไม่บอกฉันหรือลูกชายของฉันว่านั่นจะเป็นการเจอกันครั้งสุดท้ายของเรา?” ขิ่น วิน เม แม่ของเพียว เซยา ตอ กล่าวกับบีบีซี ภาคภาษาพม่า
รัฐบาลทหารไม่ได้กล่าวถึงการประหารชีวิตในรายงานข่าวภาคค่ำทางโทรทัศน์เมื่อวันจันทร์ (25)
เดือนที่ผ่านมาโฆษกรัฐบาลทหารได้กล่าวปกป้องการตัดสินประหารชีวิตว่ามีความชอบธรรมและมีใช้ในหลายประเทศ
ทำเนียบขาวได้ประณามการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง และเน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าวอชิงตันกำลังพิจารณามาตรการตอบโต้รัฐบาลทหารเพิ่มเติม และเสริมว่าพร้อมพิจารณาทุกทางเลือก หลังถูกถามถึงความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรภาคส่วนก๊าซของประเทศ
ไพรซ์ ยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ แบนการขายอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารให้พม่า และละเว้นจากการกระทำใดๆ ที่จะให้ความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศแก่รัฐบาลทหารพม่า
บ็อบ เมเนนเดซ ประธานคณะกรรมการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาสหรัฐฯ ออกคำแถลงเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับบริษัท Myanma Oil and Gas Enterprise
มิทช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกัน ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับซูจีมายาวนาน ได้เรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านของพม่าดำเนินการตอบโต้
เมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรีฮุนเซนของกัมพูชา ประธานหมุนเวียนของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้ส่งหนังสือถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย วิงวอนให้เขางดเว้นการประหารชีวิต และถ่ายทอดความวิตกกังวลจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของพม่า
ฝรั่งเศสประณามการประหารและเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเจรจา ส่วนกระทรวงการต่างประเทศของจีนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในพม่าแก้ไขความขัดแย้งอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
ทอม แอนดรูว์ ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในพม่า กล่าวกับรอยเตอร์ว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติควรผ่านมติที่แข็งกร้าว ไม่เพียงแค่การประณามเท่านั้น แต่ควรดำเนินการเชิงกลยุทธ์อย่างชัดเจน ลงโทษ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และห้ามซื้อขายอาวุธ
AAPP กล่าวว่า นับตั้งแต่รัฐประหาร มีประชาชนถูกองกำลังความมั่นคงสังหารไปมากกว่า 2,100 คน แต่รัฐบาลทหารกล่าวว่าตัวเลขดังกล่าวเกินจริง
ภาพที่แท้จริงของความรุนแรงยากต่อการประเมิน เนื่องจากการปะทะกันได้แพร่กระจายไปยังพื้นที่ห่างไกลมากขึ้น ที่กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ก็กำลังต่อสู้กับกองทัพ
กองทัพอาระกัน (AA) หนึ่งในกองกำลังชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์มากกว่าสิบกลุ่มในพม่า ที่ต่อสู้กับกองทัพมาหลายปี กล่าวว่า การประหารได้ทำลายความหวังของข้อตกลงสันติภาพ
“การประหารจะปิดโอกาสที่จะยุติความไม่สงบในพม่า กองทัพมองว่าสิ่งนี้เป็นการแสดงความแข็งแกร่ง แต่อาจเป็นการคำนวณผิดอย่างร้ายแรง” ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ นักวิเคราะห์จาก International Crisis ระบุ.