เอเอฟพี - กองทัพพม่ามีแนวโน้มว่าใช้การโจมตีทางอากาศและการระดมยิงด้วยปืนใหญ่เป็น ‘การลงโทษแบบเหมารวม’ ต่อพลเรือนที่ต่อต้านการรัฐประหาร องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าววันนี้ (1) และกล่าวหาว่ารัฐบาลทหารก่ออาชญากรรมสงคราม
การปะทะกันอย่างรุนแรงสร้างความเสียหายต่อประเทศเป็นวงกว้างนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปีก่อน ที่ขับไล่รัฐบาลของอองซานซูจี ผู้นำพลเรือน โดยรัฐบาลทหารไม่สามารถบดขยี้ฝ่ายต่อต้านการปกครองของพวกเขาได้
ระหว่างเดือน ธ.ค.2564 จนถึงเดือน มี.ค.2565 กองทัพได้เพิ่มการโจมตีในรัฐกะยาและรัฐกะเหรี่ยงตามแนวชายแดนไทย โดยกองกำลังทหารดำเนินการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม ปล้นสะดม และเผาหมู่บ้าน รายงานขององค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุ
กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า กองทัพดำเนินการโจมตีทางอากาศและยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ใส่บ้านเรือนประชาชน สถานพยาบาล วัดและโบสถ์ โดยชาวบ้านบอกกับนักวิจัยว่าการระดมยิงปืนใหญ่บางครั้งกินเวลานานหลายวัน
องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่า การโจมตีดังกล่าวเป็นคลื่นระลอกใหม่ใหม่ของอาชญากรรมสงครามและน่าจะเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
การโจมตีทางอากาศทำให้พลเรือนเสียชีวิต 9 คน และได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 9 คน ในช่วงการรายงาน
“ในบันทึกการโจมตีทางอากาศเกือบทั้งหมด ดูเหมือนมีแค่เพียงพลเรือนที่ปรากฏอยู่” รายงานระบุ
การโจมตีทางอากาศครั้งหนึ่งในเดือน ม.ค. โดนค่ายพักพิงของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในรัฐกะยา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คนที่พักอยู่ในพื้นที่ที่นักเคลื่อนไหวระบุว่ากองทัพควรจะทราบดี
นักวิจัยยังบันทึกกรณีตัวอย่างที่ทหารยิงพลเรือนซึ่งกำลังหลบหนีการปะทะ รวมถึงผู้เห็นเหตุการณ์รายหนึ่งที่กล่าวว่ากองกำลังทหารยิงคนที่กำลังพยายามข้ามแม่น้ำไปฝั่งไทยเสียชีวิต 6 คน
องค์การนิรโทษกรรมสากลกล่าวว่า ปฏิบัติการของกองทัพสะท้อนถึงนโยบายการลงโทษแบบเหมารวมต่อชุมชนพลเรือนที่ถูกมองว่าสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธหรือการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงอย่างกว้างขวางที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร
รัฐกะยา และรัฐกะเหรี่ยงเผชิญกับการต่อสู้ที่ดุเดือดที่สุดนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร ด้วยนักสู้ของฝ่ายต่อต้านการรัฐประหารมักร่วมมือกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์
เมื่อเดือน ม.ค. กองทัพได้สั่งการโจมตีทางอากาศในเมืองลอยก่อ เมืองเอกของรัฐกะยา เพื่อขับไล่นักสู้ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร โฆษกรัฐบาลทหารกล่าวกับเอเอฟพี
ในวันก่อนวันคริสต์มาสปีก่อน พบซากศพถูกไฟไหม้มากกว่า 30 ศพ รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก บนทางหลวงสายหนึ่งในรัฐกะยาหลังการสังหารหมู่ที่กล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของกองกำลังของรัฐบาลทหาร
องค์กรการกุศล Save the Children กล่าวในเวลาต่อมาว่ามีเจ้าหน้าที่ขององค์กร 2 คน เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิต
กองทัพพม่าถูกกล่าวหาซ้ำๆ ว่ากระทำทารุณและก่ออาชญากรรมสงครามในความขัดแย้งภายในประเทศที่ดำเนินมาหลายทศวรรษ
ความรุนแรงของทหารต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญาในปี 2560 ทำให้ผู้คนราว 750,000 คน ต้องอพยพหลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศ
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารที่เป็นผู้นำกองทัพในช่วงการปราบปรามโรฮิงญากล่าวในเดือน มี.ค.ว่า กองทัพจะทำลายล้างกลุ่มที่ต่อสู้เพื่อล้มล้างการปกครองของพวกเขา.