xs
xsm
sm
md
lg

มินอ่องหล่ายลั่นจะทำทุกวิถีทางบดขยี้ฝ่ายตรงข้ามหลังประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอเอฟพี - กองทัพพม่าจะดำเนินการ 'ทุกวิถีทาง' ที่จะบดขยี้การต่อต้านการปกครองของตน ผู้นำสูงสุดของกองทัพกล่าว หลังรัฐบาลทหารขยายสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้ง และทำให้การเลือกตั้งต้องล่าช้าออกไป

ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกอยู่ในความสับสนวุ่นวายนับตั้งแต่รัฐประหารเดือน ก.พ.2564 ที่ยุติการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดำเนินมาได้เพียงทศวรรษ และนำไปสู่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่และการปราบปรามผู้เห็นต่าง

3 ปีต่อมา รัฐบาลทหารพยายามอย่างหนักที่จะบดขยี้กลุ่มต่อต้านติดอาวุธที่ขยายวงกว้างต่อต้านการปกครองของตน และต้องเผชิญกับความสูญเสียหลายครั้งต่อพันธมิตรกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์

กองทัพจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้รัฐกลับสู่เสถียรภาพ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร กล่าวปราศรัยที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ MRTV ของรัฐ

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้า สภาความมั่นคงและการป้องกันแห่งชาติเห็นพ้องที่จะขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน หลังจากที่ได้ประกาศไว้เมื่อขับไล่รัฐบาลของอองซานซูจี

การขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีกำหนดสิ้นสุดลงในเวลาเที่ยงคืนวันพุธ เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อดำเนินการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายต่อไป รัฐบาลทหารระบุในคำแถลง

กองทัพยึดอำนาจหลังกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานว่ามีการโกงในการเลือกตั้งปี 2563 ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี ชนะอย่างถล่มทลาย

ตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลทหารได้ขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินอีกหลายครั้ง ส่งผลให้การเลือกตั้งที่สัญญาว่าจะจัดต้องล่าช้า

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ที่ร่างขึ้นโดยกองทัพ ซึ่งรัฐบาลทหารกล่าวว่ายังคงมีผลบังคับใช้ กำหนดให้ทางการต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 6 เดือน นับจากยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน

สภายังหารือถึงการเตรียมการสำหรับการจัดการเลือกตั้งแบบหลายพรรคในการประชุมที่กรุงเนปีดอ คำแถลงระบุ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

ขณะนี้รัฐบาลทหารกำลังเผชิญกับการพ่ายแพ้ในสนามรบหลายระลอก ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้สนับสนุนกองทัพได้วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความเป็นผู้นำของรัฐบาลทหาร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก

ในปลายเดือน ต.ค. พันธมิตรของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เปิดฉากโจมตีอย่างไม่คาดคิดในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐ ยึดพื้นที่ได้เป็นบริเวณกว้างและควบคุมศูนย์กลางการค้าบริเวณชายแดนจีน

ข้อตกลงสันติภาพที่จีนเป็นคนกลางซึ่งบรรลุในเดือนนี้ต้องชะงักลงจากการสู้รบในภาคเหนือ และกลุ่มพันธมิตรชาติพันธุ์ยังคงคว้าชัยชนะ และการปะทะยังคงดำเนินต่อไปในพื้นที่อื่นๆ

ความพ่ายแพ้ของกองทัพดังกล่าวกระตุ้นให้กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยกลุ่มใหม่ๆ กลับมาจับอาวุธโจมตีกองทัพในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศอีกครั้ง

ในคำกล่าวปราศรัยคืนวันพุธ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า การปะทะกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ยังคงดำเนินอยู่ แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ

เขากล่าวว่ารัฐบาลทหารจะจัดหาทรัพยากรเพิ่มเติมให้กองกำลังอาสาพลเรือนท้องถิ่นที่สนับสนุนการปกครองของตน

เดวิด แมทธีสัน นักวิเคราะห์อิสระเกี่ยวกับพม่า กล่าวว่า การขยายเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเพียงการขยายเวลาให้การปกครองที่กำลังพังทลาย

“ทางเลือกอื่นของรัฐบาลทหารคือการยุติสถานการณ์ฉุกเฉิน และเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง แต่เห็นได้ชัดว่าพวกเขายังไม่พร้อมที่จะทำ และอำนาจในการรักษาความมั่นคงที่อ่อนแอลงยิ่งทำให้เป็นเรื่องยากมาก” ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ จาก International Crisis Group กล่าว

หลังจากรัฐบาลของเธอถูกโค่นล้ม ซูจีในวัย 78 ปี ถูกตัดสินความผิดในหลายคดี ที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวประณามว่าเป็นเรื่องหลอกลวง และเธอถูกตัดสินจำคุกนาน 33 ปี

ความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจของประเทศเสียหาย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ที่ต่อต้านการรัฐประหารได้ลุกขึ้นจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างมีประสิทธิผล และลากกองทัพเข้าสู่หล่มนองเลือด

กลุ่มรัฐบาลทหารจุดไฟเผาหมู่บ้าน สังหารผู้คน และใช้การโจมตีทางอากาศและการระดมทิ้งระเบิดเพื่อลงโทษชุมชนที่ต่อต้านการปกครองของตน กลุ่มสิทธิและฝ่ายตรงข้ามระบุ

ความพยายามทางการทูตที่จะยุติความขัดแย้งนำโดยสหประชาชาติ และสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

ประชาชนมากกว่า 4,400 คน ถูกสังหารในการปราบปรามผู้เห็นต่างของกองทัพ และมีผู้ถูกจับกุมตัวกว่า 25,000 คน ตามการระบุของกลุ่มสังเกตการณ์ท้องถิ่น

ประชาชนมากกว่า 2 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นจากความรุนแรง นับตั้งแต่รัฐประหาร ตามการระบุของสหประชาชาติ.
กำลังโหลดความคิดเห็น