รอยเตอร์ - ผู้นำรัฐบาลทหารพม่ากล่าวตำหนิประเทศต่างๆ ที่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ได้กล่าวขอบคุณอีกหลายประเทศที่ให้ความร่วมมือในเชิงบวก โดยระบุว่า พม่ากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับเพื่อนบ้านเช่น จีน อินเดีย และไทย
ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้เผชิญกับการโดดเดี่ยวจากนานาชาติและการคว่ำบาตรจากตะวันตกนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนำโดยอองซานซูจีเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน
“ผมขอกล่าวขอบคุณประเทศ องค์กร และบุคคลทั้งในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติที่ให้ความร่วมมือเชิงบวกกับเรา ท่ามกลางแรงกดดัน การวิพากษ์วิจารณ์ และการโจมตี” พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี วันประกาศอิสรภาพของพม่า
“เราทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น จีน อินเดีย ไทย ลาว และบังกลาเทศ เราจะทำงานร่วมกันเพื่อความมั่นคงและการพัฒนาชายแดน” พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวสุนทรพจน์ที่ออกอากาศทางโทรทัศน์จากพิธีสวนสนามในกรุงเนปีดอ
พม่าอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจจากรัฐบาลของซูจีในวันที่ 1 ก.พ.2564 ที่ควบคุมตัวเธอและเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ และตอบโต้การชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและผู้เห็นต่างด้วยกำลังรุนแรง ทำให้ประชาชนหลายแสนคนต้องพลัดถิ่น
ขณะที่การชุมนุมประท้วงตามท้องถนนแทบไม่ปรากฏหลังจากการปราบปรามนองเลือด กองทัพยังปะทะกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เกือบทุกวัน ความไม่มั่นคงยังแผ่ขยายไปหลายพื้นที่ทั่วประเทศเมื่อสมาชิกของกองกำลังพิทักษ์ประชาชนจับอาวุธต่อสู้เพื่อกลับคืนสู่ประชาธิปไตย
ในขณะเดียวกัน ซูจียังถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหาทุจริต 5 กระทงเมื่อปลายปีก่อน และถูกตัดสินจำคุกเพิ่มอีก 7 ปี ที่เป็นการสิ้นสุดการพิจารณาคดีอันยาวนาน และถูกประณามจากนานาชาติว่าเป็นเรื่องหลอกลวง ที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของรัฐบาลทหารท่ามกลางการต่อต้านอย่างกว้างขวางต่อการปกครองของตน
ซูจีถูกขังเดี่ยวในกรุงเนปีดอ และกองทัพยืนยันว่าเธอได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมจากศาลที่เป็นอิสระ
สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศต่างๆ เช่นอังกฤษ และแคนาดา ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับทหารพม่าและบุคคลต่างๆ ที่ถือว่าให้การช่วยเหลือให้รัฐบาลทหารขึ้นสู่อำนาจ
เมื่อเดือนที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ลงมติเกี่ยวกับพม่าเป็นครั้งแรกในรอบ 74 ปี เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและเรียกร้องให้รัฐบาลทหารปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทั้งหมด
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยังวิจารณ์ถึงแรงกดดันจากนานาชาติ ที่เขาระบุว่า เป็นการก่อกวนจากประเทศและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการแทรกแซงกิจการภายในของพม่า
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารยังคงได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติอยู่บ้าง เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยังคงมีความเห็นไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับการจัดการกับวิกฤตพม่า โดยจีนและรัสเซียคัดค้านการดำเนินการรุนแรง และทั้งสองประเทศยังงดออกเสียงในมติเมื่อเดือนก่อน เช่นเดียวกับอินเดีย
ส่วนไทยเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาระดับภูมิภาคเมื่อเดือนก่อนเพื่อหารือเรื่องวิกฤตพม่า ที่รวมถึงการปรากฏตัวในระดับนานาชาติที่หาได้ยากของรัฐมนตรีรัฐบาลทหารพม่า แต่สมาชิกหลักบางประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นแกนนำในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารไม่ได้เข้าร่วม
อาเซียนเป็นผู้นำความพยายามทางการทูตเพื่อสันติภาพ และนายพลพม่าถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของกลุ่ม เนื่องจากพม่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่จะเริ่มการเจรจากับฝ่ายตรงข้ามที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลที่ถูกขับไล่ของอองซานซูจี.