เอเอฟพี - กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์พม่ายึดฐานทหารได้อีกจำนวนหนึ่งเมื่อวันเสาร์ (5) ขณะที่พวกเขายังคงเดินหน้าโจมตีเข้าใส่รัฐบาลทหารในพื้นที่ตอนเหนือของประเทศ ตามการรายงานของสื่อท้องถิ่น
การต่อสู้ลุกลามไปทั่วพื้นที่กว้างใหญ่ของรัฐชานใกล้ชายแดนจีนในสัปดาห์นี้ ที่ส่งผลให้ผู้คนมากกว่า 23,000 คน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนของตนเอง ตามการระบุของสหประชาชาติ
กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติพม่า (MNDAA) กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองทัพอาระกัน (AA) ระบุว่าพวกเขายึดฐานทหารของกองทัพได้หลายสิบแห่ง ยึดเมือง 4 เมือง และปิดกั้นเส้นทางการค้าสำคัญไปจีน
รายงานของสื่อท้องถิ่นระบุว่า เมื่อวันเสาร์ (4) นักสู้ของ TNLA ยึดฐานที่ควบคุมโดยกองกำลังทหารอาสาสนับสนุนกองทัพได้ 2 แห่ง ใกล้เมืองล่าเสี้ยว เมืองใหญ่ที่สุดของรัฐชานเหนือ และเป็นที่ตั้งของกองบัญชาการภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกองทัพ นอกจากนี้ TNLA ยังสามารถเข้ายึดฐานใกล้เมืองน้ำคำได้อีก
“เรายึดฐานทหารได้ทั้งหมด 4 แห่ง คือ 2 แห่งที่เมืองล่าเสี้ยว และอีก 2 แห่งที่เมืองน้ำคำ” สมาชิกของ TNLA กล่าวกับเอเอฟพี ขณะที่กลุ่ม MNDAA ระบุว่ายึดฐานทหารได้ 3 แห่งทางตะวันออก
รัฐบาลทหารยังไม่แสดงความคิดเห็นถึงการปะทะในวันเสาร์ (4) แต่เมื่อวันพฤหัสฯ โฆษกของรัฐบาลทหารระบุว่าคำกล่าวอ้างของกลุ่มติดอาวุธที่ว่ายึดเมืองในรัฐชานไว้ได้หลายแห่งนั้นเป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ
เมื่อวันเสาร์ (4) รัฐบาลทหารกล่าวว่ากองทัพเอกราชกะฉิ่น (KIA) กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์อีกกลุ่มหนึ่งที่มีฐานอยู่ในรัฐกะฉิ่นที่อยู่ใกล้เคียง ได้เข้าร่วมการโจมตีต่อต้านกองกำลังของรัฐ ซึ่งรัฐบาลจะตอบโต้การโจมตีเหล่านั้น
สื่อท้องถิ่นรายงานว่ารัฐบาลทหารยิงปืนใหญ่ใส่เมืองลายซา บริเวณชายแดนจีน ที่เป็นที่ตั้งของกองบัญชาการของ KIA
อีกฟากฝั่งหนึ่งของชายแดน ทีมนักข่าวของเอเอฟพีถูกหยุดอยู่ที่ด่านตำรวจในมณฑลหยุนหนาน ห่างจากจุดผ่านแดนของเมืองชินชเวห่อ ราว 50 กิโลเมตร ที่ทหารพม่าระบุเมื่อกลางสัปดาห์ว่าเสียการควบคุมไปแล้ว
ตำรวจจีนกล่าวว่าเฉพาะผู้ที่อยู่อาศัยนอกจุดตรวจหรือคนที่ได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษเท่านั้นที่สามารถผ่านไปได้ เนื่องจากมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่อง
“ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์พิเศษ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่มีใครเข้าไปได้” เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุ
จีนเรียกร้องการหยุดยิงทันทีในรัฐชาน ซึ่งมีการวางแผนสร้างเส้นทางรถไฟมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการโครงสร้างพื้นฐานหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของปักกิ่ง
พื้นที่ชายแดนของพม่าเป็นที่ตั้งของกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์หลายสิบกลุ่ม ที่บางกลุ่มต่อสู้กับทหารมานานหลายทศวรรษเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองและการควบคุมทรัพยากร.