xs
xsm
sm
md
lg

"เจ้ายอดศึก" เสียงเริ่มอ่อนขอทุกฝ่ายในพม่าหันหน้าเจรจาหาทางออกโดยสันติวิธี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เจ้ายอดศึกให้โอวาทแก่เหล่าทหารบนดอยไตแลง ตอนเช้าวันนี้ (ภาพจากการถ่ายทอดสดโดยสำนักข่าว Tai Freedom)
MGR Online - เจ้ายอดศึกออกแถลงการณ์เผยแพร่ 5 ภาษา ในโอกาสครบรอบ 63 ปี “วันปฏิวัติกอบกู้รัฐชาน” เรียกร้องทุกฝ่ายในพม่าให้หันหน้ามาเจรจากันโดยสันติวิธี เพื่อหาทางออกให้แก่สถานการณ์ขัดแย้งในประเทศ

เช้าวันนี้ (21 พ.ค.) ที่ฐานบัญชาการใหญ่ของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) บนดอยไตแลง ตรงข้ามกับอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้มีพิธีเฉลิมฉลองวัน “ปฏิวัติกอบกู้รัฐชาน” ครบรอบ 63 ปี ขึ้นเป็นการภายใน มิได้มีการเชิญแขกเหรื่อจากภายนอกขึ้นไปร่วมงานเหมือนในอดีต ด้วยเหตุผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 และความขัดแย้งทางการเมืองภายในพม่า

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสนี้ RCSS ได้ออกแถลงการณ์เผยแพร่เป็น 5 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทใหญ่ พม่า อังกฤษ ไทย และภาษาจีน

แถลงการณ์ RCSS ฉบับภาษาไทยในวันปฏิวัติรัฐชาน เรียกร้องทุกฝ่ายเจรจากันโดยสันติ
เนื้อหาในแถลงการณ์ได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในพม่าอยู่ในขณะนี้ โดย RCSS ได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันหน้ามาเจรจาเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันโดยสันติวิธี

สำหรับความขัดแย้งระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชาติพันธุ์หลายกลุ่มที่กำลังมีการสู้รบกันอยู่นั้น ขอให้ยึดเนื้อหาในสนธิสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ที่ได้เซ็นกันไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2558 เป็นแนวทางหนึ่งในการเจรจาพูดคุย แม้ว่าอาจยังไม่ใช่แนวทางที่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่หากก่อตั้งสหพันธรัฐที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นมาได้แล้ว จึงค่อยหาหนทางแก้ปัญหาที่สมบูรณ์ต่อไป (รายละเอียดดูในเอกสารเผยแพร่ของ RCSS ฉบับภาษาไทย)

เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ ผู้ก่อตั้งกองกำลังหนุ่มศึกหาญ

เจ้ายอดศึก ทำพิธีวางพวงมาลาอนุสาวรีย์เจ้าเสือข่านฟ้า บนดอยไตแลง เมื่อเช้านี้ (ภาพจากสำนักข่าว Shan News)


ชาวไทใหญ่กำหนดให้วันที่ 21 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันปฏิวัติกอบกู้รัฐชาน” โดยเมื่อ 63 ปีก่อน ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2501 เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวก 31 คน ดื่มน้ำสาบานรวมตัวกันเป็น “กองกำลังหนุ่มศึกหาญกอบกู้เอกราชสู่รัฐชาน” จับอาวุธซึ่งในตอนนั้นมีปืนอยู่เพียง 17 กระบอก เริ่มต้นการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชให้แก่รัฐชาน

ที่มาของการจับอาวุธขึ้นสู้ เนื่องจากกองทัพพม่าไม่ยอมทำตามข้อตกลงที่เขียนไว้ในสนธิสัญญาปางโหลง ที่หลายฝ่ายได้ร่วมลงนามกันไว้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2490 ซึ่งระบุว่า หลังดินแดนพม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษแล้ว 10 ปี รัฐชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ร่วมลงนาม สามารถแยกตัวออกเป็นอิสระได้

แต่เพียง 2 ปี หลังจากอังกฤษให้เป็นอิสระแก่พม่าเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2491 ในปี 2493 กองทัพพม่ากลับส่งกำลังทหารขึ้นมาประจำการอย่างถาวรทั่วรัฐชาน อ้างเหตุผลเพื่อปราบปรามกองกำลังก๊กมินตั๋ง ที่กำลังพ่ายแพ้ต่อกองทัพจีนคอมมิวนิสต์ และถอยร่นลงมาอยู่ในพื้นที่รัฐชาน และจากนั้นก็ไม่มีทีท่าว่าจะให้เอกราชแก่รัฐชานตามที่ได้สัญญากันไว้ เมื่อครบกำหนด 10 ปี ตามที่เขียนไว้ในสนธิสัญญาปางโหลง การต่อสู้จึงเริ่มต้นขึ้น

เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ เป็นบุตรชายของเจ้าก่ำ เจ้าผู้ปกครองเมืองมาวโหลง ภาคเหนือสุดของรัฐชาน สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะได้เข้าร่วมรบโดยสังกัดกองทัพอังกฤษ ได้รับยศทางทหารเป็นร้อยโท และถูกส่งไปประจำการอยู่ในอินเดีย

การจัดตั้งกองกำลังหนุ่มศึกหาญของเจ้าน้อยซอหยั่นต๊ะ ถือเป็นต้นกำเนิดของกองทัพรัฐชาน (Shan State Army : SSA) ที่เกิดขึ้นตามมาในภายหลัง โดยปัจจุบัน SSA มีอยู่ 3 กองทัพ ได้แก่ กองทัพสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA) กองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP/SSA) และกองทัพเมืองลา (NDAA).

เหล่านายทหาร ผู้บัญชาการในกองทัพพรรคก้าวหน้ารัฐชาน ในพิธีเฉลิมฉลองวันปฏิวัติรัฐชาน ซึ่งจัดขึ้นที่กองบัญชาการบ้านไฮ เมืองเกซี เช้าวันนี้ (ภาพจากสำนักข่าว Shan News)




กำลังโหลดความคิดเห็น