xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพม่ารวมตัวเดินขบวนประท้วงครบรอบ 100 วันรัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รอยเตอร์ - ผู้ชุมนุมประท้วงรวมตัวเดินขบวนในเมืองต่างๆ ทั่วพม่าวันนี้ (11) เพื่อประณามผู้ปกครองทหาร 100 วัน หลังบรรดานายพลเข้าโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ทำให้ประเทศเข้าสู่วิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

ผู้ชุมนุมประท้วงเข้าร่วมในการเดินขบวน ขบวนรถจักรยานยนต์ และการประท้วงที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันเพื่อหลบเลี่ยงกองกำลังความมั่นคง บางคนชูสามนิ้วที่เป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้าน ขณะที่กลุ่มต่อต้านการรัฐประหารเรียกร้องการโค่นล้มรัฐบาลทหารที่ถูกประณามทั่วโลกจากการสังหารพลเรือนหลายร้อยคน

รัฐบาลทหารพยายามปกครองประเทศนับตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. แต่การประท้วง การหยุดงาน และขบวนการอารยะขัดขืน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและระบบราชการ ในการปฏิเสธของประชาชนต่อการหวนกลับสู่การปกรองของทหาร

ผู้ชุมนุมประท้วงในนครย่างกุ้งชูป้ายที่มีข้อความเรียกร้องการหยุดงานเพื่อกำจัดศัตรู ขณะที่ผู้ชุมนุมในเมืองผากัน รัฐกะฉิ่น เดินขบวนร้องตะโกนให้การปฏิวัติมีชัย ส่วนผู้ชุมนุมในเขตสะกายและที่อื่นๆ ถือป้ายสนับสนุนการหยุดงานและรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)

ทหารได้จับกุมตัวนางอองซานซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนการรัฐประหารที่พวกเขาระบุว่า เพื่อปกป้องประชาธิปไตย ด้วยพวกเขากล่าวหาว่าการเลือกตั้งเดือน พ.ย. ที่พรรคของซูจีชนะอย่างถล่มทลายนั้นมีการโกงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

แม้จะมีการกำหนดมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างจำกัดจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และประเทศต่างๆ แต่รัฐบาลทหารไม่ได้แสดงท่าทีของการประนีประนอม

การชุมนุมประท้วงในวันอังคาร (11) เกิดขึ้นท่ามกลางความรุนแรงในประเทศ ซึ่งรวมถึงการโจมตีผู้บริหารท้องถิ่นที่รัฐบาลทหารแต่งตั้ง และเหตุระเบิดขนาดเล็ก ที่รัฐบาลทหารกล่าวว่าเป็นผลงานของรัฐบาลที่ถูกขับไล่

ฝ่ายรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติกล่าวว่า ทหารเป็นผู้กำกับควบคุมเหตุความไม่สงบส่วนใหญ่ เพื่อใช้เป็นข้ออ้างในการปราบปรามที่ทวีความรุนแรงขึ้น

การรายงานข่าวและการไหลของข้อมูลข่าวสารภายในพม่าได้รับผลกระทบอย่างหนักนับตั้งแต่การรัฐประหาร ด้วยการจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การห้ามออกอากาศจากต่างประเทศ และการปิดสำนักข่าวบางแห่งจากข้อกล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่นให้ก่อการกบฏ

กองกำลังความมั่นคงสังหารผู้คนไป 781 คน นับตั้งแต่การรัฐประหาร รวมทั้งเด็ก 52 คน และมีคนถูกคุมขัง 3,843 คน ตามการระบุของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง

หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกล่าวว่า ทหารกำลังแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ละความพยายามที่จะรวมอำนาจ

คำแถลงระบุว่า นอกจากการสังหารแล้ว การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นยังรวมถึงการบุกค้นบ้าน การบังคับบุคคลให้สูญหาย การคุมขังอย่างผิดกฎหมาย และการไล่ออกหรือพักงานข้าราชการหลายพันคน

“เป็นที่ชัดเจนว่าการมีส่วนร่วมของนานาชาติเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าเลวร้ายไปกว่านี้” โฆษกสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุ.










กำลังโหลดความคิดเห็น