MGR Online - คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐชานออกหนังสือฉบับที่ 2 แสดงความกังวลหลังพม่ายิงปืนครกใส่ฐาน RCSS บนดอยก่อวัน 2 วันติด วอนรัฐบาลไทยไฟเขียว 2,559 ชีวิต หนีเข้าไทยหากถูกโจมตี เผยมิน อ่องหล่าย พยายามบีบเจ้ายอดศึกให้ถอนทหารออกจากดอยก่อวันตั้งแต่ปีที่แล้ว
หลังทหารพม่ายิงปืนครกใส่ค่ายพักพิงชั่วคราวผู้ลี้ภัยจากสงครามดอยก่อวัน ตรงข้ามบ้านพญาไพร ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย รวม 5 นัด ช่วงเย็นวันที่ 18 เมษายน และบ่ายวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา
เย็นวานนี้ (20 เม.ย.) คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐชาน (พรมแดนไทย) ได้เผยแพร่เอกสาร 4 ภาษา (ไทใหญ่ ไทย พม่า และอังกฤษ) วิงวอนอย่างเร่งด่วนต่อรัฐบาลไทย อนุญาตให้ผู้ลี้ภัย 2,559 คน จากค่ายดอยก่อวัน สามารถหนีข้ามพรมแดนมาฝั่งไทยได้ทันที หากกองทัพพม่าเริ่มโจมตีทหารของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS) ในค่ายดอยก่อวัน และขอทางการไทยหาที่ปลอดภัยให้ รวมถึงให้เหล่าผู้พักพิงเหล่านี้ได้เข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
เนื้อหาในหนังสือเท้าความเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเวลา 17.45 น. วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน ซึ่งมีกระสุนปืนครกขนาด 120 มม. 2 นัด ถูกยิงมาตกลงบนที่นา บริเวณห้วยปางควาย ห่างจากค่ายดอยก่อวันไปทางเหนือ 2 กิโลเมตร และห่างชายแดนไทยประมาณ 2.5 กิโลเมตร
ขณะนั้นมีผู้ลี้ภัยประมาณ 20 คน รวมทั้งเด็กชายอายุ 12 และ 13 ขวบ กำลังดูแลไร่นาและสัตว์เลี้ยงของพวกเขาอยู่บริเวณใกล้จุดกระสุนตก โชคดีไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ มีเพียงชายวัย 51 ปีคนหนึ่ง ถูกแรงอัดจากระเบิด
ต่อมา เวลาประมาณ 18.00 น. มีเสียงยิงปืนครกนัดที่ 3 ดังขึ้น แต่ไม่มีเสียงระเบิดตามมา จึงไม่มีใครทราบว่ากระสุนได้ไปตกลงที่ใด
คืนวันที่ 18 เมษายน ผู้ลี้ภัยในค่ายดอยก่อวันที่มีอยู่ทั้งหมด 2,559 คน ต่างจัดสัมภาระเตรียมพร้อมสำหรับการอพยพ พร้อมนำวัว ควายมา ไปเลี้ยงบริเวณเชิงเขาใกล้กับค่ายที่พักพิงหลัก
ค่ายดอยก่อวันนอกจากเป็นพักพิงชั่วคราวของผู้ลี้ภัยจากสงครามกลางเมืองในรัฐชาน ช่วง พ.ศ.2539-2541 แล้ว ยังเป็นที่ตั้งกองบัญชาการภาคเชียงตุง ของ RCSS มี พ.อ.เจ้ากอนจึน หรือชื่อไทยว่า เจ้าคำกรณ์ชื่น เป็นผู้บัญชาการ
มีรายงานว่า ตอนเช้าที่ 19 เมษายน พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธาน RCSS ได้ทำหนังสือสอบถามไปถึงกองบัญชาการภาคสามเหลี่ยม กองทัพพม่า ในจังหวัดเชียงตุง ขอทราบเหตุผลที่ทหารพม่ายิงปืนครกลงมายังค่ายดอยก่อวัน
แต่กองทัพพม่าได้ตอบกลับตอนเวลา 15.38 น. และ 15.42 น. วันเดียวกัน (19 เม.ย.) ด้วยกระสุนปืนครกอีก 2 นัด ที่ถูกยิงมาตกยังห้วยปางควายที่เดิม อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เพราะนับแต่กระสุน 3 นัดแรกถูกยิงออกมาวันก่อนหน้าก็ไม่มีใครกล้าลงมายังบริเวณอีก
เอกสารของคณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐชานให้ข้อมูลว่า ห้วยปางควายเป็นพื้นที่เกษตรกรรม อันเป็นแหล่งเสบียงสำคัญของผู้ลี้ภัยในค่ายดอยก่อวัน เนื่องจากจุดที่ตั้งค่ายหลักอยู่บนยอดเขา ไม่มีพื้นที่เหมาะต่อการทำการเกษตร และตามปกติในเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ผู้ลี้ภัยต้องปรับหน้าดินเพื่อเตรียมปลูกข้าว ข้าวโพด และถั่วเหลือง
นับตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ซึ่งกองทัพพม่าแจ้งว่าจะมีการโจมตีฐานที่มั่นของ RCSS ตามแนวชายแดนไทย-รัฐชาน ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ต่างหวาดกลัว มีเพียงไม่กี่คนที่กล้าลงไปปรับหน้าดินบริเวณห้วยปางควาย และยิ่งมีการยิงปืนครกลงมาถึง 5 นัดเช่นนี้ เชื่อได้ว่าจากนี้จะไม่มีใครกล้าลงไปอีก
ในเอกสารระบุอีกว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยในค่ายดอยก่อวันได้ข่าวว่าค่ายทหารพม่า 7 กองพัน ได้แก่ กองพันทหารราบเบาที่ 221, 225, 259, 388, 554, 572 และกองพันทหารราบที่ 314 ที่ตรึงกำลังอยู่รอบค่ายดอยก่อวัน ได้มีการเสริมกำลังเข้ามาอีกหลายร้อยนาย ยิ่งเพิ่มความหวาดกลัวให้แก่ผู้ลี้ภัยเหล่านั้นมากขึ้น
บริเวณรอบค่ายดอยก่อวัน นอกจากค่ายทหารพม่าแล้ว ยังมีค่ายทหารกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ตั้งอยู่หลายจุด ทหาร UWSA เหล่านี้ ได้ยึดพื้นที่ในเมืองกาน ด้านตะวันออกของจังหวัดเมืองสาต ซึ่งเคยเป็นที่อยู่อาศัยของผู้อพยพส่วนหนึ่งในค่ายดอยก่อวันไปตั้งแต่เมื่อปี 2543 และได้ย้ายชาวว้าหลายพันคนจากภาคเหนือของรัฐชาน ให้มาอาศัยทำกินอยู่ในเมืองกานแทนชาวไทใหญ่ โดยได้รับอนุญาตจากกองทัพพม่า
คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐชานจึงมีความกังวล และเห็นว่าขณะนี้ผู้ลี้ภัย จำนวน 2,559 คน ในค่ายพักพิงชั่วคราว ผู้ลี้ภัยจากสงครามดอยก่อวัน กำลังตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 เมษายน คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐชาน (พรมแดนไทย) ได้ออกหนังสือฉบับแรก ระบุว่า ตลอดแนวชายแดนไทย-รัฐชาน มีมีค่ายพักพิงของผู้ลี้ภัย 6 แห่ง 5 แห่งอยู่ฝั่งรัฐชาน อีก 1 แห่งอยู่ในฝั่งไทย ได้แก่
- ค่ายพักพิงดอยก่อวัน ตรงกันข้ามบ้านพญาไพร ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 2,559 คน
- ค่ายพักพิงผู้ดอยไตแลง ตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 2,381 คน
- ค่ายพักพิงดอยสามสิบ ตรงข้ามอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 390 คน
- ค่ายพักพิงดอยดำ ตรงข้ามอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 253 คน
- ค่ายพักพิงบ้านกองมุงเมือง ตรงข้ามบ้านรักไทย ตำบลหมองจำแปด อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 221 คน
ส่วนที่อยู่ฝั่งไทยเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านกุงจ่อ ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ 303 คน
วันที่ 30 มีนาคม คณะกรรมการประสานงานชายแดนไทย-พม่า (TBC : Township Border Comittee) ที่ท่าขี้เหล็ก ส่งจดหมายถึง TBC ในอำเภอแม่สาย แจ้งความจำเป็นที่กองทัพพม่าจะโจมตีที่มั่นของ RCSS ตามพรมแดนตรงข้ามจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน เนื่องจาก RCSS แสดงจุดยืนชัดเจนว่าเข้าข้างผู้ประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพพม่า
คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐชาน (พรมแดนไทย) จึงกังวลว่าผู้ลี้ภัยเกือบ 6,000 ที่อยู่ใน 6 ค่าย จะไม่ปลอดภัย จึงได้ร้องขอต่อรัฐบาลไทย อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้หนีข้ามมาในประเทศไทยได้หากมีการโจมตีเกิดขึ้นจริง
8 กันยายนปีที่แล้ว (2563) เมื่อครั้งที่ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ไปประชุมผู้บัญชาการหน่วยคุมกำลังในเมืองตองจี เขาได้กล่าวในที่ประชุมว่า ต้องการจำกัดพื้นที่เคลื่อนไหวของ 2 กองทัพไทใหญ่ คือ RCSS และพรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP) ให้อยู่เฉพาะพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละกองทัพเท่านั้น
โดย RCSS ให้เคลื่อนไหวอยู่แค่บริเวณโดยรอบฐานที่มั่นดอยไตแลง และภาคใต้ของอำเภอเมืองปั่น จังหวัดลางเคอ ส่วน SSPP ให้เคลื่อนไหวเฉพาะบริเวณฐานที่มั่นที่บ้านไฮ อำเภอเกซี จังหวัดดอยแหลม พื้นที่นอกเหนือจากนี้ห้ามมิให้ทั้ง 2 กองทัพ มีความเคลื่อนไหวทางการทหาร
พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ให้เหตุผลว่า เพื่อให้กองทัพพม่าสามารถปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดในรัฐชานได้อย่างเต็มที่
ท่าทีของ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย เกิดขึ้นหลังเพิ่งเสร็จสิ้นการประชุมสันติภาพ หรือประชุมปางโหลง ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 สิงหาคม 2563 ที่กรุงเนปิดอ โดยก่อนการประชุม กองทัพพม่าได้ทยอยเสริมทหารเข้ามาในพื้นที่โดยรอบดอยก่อวัน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563
ระหว่าง พล.อ.เจ้ายอดศึก เดินทางไปประชุมปางโหลง 4 ที่เนปิดอ กองทัพพม่าก็ได้นำโดรนขึ้นบินลาดตระเวนเหนือพื้นที่ดอยก่อวัน
มีรายงานว่า พล.อ.เจ้ายอดศึก ได้แสดงท่าทีออกมาว่า ถ้ากองทัพพม่าต้องการให้ RCSS ถอนทหารออกจากดอยก่อวัน ทุกฝ่ายทั้งพม่าและว้า ก็ต้องถอนทหารออกจากบริเวณนี้ด้วย เพื่อให้ดอยก่อวันเป็นพื้นที่ปลอดทหาร ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดอยู่ขณะนั้น สงบลงได้ ทหารพม่าทยอยถอนกำลังออกจากบริเวณรอบดอยก่อวัน ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน.