MGR Online - ผู้อพยพกว่า 6,000 คน ในค่ายพักพิงชั่วคราวตามตะเข็บชายแดนไทย-รัฐชาน 5 แห่งเครียด หลังกองทัพพม่าประกาศเตรียมเข้าตีที่มั่นทหารไทใหญ่ ทำหนังสือขอรัฐบาลเปิดทางให้เข้ามาพึ่งพิงดินแดนไทย หากมีการโจมตีเกิดขึ้นจริง
หลังจากเมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการประสานงานชายแดนไทย-พม่า (TBC : Township Border Comittee) ที่เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐชานตะวันออก ได้ส่งจดหมายมายัง TBC ฝั่งไทยในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่อยู่ตรงข้าม แจ้งถึงความจำเป็นที่กองทัพพม่าจะต้องโจมตีที่มั่นทางทหารของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน/กองทัพรัฐชาน (RCSS/SSA) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพรมแดน ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน เนื่องจาก RCSS แสดงจุดยืนเข้าข้างผู้ประท้วงที่ต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพพม่า
แม้เนื้อความในจดหมาย ระบุว่า กองทัพพม่าจะพยายามไม่ให้มีกระสุน หรือระเบิดตกข้ามมายังฝั่งไทย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 2 ประเทศ แต่ท่าทีของกองทัพพม่าครั้งนี้สร้างความหวาดกลัวแก่เหล่าผู้ลี้ภัยสงครามภายในที่ได้มาตั้งค่ายพักพิงชั่วคราวอยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-พม้า มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี
ช่วงบ่ายวันนี้ คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐชาน (Shan State Refugee Committee) ได้ออกประกาศแจ้งเตือน ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 เรื่องผู้พลัดถิ่น 6,000 คน ทางตอนใต้ของรัฐชาน พรมแดนไทย เสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากกองทัพพม่าเป็นอย่างมาก
เนื้อความในประกาศเขียนว่า คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐชาน (พรมแดนไทย) Shan State Refugee Committee (Thai Border) กังวลอย่างยิ่งกับความปลอดภัยของผู้พลัดถิ่นเกือบ 6,000 คนทางใต้ของรัฐชานบริเวณพรมแดนประเทศไทย ที่หนีภัยจากการประหัตประหารของกองทัพพม่ามาเกือบ 20 ปี หลังจากที่กองทัพพม่าประกาศจะโจมตีที่ตั้งทางทหารของ RCSS อีกครั้ง เมื่อวันที่ 30 มีนาคม
ท่าทีของกองทัพพม่าครั้งนี้สร้างความหวาดกลัวอย่างมากแก่ผู้อยู่อาศัยในค่ายที่พักพิงชั่วคราวตามบริเวณพรมแดนรัฐชาน-ประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ค่ายที่พักพิงเหล่านี้ตั้งอยู่บนสันเขาโล่ง และอยู่ในระยะที่กองทัพพม่าสามารถยิงปืนใหญ่โจมตีได้
หลายปีที่ผ่านมา ผู้พลัดถิ่นเหล่านี้ต้องตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลา และยิ่งมีข่าวการใช้เครื่องบินโจมตีหมู่บ้านและเหมืองทองในรัฐกะเหรี่ยงเมื่อไม่กี่วันมานี้ ยิ่งเพิ่มหวาดกลัวแก่พวกเขาเหล่านี้มากขึ้น
ทุกวันนี้ ผู้พลัดถิ่นในประเทศไทยได้พยายามหาทางป้องกันตนเองด้วยการจัดทำบังเกอร์หลบภัยในค่ายของตน และเริ่มซักซ้อมการอพยพ เพื่อให้สามารถหลบหนีได้ทันเมื่อเห็นสัญญาณของการโจมตี อย่างไรก็ตาม หากมีการโจมตีเริ่มขึ้นจริง หลักประกันความปลอดภัยของพวกเขามีอยู่เพียงการข้ามมายังพรมแดนฝั่งไทยเท่านั้น
“คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐชาน (พรมแดนไทย) จึงขอวิงวอนอย่างเร่งด่วนต่อรัฐบาลไทย ให้อนุญาตให้ผู้พลัดถิ่นในประเทศเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยทันทีที่เริ่มมีการโจมตี และจัดให้พวกเขามีที่พักพิง ที่หลบภัยอย่างปลอดภัย และเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม”
คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐชาน (พรมแดนไทย) ประกอบด้วยกรรมการค่ายที่พักพิงของผู้พลัดถิ่น 5 แห่ง ซึ่งตั้งตะเข็บชายแดนฝั่งรัฐชาน ประกอบด้วย
- ค่ายพักพิงผู้ดอยไตแลง ตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ค่ายพักพิงบ้านกองมุงเมือง ตรงข้ามบ้านรักไทย ตำบลหมองจำแปด อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- ค่ายพักพิงดอยก่อวัน ตรงกันข้ามบ้านพญาไพร ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
- ค่ายพักพิงดอยคำ ตรงข้ามอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
- ค่ายพักพิงดอยสามสิบ ตรงข้ามอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
นอกจากนี้ ยังมีศูนย์พักพิงชั่วคราวบ้านกุงจ่อ ซึ่งอยู่ในดินแดนไทย ที่ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่
ผู้อพยพเหล่านี้ต่างหลบหนีภัยจากสงคราม ในช่วงทศวรรษ พ.ศ.2533-2543 ซึ่งทางรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าขณะนั้นใช้วิธีปราบปราบกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์อย่างรุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน และทำให้คนนับแสนต้องยอมละทิ้งบ้านเรือน ข้ามมาหลบภัยอยู่บริเวณชายแดนไทย และบางส่วนก็ได้ข้ามเข้ามาเป็นแรงงานอยู่ในประเทศไทย
แม้ว่าหลายปีมานี้ สถานการณ์ในพม่า โดยเฉพาะในรัฐชานเริ่มสงบลงแล้ว แต่ด้วยความหวาดกลัวความโหดร้ายของทหารพม่าในยุคนั้น ทำให้เหล่าผู้อพยพที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวยังไม่กล้าที่จะเดินทางกลับเข้าไปในประเทศ.