ทนายเผยอองซานซูจียังดูแข็งแรงดี หลังถูกควบคุมตัวนาน 2 เดือน ขณะที่นานาชาติเพิ่มความกดดันทางการทูตต่อกองทัพพม่า โดยญี่ปุ่นประกาศระงับความช่วยเหลือ ด้านอเมริกาสั่งเจ้าหน้าที่ทูต ซึ่งไม่มีภารกิจสำคัญพาครอบครัวอพยพออกไปเพื่อความปลอดภัย ขณะเดียวกัน จีนสั่งล็อกดาวน์เมืองรุ่ยลี่ ที่อยู่ติดกับชายแดนพม่า หลังพบผู้ติดเชื้อใหม่ 3 ใน 6 คน เป็นชาวพม่า
มิน มิน โซ หนึ่งในทีมทนายความของอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนของพม่าที่ถูกควบคุมตัวพร้อมการทำรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เผยว่า ได้ถูกเรียกตัวไปที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่งในกรุงเนปิดอว์ เมื่อวันพุธ (31 มี.ค.) เพื่อประชุมทางไกลผ่านจอภาพกับซูจี
หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้นี้ ถูกตั้งข้อหาอาญาหลายข้อหาซึ่งอาจทำให้ถูกลงโทษห้ามรับตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
ทีมทนายความแถลงในเวลาต่อมาว่า จากภาพที่เห็นผ่านวิดีโอ ซูจียังดูแข็งแรงดี อย่างไรก็ตาม ซูจีได้ตั้งข้อสงสัยว่า การที่ตำรวจประกบ มิน มิน โซ ขณะที่ตัวเธอก็มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฝ้าดูอยู่นั้น ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
การควบคุมตัวซูจีและการยึดอำนาจทำให้ชาวพม่าลงถนนประท้วงทุกวัน แม้รัฐบาลทหารปราบปรามด้วยความโหดเหี้ยม ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 520 คน นับจากการรัฐประหาร และนานาชาติพากันประณามและออกมาตรการแซงก์ชัน โดยที่เวลานี้กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธหลายกลุ่มขู่ตอบโต้ หากกองทัพเมียนมายังไม่หยุดเข่นฆ่าประชาชน
สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) ระบุว่า มีประชาชนเสียชีวิตอีก 8 คน เมื่อวันอังคาร (30 มี.ค.) ระหว่างที่ฝูงชนหลายพันคนเดินขบวนในหลายเมืองทั่วประเทศ
ที่กรุงโตเกียว โทชิมิตสึ โมเตงิ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่พม่ารายใหญ่ที่สุด แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันอังคารว่า จะระงับความช่วยเหลือที่ให้แก่พม่า
อย่างไรก็ตาม บรรดานายพลเมียนมาดูไม่ได้สะทกสะท้านต่อแรงกดดันจากต่างชาติ ในวันเสาร์ที่ผ่านมา (27 มี.ค.) ซึ่งเป็นวันกองทัพ ทหารพม่าสังหารประชาชนไปอย่างน้อย 107 คน
วันอังคาร กลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธอย่างน้อย 3 กลุ่มจากทั้งหมดประมาณ 20 กลุ่ม ได้แก่ กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (เอเอ) และกองทัพอาระกัน (เอเอ) ออกแถลงการณ์ว่า จะร่วมต่อสู้กับผู้ประท้วงหากกองทัพพม่ายังไม่ยุติการใช้ความรุนแรง
ขณะเดียวกัน สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) และกองกำลังอิสรภาพกะฉิ่น (เคไอเอ) ได้ระดมโจมตีกองทัพและตำรวจพม่าหนักขึ้นในช่วงหลายวันที่ผ่านมา
การที่เคเอ็นยูเข้ายึดฐานทัพฝ่ายรัฐบาลในรัฐกะเหรี่ยงในช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้กองทัพพม่าโจมตีทางอากาศตอบโต้ และชาวกะเหรี่ยงราว 3,000 คนหนีตายข้ามแดนเข้าไทย
เคเอ็นยู ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏเก่าแก่ที่สุดในพม่า เรียกร้องให้นานาชาติ โดยเฉพาะไทย ช่วยเหลือประชาชนที่หนีการจู่โจมของกองทัพพม่า และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ตัดความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อยุติการใช้ความรุนแรงกับพลเรือน
ชาวพม่ายังหนีข้ามพรมแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือเพื่อขอลี้ภัยในอินเดีย ซึ่งรัฐชายแดนต้องยอมยกเลิกคำสั่งห้ามให้อาหารและที่พักแก่ผู้อพยพหลังถูกประชาชนประณาม
ส่วนที่กรุงวอชิงตัน แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า ประเทศและบริษัทต่างๆ ที่ลงทุนขนาดใหญ่ในกิจการที่สนับสนุนกองทัพพม่า ควรทบทวนจุดยืนของตัวเอง
พร้อมกันนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังสั่งให้เจ้าหน้าที่การทูตของอเมริกาที่ไม่มีภารกิจสำคัญพาครอบครัวออกจากพม่าเพื่อความปลอดภัย
ทางด้านจีน เมืองรุ่ยลี่ที่อยู่ติดกับเมืองมูเซะของพม่า ได้สั่งล็อกดาวน์หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่ง 3 ใน 6 คนเป็นคนพม่า ถือเป็นการระบาดแบบกลุ่มก้อนครั้งแรกในรอบเกือบ 2 เดือน
(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์)