xs
xsm
sm
md
lg

เอาไงต่อ! “ไบเดน” เหลืออดรับไม่ได้เห็นทหารพม่าปราบปรามนองเลือด UN โวยไม่เว้นกระทั่งเด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ (28 มี.ค.) คว่ำครวญต่อเหตุปราบปรามนองเลือดผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา ระบุ “เหลืออดอย่างที่สุด” หลังกองกำลังด้านความมั่นคงสังหารประชาชนไปแล้วมากกว่า 100 ราย ในนั้้นรวมถึงเด็กอย่างน้อยๆ 7 คน

เมียนมาตกอยู่ท่ามกลางความยุ่งเหยิงมาตั้งแต่กองทัพก่อรัฐประหารโค่นอำนาจและควบคุมตัวนางอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โหมกระพือการประท้วงใหญ่เกือบทุกวันเพื่อเรียกร้องคืนสู่ประชาธิปไตย

เอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันเสาร์ (27 มี.ค.) มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 107 รายทั่วเมียนมา จากเหตุกองกำลังด้านความมั่นคงเปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วง ส่วนทางสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตมากถึง 114 ราย ในการปราบปรามผู้ประท้วงครั้งเลวร้ายที่สุดนับแต่กองทัพก่อรัฐประหารยึดอำนาจ

“มันน่าสยดสยอง” ไบเดนบอกกับผู้สื่อข่าวในความเห็นสั้นๆ ระหว่างให้สัมภาษณ์ที่เดลาแวร์ รัฐบ้านเกิด “มันเหลืออดอย่างที่สุด และจากรายงานที่ผมได้รับมา มีผู้คนจำนวนมากต้องมาเสียชีวิตโดยไม่จำเป็นโดยสิ้นเชิง”

เหตุสังหารโหดเมื่อเสาร์ (27 มี.ค.) เกิดขึ้นหลังจากคณะรัฐประหารประกอบพิธีสวนสนาม แสดงแสนยานุภาพเนื่องในวันกองทัพ

สหภาพยุโรปโวยวายความรุนแรงนองเลือดว่าเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ “มันไม่ใกล้เคียงกับการเฉลิมฉลอง กองทัพเมียนมาทำให้เมื่อวานนี้ เป็นวันแห่งความสยดสยองและน่าอดสู” โจเซฟ บอร์เรลล์ ประธานนโยบายต่างประเทศของอียูระบุในถ้อยแถลง

เสียงประณามดังกล่าวมีขึ้นหลังจากบรรดารัฐมนตรีกลาโหม 12 ชาติ ในนั้นรวมถึงสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ออกถ้อยแถลงร่วมที่ไม่พบเห็นบ่อยครั้งนัก ประณามกองทัพเมียนมาเช่นกัน

เอเอฟพีอ้างข้อมูลจากองค์กรเฝ้าระวังระดับท้องถิ่นกลุ่มหนึ่ง ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากการปราบปราบนับตั้งแต่รัฐประหารเพิ่มเป็นอย่างน้อย 423 ราย แต่ทางสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า จำนวนรวมพลเรือนที่เสียชีวิตในสถานการณ์ความรุนแรง พุ่งขึ้นเหนือ 440 รายแล้ว


พิธีศพของเหยื่อผู้เสียชีวิตบางส่วนถูกจัดขึ้นในวันอาทิตย์ (28 มี.ค.) หนึ่งวันหลังจากวันนองเลือดที่สุดนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจ

ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งแม้เต็มไปด้วยอันตราย บรรดาผู้ประท้วงยังคงรวมตัวกันบนท้องถนนอีกครั้งในวันเดียวกัน ในหลายพื้นที่ของเมืองย่างกุ้ง ในนั้นรวมถึงในเขตหล่ายตาร์ยาร์ และตามเมืองต่างๆ เช่น ทวาย บาโก มยินจาน และโมนยวา

ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า กองกำลังด้านความมั่นคงเมียนมายิงใส่ขบวนศพหนึ่งในวันอาทิตย์ (28 มี.ค.) ระหว่างที่ประชาชนทั่วประเทศรวมตัวกันเพื่อไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตกว่า 100 คนที่ถูกสังหารหนึ่งวันก่อนหน้านี้

สื่อมวลชนแห่งรัฐยืนยันว่า ชาย 2 คนและผู้หญิง 2 คนเสียชีวิตที่โมนยวาในวันอาทิตย์ (28 มี.ค.) นอกจากนี้ยังมีรายงานผู้เสียชีวิต 1 รายในมยินจาน

สหประชาชาติระบุจำนวนผู้เสียชีวิตในความรุนแรงเมื่อวันเสาร์ (27 มี.ค.) ที่ 107 คน ในนั้นรวมถึงเด็ก 7 ราย แต่คาดหมายว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้

“มันเป็นพฤติกรรมที่น่าอดสู ขี้ขลาดตาขาว โหดร้ายป่าเถื่อนของทหารและตำรวจ ผู้ที่ถูกบันทึกภาพขณะกำลังยิงใส่พวกผู้ประท้วงตอนที่กำลังหลบหนี พวกเขาไม่เว้นแม้กระทั่งเด็ก พวกเขาต้องหยุดพฤติกรรมนี้ในทันที” อลิซ ไวริมู เอ็นเดอริตู ผู้แทนทูตของสหประชาชาติ และมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุในถ้อยแถลงร่วม

เฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหารองค์การยูนิเซฟ หน่วยงานช่วยเหลือเด็กของสหประชาชาติ ระบุว่า มีรายงานเด็กถูกยิงเสียชีวิต 10 คนเมื่อวันเสาร์ (27 มี.ค.) “นอกเหนือจากผลกระทบทันทีทันใดจากความรุนแรง ผลลัพธ์ระยะยาวของวิกฤตที่มีต่อเด็กๆ ในประเทศแห่งนี้อาจถึงขั้นหายนะ”


สถานีโทรทัศน์เมียวดี ทีวีของกองทัพเมียนมา รายงานว่า ยอดผู้เสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ (27 มี.ค.) อยู่ที่ 45 คน พร้อมเน้นว่ามีประชาชน 552 คนถูกจับ และอ้างการปราบปรามเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะว่าพวกผู้ประท้วงใช้ปืนจริงและระเบิดเล่นงานกองกำลังด้านความมั่นคง

ท่ามกลางการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร พวกกบฏในรัฐกะเหรี่ยงทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมา เผยว่าพวกเขาตกเป็นเป้าหมายโจมตีทางอากาศในช่วงเย็นวันเสาร์ (27 มี.ค.) ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์บุกยึดฐานทัพทหารแห่งหนึ่ง

ฮซา มู สมาชิกชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุยชน เผยว่า มีประชาชน 3 รายเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 8 คนจากปฏิบัติการดังกล่าว

การโจมตีทางอากาศถือเป็นการโจมตีครั้งแรกในรอบ 20 ปีในรัฐแห่งนี้ และมีเป้าหมายที่กองพลที่ 5 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KAREN NATIONAL UNION : KNU) หนึ่งในกลุ่มติดอาวุธใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเพิ่มเติมในวันอาทิตย์ (28 มี.ค.) ส่งผลให้ประชาชนกว่า 2,000 คนจาก 2 หมู่บ้านในรัฐกะเหรี่ยง ลัดเลาะผ่านป่าเขาข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศไทย เพื่อหลบภัย

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิงในปี 2015 แต่ความตึงเครียดเพิ่มสูงขึ้นหลังกองทัพโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของอองซานซูจีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

(ที่มา : เอเอฟพี)


กำลังโหลดความคิดเห็น