xs
xsm
sm
md
lg

พม่าขยายพื้นที่กฎอัยการศึกในย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์ ฆ่าอีก 6 หลังเพิ่งสังหารกว่า 50 เมื่อวันอาทิตย์ ขณะโรงงานจีนหลายสิบแห่งถูกเผา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ประท้วงพากันวิ่งหนีแก๊สน้ำตาที่พวกตำรวจทหารพม่ายิงเข้ามา โดยที่มีพวกเขาบางคนใช้เครื่องดับเพลิงเพื่อต้านทาน  ตรงบริเวณหลังแนวเครื่องกีดขวางแห่งหนึ่ง ในเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อวันจันทร์ (15 มี.ค.)
กองกำลังความมั่นคงพม่ายิงใส่ผู้ประท้วงเสียชีวิตอีก 6 คน ในวันจันทร์ (15 มี.ค.) ภายหลังเมื่อวันอาทิตย์ (14) กลายเป็นวันนองเลือดที่สุด โดยประชาชนกว่า 50 คน สังเวยชีวิต และโรงงานหลายสิบแห่งของจีนในเมืองย่างกุ้งถูกเผาวอด ส่งผลให้คณะปกครองทหารประกาศขยายใช้กฎอัยการศึกในหลายเขตของเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศแห่งนี้ รวมทั้งที่มัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับสอง ตลอดจนบล็อกอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ

พวกผู้สนับสนุนอองซาน ซูจี ผู้นำพลเรือนที่ชนะการเลือกตั้ง ยังคงออกมาชุมนุมประท้วงกันอีกในวันจันทร์ในหลายๆ ส่วนของพม่า โดยในมัณฑะเลย์ และเมืองฮักคาทางตะวันตกการชุมนุมเป็นไปอย่างสงบ แต่ที่เมืองมยินจาน และอองลาน ตอนกลางของประเทศที่ผู้เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า ตำรวจยิงใส่ผู้ประท้วง โดยมีเด็กหญิงคนหนึ่งถูกยิงที่ศีรษะ และเด็กชายอีกคนถูกยิงที่ใบหน้า

สำนักข่าวเมียนมา นาว รายงานว่า มีผู้เสียชีวิต 3 คนในเมืองมยินจาน และอีก 2 คน ในเมืองอองลาน ขณะที่นักหนังสือพิมพ์ผู้หนึ่งในมัณฑะเลย์บอกว่า มีผู้ถูกยิงตายไป 1 คนที่นั่น ภายหลังมีการประท้วงใหญ่ซึ่งผ่านพ้นไปอย่างสันติ

กลุ่มผู้ประท้วงออกไปชุมนุมบนท้องถนนทุกวันอย่างต่อเนื่องนานถึง 6 สัปดาห์แล้วในขณะนี้ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของฝ่ายทหารและเรียกร้องให้ปล่อยซูจี และสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยในวันอาทิตย์ (14) มีผู้เสียชีวิตกว่า 50 คน ถือเป็นวันที่นองเลือดที่สุดนับจากที่กองทัพยึดอำนาจในวันที่ 1 กุมภาพันธ์

เหตุการณ์โจมตีโรงงานของจีนนับสิบแห่งเมื่อวันอาทิตย์ ยังส่งผลให้ปักกิ่งออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างแข็งกร้าวที่สุด โดยสถานเอกอัครราชทูตจีนเรียกร้องให้รัฐบาลทหารยุติความรุนแรง และรับประกันความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของจีน

หนังสือพิมพ์โกลบัลไทมส์ของจีน ระบุว่า โรงงานของจีน 32 แห่ง ถูกโจมตี และทำให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่าถึง 37 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งยังมีคนงานจีน 2 คน ได้รับบาดเจ็บ

ด้านญี่ปุ่นที่พยายามคานอิทธิพลของจีนในพม่า กล่าวว่า กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพิจารณาวิธีรับมือในแง่การร่วมมือทางเศรษฐกิจ

เหตุการณ์รุนแรงที่สุดเมื่อวันอาทิตย์เกิดขึ้นในเขตหล่ายตายา ของเมืองย่างกุ้ง ที่กองกำลังรักษาความมั่นคงสังหารผู้ประท้วงอย่างน้อย 37 คน หลังเหตุโจมตีโรงงานของจีน

สมาคมให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมือง (เอเอพีพี) สำทับว่า มีผู้เสียชีวิตอีก 16 คนในพื้นที่อื่นๆ รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตราว 140 คนนับจากการรัฐประหาร

ขณะเดียวกัน สถานีทีวีของทางการรายงานเมื่อวันจันทร์ ว่า มีตำรวจ 1 นายเสียชีวิตในเมืองพะโค ระหว่างเหตุการณ์การประท้วง

ในตอนแรก ฝ่ายทหารพม่าได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกใน 2 อำเภอของเมืองย่างกุ้งตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์ ภายหลังเกิดเหตุเผาโรงงานของคนจีน ต่อมาในวันจันทร์ ได้มีการขยายพื้นที่ใช้กฎอัยการศึกษาไปในอีกหลายอำเภอของย่างกุ้ง รวมทั้งในหลายพื้นที่ของเมืองมัณฑะเลย์ด้วย การใช้กฎอัยการศึกหมายความว่า ผู้ที่ถูกจับกุมในพื้นที่เหล่านั้นจะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร โดยมีโทษตั้งแต่ใช้แรงงานสถานหนัก 3 ปี จนถึงประหารชีวิต

นอกจากนั้น รัฐบาลทหารยังสั่งให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ

แต่การระงับบริการอินเทอร์เน็ต ก็ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาคดีของซูจี ซึ่งจัดในรูปแบบเสมือนเดิม จากที่เดิมกำหนดไว้ในวันจันทร์นี้ ไปเป็นวันพุธสัปดาห์หน้า (24)

ซูจีถูกควบคุมตัวนับจากการรัฐประหารและถูกตั้งข้อหาอย่างน้อย 4 ข้อหา มีทั้งข้อหาลักลอบนำเข้าวิทยุสื่อสาร และละเมิดมาตรการป้องกันโควิด-19 แล้วล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซูจียังถูกกล่าวหาว่า แอบรับเงิน 600,000 ดอลลาร์ และทองคำจำนวนมาก ระหว่างที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของเธอบริหารประเทศในสมัยที่แล้ว

เหล่าประเทศตะวันตกต่างเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีและประณามการใช้ความรุนแรง ขณะที่เพื่อนบ้านในเอเชียเสนอให้ความช่วยเหลือในการคลี่คลายวิกฤต ทว่า พม่านั้นมีชื่อเสียงมายาวนานในการเพิกเฉยต่อการแทรกแซงของต่างชาติ

ทอม แอนดรูส์ ผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า เรียกร้องให้ชาติสมาชิกยูเอ็นยุติการจัดหาอาวุธและการอัดฉีดเงินให้กองทัพพม่า

เขาเสริมว่า รู้สึกใจสลายและเจ็บแค้นกับข่าวกองกำลังความมั่นคงพม่าคร่าชีวิตผู้ประท้วงจำนวนมากที่สุดในวันเดียวเมื่อวันอาทิตย์ และว่า ผู้นำคณะปกครองทหารไม่สมควรอยู่ในอำนาจ แต่ควรอยู่ในคุกมากกว่า

คริสติน ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของยูเอ็นด้านกิจการพม่า ก็ประณามเหตุนองเลือดเมื่อวันอาทิตย์อย่างรุนแรง ขณะที่อังกฤษแถลงว่า ตกใจมากที่กองทัพพม่าใช้กำลังเข่นฆ่าผู้บริสุทธิ์

สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นองค์การกลุ่มชาติพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุด และต่อสู้มายาวนานก่อนทำข้อตกลงหยุดยิงกับกองทัพพม่าในปี 2012 ได้ร่วมประณามการปราบปรามผู้ประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ และประกาศสนับสนุนผู้ประท้วง

ทางด้านสถานเอกอัครราชทูตจีน กล่าวว่า สถานการณ์ในพม่า “รุนแรงมาก” และเรียกร้องให้ทางการยุติการใช้ความรุนแรงทั้งหมด ลงโทษผู้ยั่วยุปลุกปั่น และรับประกันความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของบริษัทและพลเมืองจีน

ขณะที่โกลบัลไทมส์กล่าวหาผู้ยุยงปลุกปั่นให้มีการโจมตีโรงงานจีน และเรียกร้องให้นำตัวคนเหล่านั้นมาลงโทษ และย้ำว่า จีนพยายามส่งเสริมกระบวนการแก้ไขวิกฤตอย่างสันติ

กระแสต่อต้านจีนในพม่าพุ่งพล่านนับจากการยึดอำนาจ เนื่องจากชาวพม่าที่ต่อต้านการยึดอำนาจมองว่า การที่ปักกิ่งงดวิพากษ์วิจารณ์เท่ากับเป็นการสนับสนุนกองทัพพม่า

ตินซา ชุนเล ยี ผู้นำคนหนึ่งของพวกประท้วง บอกว่า คนพม่าไม่ได้เกลียดชังคนจีนที่เป็นเพื่อนบ้านของตน แต่ผู้นำจีนก็ต้องเข้าใจความโกรธแค้นของคนพม่าที่มีต่อจุดยืนของพวกเขา “รัฐบาลจีนต้องยุติการสนับสนุนสภารัฐประหาร ถ้าพวกเขาใส่ใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-พม่า กันจริงๆ และเพื่อปกป้องธุรกิจต่างๆ ของพวกเขา” เธอโพสต์ข้อความเช่นนี้ทางทวิตเตอร์

(ที่มา: รอยเตอร์, บีบีซี, เอเอฟพี, เอพี)

พวกผู้ประท้วงยืนอยู่ใกล้ๆ แนวเครื่องกีดขวางแห่งหนึ่งที่สร้างกันขึ้นมา ที่เมืองย่างกุ้ง วันจันทร์ (15 มี.ค.)

สมาชิกครอบครัวของผู้ประท้วงคนหนึ่งที่ถูกตำรวจทหารสังหาร ช่วยกันนำเอาโลงบรรจุศพออกมาจากห้องดับจิต ขณะผู้มาร่วมไว้อาลัยพากันชูสามนิ้วสัญลักษณ์ต้านเผด็จการ ที่โรงพยาบาลตินกังยุน ในเมืองย่างกุ้ง วันจันทร์ (15 มี.ค.)

คำเตือน!! ภาพหวาดเสียวอาจรบกวนความรู้สึก ชายผู้หนึ่งซึ่งถูกยิงบาดเจ็บขณะตำรวจทหารบุกเข้าปราบปรามผู้ประท้วง ยังคงชูสามนิ้วสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการ ขณะถูกนำขึ้นเปลมายังโรงพยาบาลในเมืองย่างกุ้ง เมื่อวันอาทิตย์ (14 มี.ค.)  (ภาพถ่ายเมื่อวันอาทิตย์ แต่สำนักข่าวรอยเตอร์นำออกเผยแพร่วันจันทร์ที่ 15)
กำลังโหลดความคิดเห็น