xs
xsm
sm
md
lg

รุนแรงสุดตั้งแต่รัฐประหาร! ทหารพม่าปราบม็อบหลัง รง.ทอผ้าจีนโดนเผา ตายวันเดียว 39 ราย(ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





กองกำลังความมั่นคงสังหารผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหารอย่างน้อย 22 ราย ในย่านอุตสาหกรรมหล่ายตายา ในเมืองย่างกุ้งของพม่าในวันอาทิตย์ (14 มี.ค.) หลังจากโรงงานหลายแห่งที่จีนให้การสนับสนุนทางการเงินถูกเผาในย่านดังกล่าว ขณะเดียวกัน มีผู้ชุมนุมอีก 16 คนเสียชีวิตในสถานที่อื่นๆ เช่นเดียวกับตำรวจ 1 นาย ส่งผลให้มันกลายเป็นวันนองเลือดที่สุดนับต้งแต่รัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ โค่นอำนาจอองซานซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง

สถานทูตจีนระบุว่า พนักงานชาวจีนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บและติดอยู่ในเหตุโจมตีวางเพลิงโดยมือจู่โจมไม่ทราบฝ่ายเล่นงานโรงงานทอผ้าต่างๆ ในย่านอุตสาหกรรมหล่ายตายา พร้อมเรียกร้องให้พม่าปกป้องทรัพย์สินและพลเมืองของจีน ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่จีนถูกมองในฐานะให้การสนับสนุนคณะรัฐประหารที่ทำการยึดอำนาจ

กลุ่มควันลอยพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าจากพื้นที่อุตสาหกรรม ท่ามกลางเสียงปืนของกองกำลังด้านความมั่นคงที่เปิดฉากยิงใส่พวกผู้ประท้วงในย่านดังกล่าวซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของเหล่าแรงงานต่างถิ่นจากทั่วประเทศ ตามรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่น

สื่อมวลชนแห่งรัฐแถลงประกาศอัยการศึกในหล่ายตายา และเขตอื่นของย่างกุ้ง ศูนย์กลางการค้าและเมืองหลวงเก่าของพม่า

สถานีโทรทัศน์เมียวดีที่ควบคุมโดยกองทัพ ระบุว่าปฏิบัติการของกองกำลังด้านความมั่นคงมีขึ้นหลังจากโรงงานทอผ้า 4 แห่งและโรงงานปุ๋ยแห่งหนึ่งถูกเผา และผู้ประท้วงราว 2,000 คน ขัดขวางไม่ยอมให้รถดับเพลิงเข้าไปถึงจุดเกิดเหตุ

นอกเหนือจากหล่ายตายา ยังมีรายงานผู้เสียชีวิตอีกอย่างน้อย 16 รายในที่อื่นๆ ของพม่า ในนั้นรวมถึงที่เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองพะโค โดยที่เมืองพะโคนี้ ทางเอ็มอาร์ทีวี สถานีโทรทัศน์แห่งรัฐ รายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งเสียชีวิตจากบาดแผลบริเวณหน้าอกหลังเผชิญหน้ากับพวกผู้ชุมนุม ทำให้เขากลายเป็นตำรวจนายที่ 2 ที่เสียชีวิตท่ามกลางการประท้วง


ความรุนแรงเกิดขึ้นหนึ่งวันหลัง มาน วิน ข่าย ถั่น ที่อยู่ระหว่างการหลบหนีพร้อมกับเจ้าหน้าที่อาวุโสส่วนใหญ่ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจี กล่าวว่า รัฐบาลพลเรือนจะให้สิทธิตามกฎหมายแก่ประชาชนในการปกป้องตนเอง พร้อมบอกว่ากฎกมายนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันอาทิตย์ (14 มี.ค.)

เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการรองประธานาธิบดีโดยคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ หรือ Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw (CRPH) รัฐบาลคู่ขนาน ซึ่งกำลังผลักดันขอการรับรองจากนานาชาติในฐานะรัฐบาลที่ชอบธรรม

เหตุเสียชีวิตล่าสุด ส่งผลให้ยอดเสียชีวิตรวมนับตั้งแต่มีการประท้วงเพิ่มเป็น 126 คน ขณะที่สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองของพม่าระบุว่าจนถึงวันเสาร์ (13 มี.ค.) มีประชาชนถูกควบคุมตัวแล้วมากกว่า 2,150 คน แต่มีผู้ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วราวๆ 300 ราย

สถานทูตจีนให้คำจำกัดความสถานการณ์ว่า “รุนแรงมาก” ตามหลังเกิดเหตุโจมตีโรงงานต่างๆ ที่จีนสนับสนุนทางการเงิน อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่ได้ออกถ้อยแถลงเกี่ยวกับการเสียชีวิตของผู้ประท้วง

“จีนเรียกร้องให้พม่าดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อหยุดการกระทำที่รุนแรงทั้งหมด ลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายและรับรองความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของบริษัทและบุคลลากรของจีนในพม่า” คำแถลง ระบุ

ยังไม่มีกลุ่มใดอ้างความรับผิดชอบเหตุเผาโรงงานในครั้งนี้


หน้าเฟซบุ๊กของสถานทูตจีนเต็มไปด้วยความคิดเห็นในทางลบเป็นภาษาพม่า โดยความรู้สึกต่อต้านจีนเพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่รัฐประหารฉุดพม่าเข้าสู่ความยุ่งเหยิง ฝ่ายต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพไม่พอใจที่จีนแสดงจุดยืนนิ่งเงียบไม่ประณามรัฐประหาร ต่างจากบรรดาชาติตะวันตก

เอีย ทินซาร์ หม่อง (Ei Thinzar Maung) แกนนำการชุมนุมโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก อ้างมีเวลานี้มีโรงานเพียง 2 แห่งที่เกิดไฟไหม้ “ถ้าคุณต้องการทำธุรกิจในพม่าอย่างมั่นคง จงเคารพประชาชนชาวพม่า สู้ต่อไปหล่ายตายา เราภูมิใจในตัวพวกคุณ!”

คริสทีน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ทูตพิเศษของสหประชาชาติประจำพม่า ประณามในสิ่งที่เธอให้คำจำกัดความว่าความโหดร้ายป่าเถื่อนที่ยังไม่จบสิ้น “ดิฉันทราบโดยส่วนตัวจากเหล่าผู้ติดต่อในพม่า เกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิตที่ใจสลาย การทำทารุณกับพวกผู้ประท้วงและเหตุทรมานนักโทษเมื่อช่วงสุดสัปดาห์”

เธอกล่าวว่า การปราบปรามบ่อนทำลายแนวโน้มสันติภาพและเสถียรภาพ พร้อมร้องขอประชาคมนานาชาติสนับสนุนประชาชนชาวพม่าและแรงบันดาลใจประชาธิปไตยของพวกเขา


ด้านสหราชอาณาจักร อดีตเจ้าอาณานิคมของพม่า บอกว่ารู้สึกตกใจต่อการใช้กำลังถึงตายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ของกองกำลังด้านความมั่นคง ในย่านหล่ายตายาและที่อื่นๆ

“เราเรียกร้องขอให้หยุดความรุนแรงนี้ในทันที และขอรัฐบาลทหารส่งมอบอำนาจคืนสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนชาวพม่า ตามระบอบประชาธิปไตย” เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำพม่ากล่าว

กองทัพพม่าอ้างเหตุเข้ายึดอำนาจ เนื่องจากศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งพรรคของซูจีได้รับชัยชนะนั้นมีการโกงอย่างกว้างขวาง ข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการเลือกตั้งปฏิเสธ พร้อมสัญญาจะจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาที่แน่ชัด

ซูจี ถูกควบคุมตัวนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร และมีกำหนดถูุกนำตัวขึ้นศาลอีกครั้งในวันจันทร์ (15 มี.ค.) โดยเธอต้องเผชิญข้อกล่าวหาอย่างน้อย 4 ข้อหา ในนั้นรวมถึงใช้ใช้วิทยุสื่อสาร หรือวอล์กกี้ทอล์คกี้ อย่างผิดกฎหมาย และละเมิดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น