xs
xsm
sm
md
lg

นองเลือดไม่หยุด! ทหารพม่ายิงผู้ประท้วงดับอีก 12 ศพ ฝ่ายต้านรัฐประหารปลุก “ปฏิวัติประชาชน” (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





กองกำลังด้านความมั่นคงของพม่าสังหารประชาชนอีกอย่างน้อย 12 ราย จากผู้เห็นเหตุการณ์และรายงานของสื่อมวลชน ขณะที่รักษาการผู้นำรัฐบาล “คู่ขนาน” ที่มาจากพลเรือน ประกาศกร้าวระหว่างปราศรัยกับสาธารณชนเป็นครั้งแรกในวันเสาร์ (13 มี.ค.) เร่งเร้า “ปฏิวัติประชาชน” โค่นล้มรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ผู้เห็นเหตุการณ์เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่ามีผู้เสียชีวิต 5 ราย และได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน หลังตำรวจยิงใส่ผู้ชุมนุมที่ปักหลักประท้วงในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ

นอกจากนี้แล้วยังมีรายงานผู้เสียชีวิต 1 คนในเมืองพะเย ทางภาคกลางของประเทศ ขณะที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอีก 2 คนในย่างกุ้ง เมืองศูนย์กลางด้านการค้า ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 3 รายในคืนก่อน

“พวกเขาปฏิบัติกับประชาชนที่ไม่มีอาวุธราวกับอยู่ในเขตสงคราม” มะยัต ทู นักเคลื่อนไหวในมัณฑะเลย์กล่าว พร้อมระบุว่าในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้นมีเด็กอายุ 13 ขวบรายหนึ่งรวมอยู่ด้วย ส่วน สี ธุ ตุน ผู้ประท้วงอีกคนเสริมว่าเขาเห็นประชาชน 2 คนถูกยิงหนึ่งในนั้นเป็นพระสงฆ์รูปหนึ่ง

ในพะเย ผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่าเบื้องต้นกองกำลังด้านความมั่นคงสกัดรถฉุกเฉินคันหนึ่งไม่ให้เข้าไปรับผู้บาดเจ็บ ส่งผลให้ผู้ได้รับบาดเจ็บหนึ่งรายเสียชีวิต ส่วนคนขับรถกระบะในเมืองเชาะ เขตมาเกว ก็ต้องมาจบชีวิตลงเช่นกัน หลังถูกตำรวจยิงเข้าบริเวณหน้าอก จากคำกล่าวอ้างของครอบครัวและเพื่อนๆ

กลุ่มช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่าระบุว่าจนถึงตอนนี้มีผู้เสียชีวิตในพม่าแล้วมากกว่า 70 คน ท่ามกลางการประท้วงที่กำลังลุกลามไปทั่วประเทศ ต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพ


มาน วิน ข่าย ถั่น (Mahn Win Khaing Than) ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ปราศรัยกับประชาชนผ่านเฟซบุ๊ก ระบุ “นี่คือช่วงเวลาที่มืดมิดที่สุดของประเทศ และเป็นช่วงเวลาที่รุ่งอรุณถูกปิดกั้น”

เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการรองประธานาธิบดีโดยคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ หรือ Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw (CRPH) รัฐบาลคู่ขนาน ซึ่งกำลังผลักดันขอการรับรองจากนานาชาติในฐานะรัฐบาลที่ชอบธรรม

ทางกลุ่มประกาศว่ามีความตั้งใจสถาปนาประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ และพวกผู้นำได้พบปะกับตัวแทนจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ใหญ่ที่สุดของพม่าซึ่งควบคุมพื้นที่อันกว้างขวางทั่วประเทศไปแล้ว

“เพื่อจัดตั้งประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ พี่น้องทุกชาติพันธุ์ซึ่งทุกข์ทรมานกับการถูกกดขี่ในรูปแบบต่างๆ นานาจากเผด็จการมานานหลายทศวรรษ มีความปรารถนาอย่างแท้จริง การปฏิวัตินี้คือโอกาสที่เราจะพยายามร่วมกัน” มาน วิน ข่าย ถั่น ระบุ

เขาบอกว่า CRPH จะพยายามออกกฎหมายต่างๆ ที่เป็นเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิปกป้องตนเองและการบริหารราชการจะอยูู่ภายใต้การบริหารของ “คณะบริหารชั่วคราวของประชาชน”

ขบวนการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนซึ่งเริ่มต้นด้วยข้าราชการทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นแพทย์และครู ได้ลุกลามกลายเป็นการนัดหยุดงาน ซึ่งทำให้หลายภาคส่วนของประเทศต้องเป็นอัมพาต


ความเคลื่อนไหวประท้วงในวันเสาร์ (13 มี.ค.) ปะทุขึ้นหลังจากปรากฎข้อความถูกส่งต่ออย่างกว้างขวางบนสื่อสังคมออนไลน์ เรียกร้องประชาชนออกมารำลึกการเสียชีวิตของ โพน หม่อ (Phone Maw) ซึ่งถูกกองกำลังด้านความมั่นคงยิงตายในปี 1988 ภายในสถาบันเทคโนโลยีร่างกุ้ง ณ ขณะนั้น ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีย่างกุ้ง

การเสียชีวิตของเขาและเพื่อนนักศึกษาอีกคนที่เสียชีวิตในอีกหลายสัปดาห์ต่อมา จุดชนวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารทั่วประเทศ หรือที่เรียกว่าการรณรงค์ 8-8-88 เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวใหญ่ที่สุดในวันที่ 8 สิงหาคม 1988 ประมาณกันว่า มีคนถูกกองทัพสังหารระหว่างการปราบปรามมากถึง 3,000 คน

ความเคลื่อนไหวประท้วงในครั้งนั้น ทำให้นางอองซานซูจี กลายเป็นสัญลักษณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยและถูกกักบริเวณในบ้านพักร่วม 2 ทศวรรษ ก่อนได้รับการปล่อยตัวในปี 2010 ครั้งที่กองทัพเริ่มปฏิรูปประชาธิปไตย พร้อมกับนำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย เอาชนะเลือกตั้งปี 2015 และเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีนี้ บรรดานายพลนำกองทัพโค่นอำนาจรัฐบาลของซูจี ควบคุมตัวเธอและสมาชิกรัฐบาลหลายคน อ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน โดยการรัฐประหารครั้งนี้ในพม่า ซึ่งกองทัพมีความใกล้ชิดกับจีน ถือเป็นบททดสอบสำคัญครั้งแรกๆ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในช่วงกลางเดือนมกราคม

ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จัดการประชุมเสมือนจริงกับผู้นำอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เมื่อวันศุกร์ (12 มี.ค.) ที่เป็นการประชุมสุดยอดผู้นำอย่างเป็นทางการครั้งแรกของกลุ่มที่เรียกว่า Quad เป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อความมั่นคงในภูมิภาค

“ในฐานะผู้สนับสนุนพม่าและประชาชนพม่ามาอย่างยาวนาน เราขอเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการฟื้นฟูประชาธิปไตย และความสำคัญของการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น” ผู้นำ 4 ประเทศ ระบุในคำแถลงที่ทำเนียบขาวนำออกเผยแพร่

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น