xs
xsm
sm
md
lg

พม่าไม่สนอเมริกาแซงก์ชันลูกมินอ่องหล่าย ปราบม็อบต่อตายอีก 8-กล่าวหาอองซานซูจีทุจริต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้ประท้วงพากันก้มตัวลงเรี่ยพื้น ระหว่างการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารที่เมืองมไยง์ ทางภาคกลางของพม่าเมื่อวันพฤหัสบดี (11 มี.ค.) ทั้งนี้มีรายงานว่า การประท้วงที่นี่มีผู้ถูกเข่นฆ่าถึง 6 คน (รอยเตอร์ถ่ายภาพนี้จากคลิปวิดีโอที่มีผู้โพสต์ทางสื่อสังคม)
กองทัพพม่าไม่สนมติประณามของยูเอ็น รวมทั้งมาตรการลงโทษล่าสุดของอเมริกาที่พุ่งเป้าลูก 2 คนของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย โดยในวันพฤหัสฯ (11 มี.ค.) ยังคงปราบปรามด้วยความรุนแรง จนมีผู้ประท้วงเสียชีวิตอีก 8 คน พร้อมกันนี้ ยังมีการกล่าวหาโดยไม่แสดงหลักฐานว่าอองซาน ซูจี และสมาชิกคณะรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลชุดที่แล้วคอร์รัปชัน

เจ้าหน้าที่กู้ภัยเผยว่า มีผู้ประท้วงถูกยิงเสียชีวิต 6 คน และบาดเจ็บ 8 คน จากการปราบปรามของกองกำลังความมั่นคงในเมืองมไยง์ ทางภาคกลางของประเทศ โดยผู้เสียชีวิต 5 คน ถูกยิงที่ศีรษะ

ขณะที่พยานผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 1 คน ใน อ.ดากองเหนือ ของนครย่างกุ้ง รูปถ่ายที่โพสต์บนเฟซบุ๊กยังเผยให้เห็นชายคนหนึ่งนอนคว่ำอยู่บนถนนมีเลือดไหลออกจากบาดแผลที่ศีรษะ และมีรายงานผู้เสียชีวิต 1 คน ในเมืองมัณฑะเลย์

นอกจากนั้น เมื่อคืนวันพุธ (10) ตำรวจทหารของพม่ายังบุกค้นหาอาวุธที่อ้างว่าหายไป ในอพาร์ตเมนต์หลายแห่งในเขตซานชองของเมืองย่างกุ้ง

จากข้อมูลล่าสุดจนถึงวันพุธของสมาคมให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมือง ระบุว่า มีผู้ประท้วงเสียชีวิตกว่า 60 คน และถูกควบคุมตัวราว 2,000 คน นับจากที่กองทัพพม่ายึดอำนาจและควบคุมตัวอองซานซูจี พร้อมผู้นำคนอื่นๆ ของรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ทางด้านองค์การนิรโทษกรรมสากล แถลงกล่าวหาว่า กองทัพพม่าใช้อาวุธร้ายแรงที่ใช้ในสงคราม เข้าปราบปรามผู้ประท้วง และการสังหารผู้ประท้วงหลายคนที่มีวิดีโอบันทึกไว้เข้าข่ายการวิสามัญฆาตกรรมและการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ในวันพุธ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ออกคำแถลงประณามการปราบปรามผู้ประท้วง และเรียกร้องให้กองทัพพม่าใช้ความอดกลั้น ซึ่งถือเป็นคำแถลงประณามครั้งที่ 2 ในรอบหนึ่งเดือน อย่างไรก็ดี คณะมนตรีไม่สามารถตกลงกันได้และต้องตัดข้อความประณามการยึดอำนาจ รวมทั้งการขู่ออกมาตรการลงโทษกองทัพพม่าเพิ่มเติม เนื่องจากถูกคัดค้านจากจีน รัสเซีย รวมทั้งอินเดีย และเวียดนาม

อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการยูเอ็น แสดงความหวังว่า คำแถลงของคณะมนตรี จะทำให้กองทัพพม่าตระหนักว่า จำเป็นต้องปล่อยผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดและเคารพผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ด้าน จาง จุน เอกอัครราชทูตจีนประจำยูเอ็น แถลงว่า ถึงเวลาแล้วที่จะยุติความรุนแรง และแก้ปัญหาด้วยแนวทางทางการทูตและการเจรจากันระหว่างฝ่ายต่างๆ

แต่สำหรับอเมริกา กระทรวงการคลังได้ประกาศลงโทษคว่ำบาตร อ่อง ปแย โซน และ น.ส.ขิ่น ธิรี เธต โมน บุตรวัยผู้ใหญ่ของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำคณะทหาร รวมทั้งบริษัท 6 แห่งที่คนทั้งคู่ควบคุม

คำแถลงของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า คนทั้งคู่มีธุรกิจมากมาย ซึ่งล้วนได้ประโยชน์โดยตรงจากตำแหน่งหน้าที่และอิทธิพลของผู้เป็นพ่อ โดยกระทรวงจะอายัดทรัพย์สินของทั้งสองคนที่อยู่ในอเมริกา

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังแถลงประณามกองกำลังความมั่นคงของพม่าที่ปฏิบัติการภายใต้คำสั่งของบรรดาผู้นำกองทัพ ในการโจมตีผู้ประท้วงอย่างสันติด้วยความโหดร้ายรุนแรงนับจากการรัฐประหาร และสำทับว่า มาตรการแซงก์ชันล่าสุดมีจุดประสงค์เพื่อลงโทษผู้ก่อรัฐประหารและผู้ที่ได้ประโยชน์ทางการเงินจากการมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลทหาร

ขณะเดียวกัน ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประกาศระงับการให้ทุนสนับสนุนโครงการในพม่า เพื่อรอให้นานาชาติประเมินสถานการณ์ในประเทศดังกล่าว

ทั้งนี้ กองทัพพม่าอ้างลอยๆ ว่า การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจีชนะขาดลอย มีการโกงอย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจ

ในวันพฤหัสฯ พลจัตวา ซอ มิน ตุน โฆษกของสภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งฝ่ายทหารจัดตั้งขึ้นภายหลังเข้ายึดอำนาจ แถลงว่า นานาชาติไม่จำเป็นต้องกังวลกับสถานการณ์ในพม่า และสำทับว่า สมมติฐานของชาติตะวันตกไม่ถูกต้อง

เขายืนยันว่า กองกำลังความมั่นคงมีระเบียบวินัยและใช้กำลังเมื่อจำเป็นเท่านั้น แต่ยอมรับว่า อาจมีการต่อยตีกันบ้าง แต่ก็เป็นการกระทำจากทั้งสองฝ่ายและเกิดขึ้นจากการยั่วยุ

โฆษกสภาบริหารแห่งรัฐย้ำว่า รัฐบาลทหารเคารพความคิดเห็นของประเทศเพื่อนบ้านและนานาชาติ แต่จะเดินหน้าตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ตอนที่เข้ายึดอำนาจคือ จัดการเลือกตั้งและส่งมอบอำนาจให้พรรคที่ชนะ

นอกจากนั้น รัฐบาลทหารพม่ายังกล่าวหาว่า ซูจีแอบรับเงิน 600,000 ดอลลาร์ และทองคำขณะเป็นรัฐบาล เช่นเดียวกับประธานาธิบดี วิน มิ้น และรัฐมนตรีอีกหลายคนที่ล้วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต

ก่อนหน้านั้นไม่นาน เดอะ มิร์เรอร์ หนังสือพิมพ์ของทางการพม่า รายงานว่า รัฐบาลได้ยกเลิกสถานะองค์กรก่อการร้ายของกองทัพอารากัน (เอเอ) ที่ต่อสู้เพื่ออำนาจการปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยชาวยะไข่แล้ว

เฮิร์ฟ เลมาฮิว ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพม่าจากสถาบันโลวีของออสเตรเลีย เชื่อว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกองทัพพม่าต้องการยุติการต่อสู้กับเอเอ เพื่อให้สามารถโฟกัสกับการจัดการผู้ประท้วงได้อย่างเต็มที่

(ที่มา: เอเอฟพี, รอยเตอร์, เอพี)

ผู้ประท้วงชุมนุมต่อต้านฝ่ายทหารทำรัฐประหาร ในเมืองย่างกุ้ง วันพฤหัสบดี (11 มี.ค.)

ประชาชนวางดอกไม้และเทียนไขบนจุดที่ผู้ประท้วงคนหนึ่งถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ในพื้นที่ของเขตดากองเหนือ เมืองย่างกุ้ง วันพฤหัสบดี (11 มี.ค.)

ผู้ประท้วงยืนพักหลังจากช่วยกันกลิ้งท่อขนาดใหญ่มาขวางถนน เพื่อใช้เป็นเครื่องกีดขวาง ขณะเข้าร่วมในการชุมนุมต่อต้านการรัฐประหารยึดอำนาจของฝ่ายทหาร ที่เมืองย่างกุ้ง วันพฤหัสบดี (11 มี.ค.)
กำลังโหลดความคิดเห็น