สหรัฐฯ คว่ำบาตรบุตร 2 คนของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารพม่า รวมถึง 6 บริษัทที่บุคคลทั้งสองเป็นผู้บริหารกิจการเมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) เพื่อตอบโต้การทำรัฐประหารและการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงในพม่า
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกคำแถลงคว่ำบาตรนาย อ่อง ปแย โซน (Aung Pyae Sone) และ น.ส. ขิ่น ธิรี เธต โมน (Khin Thiri Thet Mon) บุตรวัยผู้ใหญ่ 2 คนของผู้นำทหารพม่า และยังคว่ำบาตรบริษัทอีก 6 แห่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ A&M Mahar ของ อ่อง ปแย โซน ซึ่งกลุ่มนักเคลื่อนไหว Justice for Myanmar ระบุว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเวชภัณฑ์ต่างชาติสามารถขอใบอนุญาตเพื่อเข้าถึงตลาดยาในพม่า
แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ยังขู่สำทับว่าอาจจะมีบทลงโทษเพิ่มเติมอีก พร้อมทั้งประณามเรื่องที่พม่าจับกุมผู้เห็นต่างกว่า 1,700 คน ตลอดจนการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมที่ปราศจากอาวุธ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 53 คน นับตั้งเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ.
“เราพร้อมที่จะใช้มาตรการตอบโต้ต่อกลุ่มบุคคลที่ใช้ความรุนแรง และกดขี่ความปรารถนาของประชาชน โดยไม่ลังเล” บลิงเคน ระบุ
กองทัพพม่าไม่ให้ความใส่ใจต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ และยังคงเดินหน้าปราบปรามการชุมนุมประท้วงเหมือนเช่นที่เคยทำมาในอดีต
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของวอชิงตันจะทำให้บุคคลและบริษัทที่โดนแบล็กลิสต์ถูกอายัดทรัพย์สินในอเมริกา และห้ามมิให้ชาวอเมริกันทำธุรกรรมใดๆ กับคนเหล่านี้
กลุ่ม Justice for Myanmar แถลงเมื่อเดือน ม.ค. ว่า นายพล มิน อ่อง หล่าย ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่ามาตั้งแต่ปี 2011 “ใช้อำนาจโดยมิชอบกอบโกยผลประโยชน์เข้าครอบครัวตัวเอง โดยอาศัยความมีอภิสิทธิ์เข้าถึงทรัพยากรต่างๆ ของรัฐ และวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ของกองทัพ”
จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนเอเชียของฮิวแมนไรต์วอตช์ ออกมาชื่นชมบทลงโทษล่าสุดของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่พุ่งเป้าไปยังทรัพย์สินของ มิน อ่อง หล่าย โดยตรง แต่ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้สหรัฐฯ ใช้มาตรการที่เด็ดขาดยิ่งกว่านี้
“สิ่งเหล่านี้ยังไม่ใช่การลงโทษที่เราเชื่อว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และขอแนะนำให้สหรัฐฯ พิจารณาแหล่งรายได้อื่นๆ ที่มีมูลค่ามหาศาลยิ่งกว่านี้ ซึ่งหากถูกปิดกั้นก็จะทำให้กองทัพพม่ารับรู้ถึงผลกระทบที่ชัดเจนขึ้น” ซิฟตัน ระบุ โดยอ้างถึงอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของพม่าที่มีบริษัทเครือข่ายทหารเข้าไปควบคุมดูแลอยู่
จนถึงขณะนี้ สหรัฐฯ ยังไม่ได้มีบทลงโทษต่อ Myanmar Economic Corporation (MEC) Myanmar และ Economic Holdings Limited (MEHL) สององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพพม่า และมีอิทธิพลครอบงำระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ที่มา: รอยเตอร์