กองกำลังความมั่นคงของพม่าเมินเสียงประณามและการแซงก์ชันจากนานาชาติ สาดกระสุนจริงใส่ผู้ประท้วง ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนรายงานว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตไปอย่างน้อย 18 คนเมื่อวันพุธ (3 มี.ค.) หรือหนึ่งวันหลังจากอาเซียนจัดประชุมเพื่อช่วยหาทางออกให้วิกฤตการณ์นี้ แต่กลับไร้มติเอกฉันท์ในการเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจี และทำได้เพียงขอให้กองทัพเมียนมาใช้ความอดกลั้น โดยภายหลังการประชุม อินโดนีเซียและสิงคโปร์ต่างประณามการไม่ให้ความร่วมมือของรัฐบาลทหารพม่าและการใช้อาวุธร้ายแรงปราบปรามประชาชน
พม่าเข้าสู่กลียุคนับจากที่กองทัพยึดอำนาจและควบคุมตัวอองซานซูจี ผู้นำพลเรือน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการสิ้นสุดเส้นทางประชาธิปไตยที่ยาวนานเพียง 1 ทศวรรษ และจุดชนวนการประท้วงของมวลชน
นานาชาติเพิ่มมาตรการกดดัน เช่น มหาอำนาจตะวันตกออกมาตรการแซงก์ชันเหล่านายพลพม่า และอังกฤษขอให้เปิดประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อพิจารณาเรื่องพม่าอีกครั้งหนึ่ง ในวันศุกร์นี้ (5)
ทว่า รัฐบาลทหารพม่ากลับเพิกเฉยต่อเสียงประณามจากทั่วโลก และตอบโต้ผู้ประท้วงอย่างรุนแรง โดยในวันพุธ มีรายงานว่ากองกำลังความมั่นคงได้ใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ประท้วง โดยแทบไม่มีการเตือน ในเมืองเล็กและเมืองใหญ่หลายแห่ง
เหี้ยมโหดสุดๆ ฆ่าหมู่กันชัดๆ
“มันเหี้ยมโหดสุดๆมันเป็นการฆ่าหมู่กันชัดๆ ไม่มีคำพูดอะไรจะบรรยายสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและความรู้สึกของพวกเราได้” ตินซา ชุนเล ยี นักเคลื่อนไหวที่ยังอยู่ในวัยเยาวชน บอกกับรอยเตอร์ผ่านทางแอปรับส่งข้อความ
ขณะที่ผู้ทำหน้าที่เป็นโฆษกให้แก่สภาปกครองของฝ่ายทหารไม่รับโทรศัพท์ เมื่อสำนักข่าวพยายามติดต่อไปขอความเห็น
โก โบ จี เลขานุการร่วมของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าวในโพสต์ทางทวิตเตอร์ว่า “นับจนถึงตอนนี้ พวกที่เรียกกันว่าฝ่ายทหารได้เข่นฆ่าไปแล้วอย่างน้อย 18 คน”
ในเมืองย่างกุ้ง เมืองใหญ่ที่สุดของพม่า พวกผู้เห็นเหตุการณ์บอกว่ามีผู้ถูกฆ่าไปอย่างน้อย 8 คน คนหนึ่งในช่วงกลางวัน และอีก 7 คนตายเมื่อพวกกองกำลังความมั่นคงเปิดฉากใช้อาวุธปืนอัตโนมัติยิงกันเป็นชุดๆ ในย่านพำนักอาศัยย่านหนึ่งทางตอนเหนือของเมืองเมื่อช่วงหัวค่ำ
“ผมได้ยินเสียงปืนยิงกันต่อเนื่องไม่หยุด ผมนอนราบกับพื้น พวกมันยิงกันเยอะจริงๆ” กอง พแย โซน ตุน ผู้ประท้วงวัย 23 ปีบอกกับรอยตอร์
ขณะที่ ทู้ต ไปง์ ผู้นำการประท้วงในชุมชนแห่งนั้น บอกว่าโรงพยาบาลซึ่งตั้งอยู่ที่ย่านนั้นบอกกับเขาว่ามีคนถูกฆ่าตายไป 7 คน อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวไม่สามารถติดต่อพวกผู้บริหารโรงพยาบาลเพื่อยืนยันเรื่องนี้ได้
ยังมีคนอื่นๆ ถูกสังหารตามสถานที่ต่างๆ เป็นต้นว่า เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 2 ของพม่า, เมืองพะกัน (Hpakant) ทางภาคเหนือ และเมืองมยิงจาน (Myingyan) ทางภาคกลาง
รวมแล้วมีผู้เสียชีวิตรวมแล้วอย่างน้อย 40 คนนับจากการรัฐประหาร
สิ ทู หม่อง แกนนำการชุมนุมประท้วงในเมืองมยินจาน ทางตอนกลางของประเทศ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า “พวกเขาเดินเข้าหาเราและยิงแก๊สน้ำตา พวกเขาเดินเข้ามาอีกและใช้ระเบิดแสง พวกเขาไม่ได้ใช้น้ำแรงดันสูงกับเรา แต่ยิงปืนใส่เรา โดยไม่มีการเตือนให้สลายตัว” ทั้งนี้มีเด็กชายวัยรุ่นคนหนึ่งเสียชีวิตในเมืองมยินจาน
แต่ โก ธิต ซา บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ Monywa Gazette บอกว่า ที่เมืองโมนยวา มีผู้เสียชีวิตมากถึง 5 คน ประกอบด้วย ผู้ชาย 4 คน และผู้หญิง 1 คน
“เราได้รับการยืนยันจากสมาชิกครอบครัวและหมอว่าทั้ง 5 คน เสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 30 คน บางคนยังไม่รู้สึกตัว” โก ธิต วา กล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีรายงานการประท้วงในรัฐชิน ซึ่งอยู่ทางตะวันตก รัฐกะฉิ่น ทางภาคเหนือ และรัฐชาน ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนอีกหลายพื้นที่
ทางด้านพระคาร์ดินัล ชาร์ลส์ หม่อง โบ อาร์คบิชอปแห่งย่างกุ้ง ทวิตว่า เมืองใหญ่ๆ ส่วนใหญ่ของพม่าเวลานี้กลายเป็นจัตุรัสเทียนอันเหมินไปแล้ว ทั้งนี้ผู้นำคริสตจักรคาทอลิกในพม่าผู้นี้หมายถึงเหตุการณ์ปราบปรามการประท้วงซึ่งนำโดยนักศึกษาในกรุงปักกิ่งเมื่อปี 1989
นอกจากนั้น กองกำลังความมั่นคงยังควบคุมตัวผู้ประท้วงราว 300 คนในย่างกุ้ง ตามรายงานของสำนักข่าว เมียนมา นาว
จากคลิปวิดีโอที่มีผู้โพสต์ทางสื่อสังคม แสดงให้เห็นคนหนุ่มๆ เรียงแถวกันโดยมือวางอยู่ที่ศีรษะ ถูกต้อนให้ขึ้นไปยังรถบรรทุกทหารหลายๆ คัน ขณะที่ตำรวจกับทหารยืนเฝ้ารักษาการณ์อยู่ ทั้งนี้รอยเตอร์ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันได้ว่าคลิปวิดีโอนี้เป็นของจริงหรือไม่
ขณะที่ คลิปวิดีโอที่เผยแพร่โดยวิทยุเอเชียเสรี ซึ่งได้ทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ แสดงให้เห็น ตำรวจในย่างกุ้งออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน 3 คนออกมาจากรถฉุกเฉินคันหนึ่ง, ยิงกระจกบังหน้าหน้า, แล้วจากนั้นก็เตะและตีเจ้าหน้าที่เหล่านี้ด้วยพานท้ายปืนและไม้กระบอง
ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
เหตุการณ์รุนแรงนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันอังคาร บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จัดประชุมผ่านวิดีโอคอลและเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าใช้ความอดกลั้น แต่มีสมาชิกเพียง 4 จาก 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีและคนอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวนับจากการรัฐประหาร
บรูไนในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบันออกแถลงการณ์ว่า อาเซียนพร้อมให้ความช่วยเหลือพม่าในวิถีทางที่สร้างสรรค์และสันติ
ภายหลังการประชุม เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย แสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลทหารพม่าไม่ให้ความร่วมมือ ขณะที่นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุงของสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์บีบีซีว่า การรัฐประหารในพม่าเป็นการก้าวถอยหลังอย่างน่าเศร้าใจ และการใช้อาวุธร้ายแรงปราบผู้ประท้วงคือหายนะ
ด้านสื่อของรัฐบาลทหารพม่ารายงานว่า วันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศคคนใหม่ได้เข้าร่วมประชุมกับอาเซียนซึ่งมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาในภูมิภาคและระหว่างประเทศ แต่ไม่พาดพิงถึงปัญหาในพม่าซึ่งเป็นประเด็นหลักของที่ประชุมแต่อย่างใด
วันนา หม่อง ลวินยังแจ้งให้ที่ประชุมอาเซียนรับรู้เกี่ยวกับความผิดปกติในการเลือกตั้งของพม่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน
ทั้งนี้ กองทัพพม่าอ้างว่า รัฐบาลพลเรือนเพิกเฉยต่อการร้องเรียนเรื่องการโกงการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของซูจีชนะขาดลอย
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ใช้ข้ออ้างนี้ในการยึดอำนาจเมื่อต้นเดือนที่แล้ว โดยบอกว่า ต้องการปกป้องระบอบประชาธิปไตยและให้สัญญาจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ไม่ระบุกรอบเวลา
(ที่มา : รอยเตอร์, เอเอฟพี)