รอยเตอร์ - กองกำลังความมั่นคงของพม่าระดมยิงแก๊สน้ำตาและระเบิดแสงเข้าสลายการชุมนุมประท้วงในนครย่างกุ้งในวันเสาร์ (6) เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังผู้แทนพิเศษสหประชาชาติเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงดำเนินการกับรัฐบาลทหารจากการสังหารผู้ชุมนุมประท้วง
ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ตกอยู่ในความโกลาหลวุ่นวายนับตั้งแต่ทหารเข้าโค่นล้มและควบคุมตัวอองซานซูจี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ก.พ. และจากการชุมนุมและการหยุดงานประท้วงที่เกิดขึ้นทุกวันได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและทำให้การบริหารงานเป็นอัมพาต
การชุมนุมประท้วงเกิดขึ้นทั่วประเทศในวันเสาร์ และสื่อท้องถิ่นรายงานว่าตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาและระเบิดแสงเข้าสลายการชุมนุมในเขตซานชวงของย่างกุ้ง โดยยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร มีผู้ชุมนุมประท้วงเสียชีวิตมากกว่า 50 คน ตามการระบุของสหประชาชาติ โดยผู้ชุมนุมเรียกร้องการปล่อยตัวอองซานซูจี และให้เคารพการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ที่พรรคของซูจีชนะอย่างถล่มทลาย แต่กองทัพปฏิเสธผลการเลือกตั้งดังกล่าว
“เราจะปล่อยให้ทหารพม่ารอดพ้นจากการลงโทษไปอีกเท่าใด” คริสติน ชราเนอร์ บูร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ กล่าวต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ
“มันเป็นเรื่องสำคัญที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งนี้จะต้องเด็ดขาดและสอดคล้องกันในการเตือนให้กองกำลังความมั่นคงทราบ และยืนหยัดร่วมกับประชาชนชาวพม่าอย่างมั่นคงในการสนับสนุนผลการเลือกตั้งเดือน พ.ย.” บูร์เกเนอร์ ระบุ
ทั้งนี้ โฆษกรัฐบาลทหารไม่ได้ตอบรับการติดต่อเพื่อขอความคิดเห็น
กองทัพกล่าวว่า ได้ใช้ความยับยั้งชั่งใจในการเข้ายับยั้งการประท้วง แต่ขณะเดียวกันก็ได้กล่าวว่า ทางการจะไม่อนุญาตให้ผู้ชุมนุมคุกคามความมั่นคง
ประชาชนหลายร้อยคนรวมตัวกันในซิดนีย์วันนี้เพื่อประท้วงต่อต้านการรัฐประหาร โดยร้องเพลง และชู 3 นิ้ว
“เราต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียทำงานใกล้ชิดกับรัฐบาลสหรัฐฯ อังกฤษ และสหภาพยุโรป และดำเนินมาตรการแข็งกร้าวกับเผด็จการทหารพม่าเหล่านี้” แกนนำผู้จัดการชุมนุมประท้วง กล่าว
ประชาชนในพม่าตบเท้าลงถนนเป็นจำนวนเรือนแสนอยู่หลายครั้ง โดยพวกเขาให้คำมั่นที่จะเดินหน้าชุมนุมประท้วงต่อเนื่องในประเทศที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของทหารนานเกือบครึ่งศตวรรษ ก่อนจะเริ่มปฏิรูปประชาธิปไตยในปี 2554 แต่ต้องหยุดชะงักลงในตอนนี้
“ความหวังทางการเมืองเริ่มส่องประกาย เราไม่สามารถเสียโมเมนตัมของการปฏิวัติได้ ผู้ที่กล้าต่อสู้จะมีชัยชนะ เราสมควรได้รับชัยชนะ” แกนนำการชุมนุมประท้วงโพสต์เฟซบุ๊ก
ในคืนวันศุกร์ (5) เจ้าหน้าที่ได้เข้ารบกวนหลุมศพของหญิงสาวอายุ 19 ปี ที่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมประท้วง หลังเธอถูกยิงเสียชีวิตโดยสวมเสื้อยืดที่มีข้อความว่า “ทุกอย่างจะโอเค” ตามการระบุของพยานและสื่อท้องถิ่น
พยานคนหนึ่งกล่าวว่า ร่างของ จาล ซิน (Kyal Sin) หรือที่รู้จักในชื่อ แองเจิล ถูกย้ายออกจากหลุมฝังศพในมัณฑะเลย์ในวันศุกร์ ศพถูกตรวจสอบและส่งกลับคืนก่อนปิดผนึกหลุมอีกครั้ง ซึ่งสำนักข่าว Mizzima ก็ได้รายงานเหตุการณ์นี้เช่นเดียวกัน
โฆษกทหารไม่ได้ตอบรับสายที่ติดต่อเพื่อขอความเห็นในเรื่องนี้ และรอยเตอร์ก็ไม่สามารถติดต่อตำรวจเพื่อขอความเห็นได้เช่นกัน
การสังหารผู้ชุมนุมประท้วงสร้างความไม่พอใจให้แก่นานาชาติ
“การใช้ความรุนแรงกับประชาชนของพม่าต้องยุติลงทันที” ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ระบุในทวิตเตอร์ เรียกร้องการปล่อยตัวอองซานซูจี และผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ และฟื้นฟูประชาธิปไตย
ขณะที่สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกบางประเทศ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรอย่างจำกัดกับรัฐบาลทหาร และผู้สอบสวนสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติว่าด้วยพม่า ได้เรียกร้องการคว่ำบาตรการขายอาวุธ และคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแบบมุ่งเป้า
กองทัพเข้ายึดอำนาจจากการกล่าวหาว่ามีการโกงเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปีก่อน ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิเสธข้อกล่าวหา และกองทัพได้ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่โดยที่ยังไม่ได้ระบุเวลาอย่างชัดเจน
ผู้ชุมนุมปฏิเสธแผนดังกล่าวของกองทัพ และกลุ่มที่เป็นตัวแทนของสมาชิกรัฐสภาที่ได้รับเลือกจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ได้เริ่มออกคำแถลงในนามของฝ่ายบริหารพลเรือน โดยกลุ่มได้ระบุข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ประกอบด้วย การยุติรัฐบาลทหาร การปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว ระบอบประชาธิปไตย และการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2551
การรณรงค์อารยะขัดขืนผละงานเกิดขึ้นไปพร้อมกับการชุมนุมประท้วงที่ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนมาก รวมถึงตำรวจอีกจำนวนหนึ่ง
เจ้าหน้าที่อินเดียในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือเผยว่า เจ้าหน้าที่พม่าได้ขอให้ทางอินเดียส่งคืนตำรวจ 8 นาย ที่ลี้ภัยข้ามพรมแดนเพื่อหลีกเลี่ยงการรับคำสั่งจากรัฐบาลทหาร แต่กระทรวงการต่างประเทศของอินเดียระบุว่า กระทรวงยังคงอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้.