มีผู้เสียชีวิต 38 ราย ในเหตุการณ์ทหารพม่าสลายการชุมนุมในหลายเมืองในวันที่ 3 มี.ค.เพียงวันเดียว ถือเป็นวันนองเลือดที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงต่อต้านรัฐประหารเมื่อเดือนที่แล้วปะทุขึ้น เรียกเสียงประณามอย่างดุเดือดอีกครั้งจากทั้งสหประชาชาติ สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป
พวกผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าตำรวจและทหารเปิดฉากสาดกระสุนจริงเข้าใส่ผู้ประท้วง โดยแทบไม่ส่งสัญญาณเตือนใดๆ แม้แต่น้อย
สถานการณ์นองเลือดเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวัน หลังจากบรรดาชาติเพื่อบ้านเรียกร้องให้อดทนอดกลั้น หลังกองทัพโค่นอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของนางอองซานซูจี
หน่วยงานด้านความช่วยเหลือแห่งหนึ่ง เผยว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้นมีเด็กรวมอยู่ด้วย 4 คน ขณะที่สื่อมวลชนท้องถิ่นรายงานว่าพวกผู้ประท้วงถุกจับกุมไปหลายร้อยคน
คริสติน ชราเนอร์ เบอร์กเนอร์ ทูตพิเศษว่าด้วยกิจการพม่าของสหประชาชาติ กล่าวในนิวยอร์กว่า “วันนี้เป็นวันนองเลือดสุดนับตั้งรัฐประหารเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เรามีวันนี้ วันนี้แค่วันเดียวมีคนตาย 38 ราย เวลานี้เรามีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 50 คน นับตั้งแต่รัฐประหารเริ่มต้นขึ้น และบาดเจ็บจำนวนมาก”
ชราเนอร์ เบอร์กเนอร์ เผยต่อว่า ระหว่างพูดคุยกับ พล.อ.อาวุโส โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า เธอได้เตือนเขาว่ากองทัพอาจต้องเผชิญกับมาตรการหนักหน่วงจากบางประเทศ และถูกโดดเดี่ยวในความเคลื่อนไหวตอบโต้การรัฐประหาร
“แต่คำตอบคือ เราชินกับมาตรการคว่ำบาตรแล้ว และเราอยู่รอด” เธอเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังในนิวยอร์ก “ตอนที่ฉันเตือนว่าพวกเขาอาจถูกโดดเดี่ยวด้วย คำตอบคือ เราจำเป็นต้องเรียนรู้สำหรับการก้าวเดินโดยมีเพื่อนน้อยนิดอยู่เคียงข้าง”
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีกำลังเปิดประชุมลับกันในวันศุกร์ (5 มี.ค.) เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า
โบ คยี เลขาธิการร่วมกลุ่มสิทธิมนุษยชน สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองของพม่า เปิดเผยในเบื้องต้นว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย แต่ตัวเลขเพิ่มเป็น 38 ศพในช่วงท้ายๆ ของวัน
ในเมืองย่างกุ้ง พวกผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย ในนั้น 7 คนตายระหว่างที่กองกำลังด้านความมั่นคงเปิดฉากรัวยิงเข้าใส่ย่านที่พักอาศัยแห่งหนึ่งในบริเวณทางเหนือของเมืองในช่วงเย็น
เนด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประทศสหรัฐฯ กล่าวในวอชิงตันว่า สหรัฐฯ ตกใจกับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในพม่า พร้อมบอกว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน กำลังประเมินมาตรการต่างๆ อย่างเหมาะสมเพื่อตอบโต้ และบอกว่าความเคลื่อนไหวใดๆ นั้นจะเล็งเป้าเล่นงานไปที่กองทัพพม่า
นอกจากนี้แล้วโฆษกรายนี้ยังบอกด้วยว่าสหรัฐฯ ได้ส่งสารไปถึงจีน บอกกับพวกเขาว่าอเมริกากำลังรอคอยให้ปักกิ่งเข้ามามีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในพม่า
ด้านสหภาพยุโรประบุว่าการยิงพลเรือนที่ไม่มีอาวุธและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ชัดเจนว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมบอกด้วยว่ากองทัพพม่ากำลังยกระดับปราบปรามสื่อมวลชน โดยพบเห็นผู้สื่อข่าวถูกจับและตั้งข้อหามากขึ้นเรื่อยๆ
ที่เมืองโมนยวา ทางภาคกลาง มีผู้เสียชีวิต 6 ราย ส่วนที่เหลือเสียชีวิตในมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของพม่า เมืองผะก่าน ทางภาคเหนือ และเมืองมยินจาน ทางภาคกลางของประเทศ
องค์การช่วยเหลือเด็ก (Save the Children) ระบุในถ้อยแถลงว่า ในบรรดาผู้เสียชีวิตนั้น มีเด็กรวมอยู่ด้วย 4 ราย ในนั้นรวมถึงเด็กชายวัย 14 ปี ที่ทางวิทยุเอเชียเสรีรายงานว่าถูกทหารนายหนึ่งยิงตาย ระหว่างเดินผ่านขบวนรถบรรทุกทหาร โดยจากนั้นทหารก็นำร่างของหนูน้อยขึ้นรถบรรทุก พาศพออกไปจากที่เกิดเหตุ
สำนักข่าวเมียนมาร์นาว รายงานว่า กองกำลังด้านความมั่นคงเข้าสลายการชุมนุมในย่างกุ้ง ควบคุมตัวผู้ประท้วงไปราวๆ 300 ราย
จากคลิปวิดีโอที่มีผู้โพสต์ทางสื่อสังคมออนไลน์ แสดงให้เห็นคนหนุ่มๆ เรียงแถวกันโดยมือวางอยู่ที่ศีรษะ ถูกต้อนให้ขึ้นไปยังรถบรรทุกทหารหลายๆ คัน ขณะที่ตำรวจกับทหารยืนเฝ้ารักษาการณ์อยู่ ทั้งนี้ รอยเตอร์ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันได้ว่าคลิปวิดีโอนี้เป็นของจริงหรือไม่
ขณะที่คลิปวิดีโอที่เผยแพร่โดยวิทยุเอเชียเสรี ซึ่งได้ทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ แสดงให้เห็นตำรวจในย่างกุ้งออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่การแพทย์ฉุกเฉิน 3 คนออกมาจากรถฉุกเฉินคันหนึ่ง, ยิงกระจกบังหน้าหน้า, แล้วจากนั้นก็เตะและตีเจ้าหน้าที่เหล่านี้ด้วยพานท้ายปืน และไม้กระบอง
เหตุการณ์รุนแรงนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันอังคาร บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จัดประชุมผ่านวิดีโอคอลและเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าใช้ความอดกลั้น แต่มีสมาชิกเพียง 4 จาก 10 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีและคนอื่นๆ ที่ถูกควบคุมตัวนับจากการรัฐประหาร
(ที่มา : รอยเตอร์ / เอเอฟพี)