xs
xsm
sm
md
lg

ไม่จบง่ายๆ! นักเรียนและแพทย์พม่ามีแผนชุมนุมรอบใหม่ต้านรัฐประหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บรรดานักศึกษาและแพทย์ในพม่า มีแผนชุมนุมรอบใหม่ในวันพฤหัสบดี (25 ก.พ.) ในการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ขณะที่วอชิงตันแสดงความกังวลเกี่ยวกับชะตากรรทชาวพม่าราวๆ 1,100 คนที่ถูกทางการมาเลเซียเนรเทศกลับประเทศ

กองทัพเข้ายึดอำนาจเมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลังกล่าวหามีการโกงเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายน ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางอองซานซูจี คว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย พร้อมกับควบคุมตัวเธอและบรรดาแกนนำพรรคส่วนใหญ่

ราว 3 สัปดาห์แล้วที่เกิดการประท้วงรายวัน และในวันพฤหัสบดี (25 ก.พ) พวกนักศึกษาประกาศเดินขบวนกันที่ศูนย์กลางการค้าของเมืองย่างกุ้ง โดยเรียกร้องให้นำเอาหนังสือเรียนส่งเสริมการศึกษาของกองทัพติดมือมาด้วย เพื่อจะได้เผาทำลายระหว่างการชุมนุม

ผู้คนหลากหลายอาชีพและคนงานในหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้เข้าร่วมแคมเปญอารยะขัดขืนเช่นกัน โดยที่คณะแพทย์มีกำหนดจัดการประท้วงในวันพฤหัสบดี (25 ก.พ.) ส่วนหนึ่งในความเคลื่อนไหวทีเรียกว่า “ปฏิวัติเสื้อกาวน์”

พวกสิทธิมนุษยชนกลุ่มหนึ่งระบุว่า จนถึงวันพุธ (24 ก.พ.) มีประชาชนถูกจับกุม ตั้งข้อหาหรือโดนลงโทษไปแล้ว 728 คน ในความเกี่ยวข้องกับการประท้วง

กองทัพพม่าแสดงออกถึงความอดทนอดกลั้นมากกว่าเดิม หากเทียบกับการปราบปรามก่อนหน้านี้ต่อประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตยตลอดเกือบครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ภายใต้ระบอบการปกครองของทหาร

พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่า บอกเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ว่าเจ้าหน้าที่จะเดินตามเส้นทางประชาธิปไตย เจรจากับพวกผู้ประท้วง และตำรวจจะใช้กำลัง ในนั้นรวมถึงกระสุนยางให้น้อยที่สุด ตามรายงานของสื่อมวลชนท้องถิ่น

กระนั้้นก็ตาม มีรายงานผู้ประท้วง 3 ราย และตำรวจ 1 นาย เสียชีวิตในเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม


ในด้านการทูต รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียได้พบหารือกับกองทัพพม่าและเหล่าตัวแทนของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ถูกขับไล่ ในความพยายามคู่คลายวิกฤตรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์

อินโดนีเซียเป็นแกนนำภายในอาเซียน ในความพยายามคลี่คลายสถานการณ์ความยุ่งเหยิงในพม่า โดยเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้พบปะหารือกับ วันนา หม่อง ละวิน ผู้ซึ่งคณะทหารพม่าแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่กรุงเทพฯ ในวันพุธ (24 ก.พ.)

ความพยายามของอินโดนีเซียที่จะคลี่คลายวิกฤตคราวนี้ ได้ก่อให้เกิดความระแวงสงสัยขึ้นในหมู่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า ผู้ซึ่งหวาดกลัวว่าการทำความตกลงกับคณะทหารจะกลายเป็นการให้ฐานะความชอบธรรมแก่พวกผู้ทำรัฐประหารเหล่านี้ รวมทั้งกลายเป็นการยอมรับความพยายามของฝ่ายทหารที่จะยกเลิกการเลือกตั้งเดือน พ.ย. ทั้งนี้ พวกเขายืนยันว่าต้องเคารพยอมรับผลการเลือกตั้ง

เร็ตโน ซึ่งพูดกับพวกผู้สื่อข่าวในกรุงเทพฯ กล่าวว่า ความผาสุกของประชาชนชาวพม่าคือสิ่งที่ต้องถือเป็นความสำคัญอันดับหนึ่ง

“เราขอให้ทุกๆ คนใช้ความอดทนอดกลั้น และไม่หันไปหาความรุนแรง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายและการนองเลือด” เร็ตโน กล่าว ภายหลังจากเธอพูดจากับรัฐมนตรีของพม่า และรัฐมนตรีต่างประเทศ ดอน ปรมัตถ์วินัย ของไทย

ในรายงานชิ้นหนึ่งของรอยเตอร์ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ ได้อ้างอิงแหล่งข่าวหลายราย กล่าวว่า อินโดนีเซียกำลังเสนอให้เหล่าสมาชิกสมาคมอาเซียน ส่งผู้ติดตามดูแลไปทำให้แน่ใจได้ว่าพวกนายพลพม่าจะยึดมั่นทำตามคำสัญญาของพวกเขาในเรื่องที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างยุติธรรม เรื่องนี้กลายเป็นการเพิ่มความระแวงสงสัยในหมู่นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยบางรายว่า การเข้ามาแทรกแซงของอินโดนีเซียอาจเป็นการบ่อนทำลายข้อเรียกร้องของพวกเขาที่ให้ยืนยันผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว


ฝ่ายทหารไม่ได้ให้กรอบเวลาชัดเจนว่าจะจัดเลือกตั้งใหม่ที่พวกเขาสัญญาไว้กันเมื่อใด ถึงแม้เมื่อตอนยึดอำนาจนั้นพวกเขาได้ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี

ในวันพุธ ยังมีผู้ประท้วงหลายสิบคนไปชุมนุมกันที่ด้านนอกสถานเอกอัครราชทูตไทยในนครย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าและเมืองใหญ่ที่สุดของพม่า โดยพวกเขาชูแผ่นป้ายเขียนข้อความอย่างเช่น “เคารพการออกเสียงของเขา” และ “เราโหวตให้ NLD”

เร็ตโนไม่ได้เอ่ยถึงประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง แต่กล่าวว่า อินโดนีเซียขอเน้นย้ำถึง “ความสำคัญของกระบวนการเปลี่ยนผ่านแบบประชาธิปไตยที่ต้อนรับฝ่ายต่างๆ ให้เข้ามีส่วนร่วม”

วิกฤตครั้งนี้ได้ซ้ำเติมภาพลักษณ์ของพม่า หลังจากเคยมีชื่อเสียงด้านลบในฐานะสมาชิกเจ้าปัญหาของ 10 ชาติอาเซียน ทั้งนี้ความพยายามทางการทูตจากบรรดาประเทศเพื่อนบ้านมีขึ้นท่ามกลางความกังวลที่มีมากขึ้นในหมู่ประชาคมนานาชาติ

สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และอื่นๆ กำหนดมาตรการคว่ำบาตรอย่างจำกัดโดยมีเป้าหมายเล่นงานธุรกิจของคณะรัฐประหารและกองทัพ แต่จีนมีธรรมเนียมใช้แนวทางอ่อนโยนกับพม่าในฐานะเพื่อนบ้านอาเซียน

นอกจากนี้แล้ว วอชิงตันยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีที่มาเลเซียเนรเทศชาวพม่าเกือบ 1,000 คน และเรียกร้องประเทศต่างๆ ในภูมิภาคชะลอการส่งกลับประเทศใดๆ ตามหลังรัฐประหาร

นักเคลื่อนไหวตั้งข้อโต้แย้งว่าไม่ควรดำเนินการต่อ เพราะมาเลเซียจะละเมิดหน้าที่รับผิดชอบระหว่างประเทศหากเนรเทศกลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้ และการยึดอำนาจของกองทัพพม่าอาจทำให้พวกเขาตกอยู่ในความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น

มาเลเซียเป็นถิ่นพักอาศัยของผู้ขอลี้ภัยจากพม่ามากกว่า 154,000 คน ส.ส.มาเลเซียหลายคนและกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในวันพุธ (24 ก.พ.) เรียกร้องรัฐบาลให้อธิบายความเคลื่อนไหวเนรเทศชาวพม่า ทั้งที่มีคำสั่งศาลให้ระงับการส่งตัวกลับประเทศ โดยบางส่วนถึงกับกล่าวหาว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวเทียบเท่ากับเป็นการดูหมิ่นศาล

(ที่มา : รอยเตอร์)


กำลังโหลดความคิดเห็น