โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย ยืนยันรัฐมนตรีต่างประเทศที่กองทัพพม่าแต่งตั้งบินมากรุงเทพฯ เมื่อวันพุธ (24 ก.พ.) และได้หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย
นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทย เปิดเผยผ่านแอปฯรับส่งข้อความว่า วันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า เดินทางถึงไทยเมื่อวันพุธ และได้หารือกับ เร็ตโน มาร์สุดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในรัฐบาลไทย ว่า วันนา หม่อง ละวิน เดินทางมาไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับความพยายามทางการทูตของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมทั้งจะเข้าพบนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย
อินโดนีเซียกำลังเป็นผู้ผลักดันความพยายามแก้ไขวิกฤตการเมืองในพม่า โดยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนสมาชิกในอาเซียน แต่ดูเหมือนแผนการของจาการ์ตามีอันต้องสะดุดลง โดยมีการออกคำแถลงเมื่อเช้าวันพุธแล้ว มาร์ซูตีได้ยกเลิกการเดินทางไปเยือนพม่า โดยกระทรวงการต่างประเทศอิเหนา ระบุว่า หลังจากประเมินสถานการณ์ปัจจุบัน และข้อมูลที่ได้รับจากสมาชิกชาติอื่นๆ ทำให้ตัดสินใจว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการเดินทางเยือนพม่า
สำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า อินโดนีเซียเสนอให้สมาชิกอาเซียนส่งคณะผู้แทนไปยังพม่า เพื่อให้แน่ใจว่า บรรดานายพลจะปฏิบัติตามคำสัญญาในการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งแม้ไม่ได้ระบุกรอบเวลาแน่นอน แต่กองทัพประกาศตอนที่ยึดอำนาจว่า จะบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินนาน 1 ปี
ทว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของอองซานซูจีที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน และกองทัพกล่าวหาว่า มีการโกงการเลือกตั้งนั้น ต้องการให้กองทัพยอมรับชัยชนะของพรรค
ฟิวเจอร์ เนชัน อัลไลแอนซ์ กลุ่มเคลื่อนไหวในพม่า แถลงก่อนหน้านี้ว่า การเยือนของเร็ตโนอาจเท่ากับเป็นการยอมรับความชอบธรรมของรัฐบาลทหารพม่า พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ หารือกับ ทิน ลิง อ่อง สมาชิกคณะกรรมาธิการที่เป็นตัวแทนสมาชิกรัฐสภาที่ถูกทหารปลดออก ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ด้านกิจการต่างประเทศแต่เพียงผู้เดียว
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย แถลงยืนยันว่า จาการ์ตาไม่ได้สนับสนุนการเลือกตั้งใหม่ในพม่า
สัปดาหนี้ชาวพม่าตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ได้ออกไปชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ โดยที่ผู้รายงานพิเศษของสหประชาชาติในเรื่องสถานการณ์พม่า ระบุว่า มีจำนวนถึงล้านคน นอกจากนั้น ยังมีผู้ผละงานเพื่อประณามการรัฐประหารและเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจี ตามการรณรงค์ซึ่งใช้ชื่อว่าขบวนการตอารยะขัดขืน ถึงแม้กองทัพเตือนว่า อาจมีผู้คนล้มตายหากเกิดการเผชิญหน้าก็ตาม
ในวันพุธ ผู้ประท้วงจากชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ตลอดจนข้าราชการกระทรวงแรงงาน ไปชุมนุมในย่านธุรกิจของย่างกุ้ง นอกจากนี้ ยังมีการประท้วงในมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ท่ามกลางความกังวลว่า การประท้วงและอารยะขัดขืนกำลังสร้างผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ
วิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้นตอกย้ำคำครหาที่ว่า พม่าคือตัวปัญหาของอาเซียน และกระตุ้นความกังวลของนานาชาติ
เมื่อวันอังคาร (23) บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม จี7 ออกคำแถลงประณามกองทัพพม่าที่ใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงที่ต่อต้านการรัฐประหาร
ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน (22) อเมริกาประกาศแซงก์ชันสมาชิกสำคัญของรัฐบาลทหารพม่าอีก 2 คน และเตือนว่า อาจดำเนินมาตรการลงโทษเพิ่มเติม และสหภาพยุโรป (อียู) เผยว่า กำลังพิจารณาแซงก์ชันธุรกิจของกองทัพพม่า
ด้านจีนระบุว่า การดำเนินการของนานาชาติควรส่งเสริมให้เกิดเสถียรภาพและความปรองดอง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการทำให้สถานการณ์ในพม่าซับซ้อนวุ่นวายมากขึ้น