รอยเตอร์ - รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของพม่าเดินทางเยือนไทยวันนี้ (24) ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวของรัฐบาลไทย ในขณะที่เพื่อนบ้านของพม่าทวีความพยายามที่จะแก้ไขวิกฤตที่เริ่มขึ้นเมื่อกองทัพเข้ายึดอำนาจในการรัฐประหารวันที่ 1 ก.พ.
วันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า เดินทางมาไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับความพยายามทางการทูตของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าว ขณะที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐประหารกลับมาลงถนนชุมนุมประท้วงกันอีกครั้งในพม่า
อินโดนีเซียได้กลายเป็นผู้นำความพยายามที่จะหาทางออกให้แก่วิกฤตด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนสมาชิกอาเซียน แต่แผนดังกล่าวดูเหมือนจะสะดุดลง หลังจากรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียยกเลิกแผนการเดินทางเยือนพม่า
ในช่วงสัปดาห์นี้ มีการชุมนุมประท้วงขนาดใหญ่และการผละงานประท้วงครั้งใหญ่เพื่อประณามการรัฐประหารและเรียกร้องการปล่อยตัวอองซานซูจี แม้ทางการจะออกคำเตือนว่าการเผชิญหน้าอาจทำให้มีผู้เสียชีวิต
ผู้ชุมนุมประท้วงจากชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ได้ร่วมลงถนนเดินขบวนในวันนี้ พร้อมกับพนักงานจากกระทรวงพลังงาน ท่ามกลางความวิตกเพิ่มขึ้นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการประท้วง ที่ดำเนินไปพร้อมกับการผละงานที่เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์อารยะขัดขืน
“เศรษฐกิจไม่ดี มันซบเซา แต่น่าจะกลับสู่ภาวะปกติเมื่อทหารคืนอำนาจให้แก่พรรคที่ชนะที่เราลงคะแนนเสียงให้” วิน เต็ง อายุ 56 ปี เจ้าของร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าในย่างกุ้ง กล่าว
แหล่งข่าวเผยว่า ในสัปดาห์นี้อินโดนีเซียได้เสนอแผนให้ชาติสมาชิกอาเซียนส่งผู้ตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่านายพลพม่าจะยึดมั่นต่อคำสัญญาของพวกเขาที่จะจัดการเลือกตั้งที่ยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม แม้กองทัพพม่าจะไม่ได้ระบุถึงกรอบเวลาสำหรับการเลือกตั้งใหม่ แต่กำหนดให้ประเทศอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี หลังเข้ายึดอำนาจ ซึ่งการเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นหลังจากนั้น
แต่พรรคของซูจี ที่กวาดชัยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. แต่กลับถูกทหารระบุว่าเต็มไปด้วยการทุจริตฉ้อโกง และผู้สนับสนุนต้องการให้ชัยชนะของพรรคได้รับการยอมรับ
เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ที่กำลังอยู่ในไทย คาดว่าจะเดินทางไปพม่า แต่แผนการเดินทางดังกล่าวถูกยกเลิก ตามการเปิดเผยของกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย
“หลังคำนึงถึงสถานการณ์ในปัจจุบันและข้อมูลของประเทศอื่นๆ ในอาเซียน นี่ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะเดินทางเยือน” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย กล่าวในกรุงจาร์กาตา
เมื่อวันอังคาร (23) ผู้ชุมนุมประท้วงหลายร้อยคนรวมตัวกันนอกสถานทูตอินโดนีเซียในนครย่างกุ้งเพื่อคัดค้านการเลือกตั้งใหม่ เรียกร้องให้ยอมรับคะแนนเสียงของพวกเขาในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย.
กองทัพเข้ายึดอำนาจหลังกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. เข้าควบคุมตัวซูจีและผู้นำพรรคอีกจำนวนมาก แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะปฏิเสธการร้องเรียนเรื่องโกงเลือกตั้งก็ตาม
Future Nation Alliance กลุ่มนักเคลื่อนไหวในพม่า ระบุในคำแถลงเกี่ยวกับการเยือนพม่าของเร็ตโนว่าจะเท่ากับเป็นการยอมรับรัฐบาลทหาร
กลุ่มเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ต่างประเทศพบหารือกับ ติน ลิน อ่อง สมาชิกของคณะกรรมการตัวแทนรัฐสภา (Committee Representing Pyidaungsu Hluttaw - CRPH) ที่เป็นสมาชิกรัฐสภาที่ถูกปลดในการรัฐประหาร ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพียงผู้เดียว
ผู้ชุมนุมประท้วงในเมืองมัณฑะเลย์ยังรวมตัวเดินขบวนในวันนี้ ชูป้ายสนับสนุน CRPH นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ามีขบวนช้างเดินขบวนด้วย
ความพยายามของเพื่อนบ้านของพม่าที่จะช่วยแก้ไขวิกฤตเกิดขึ้นท่ามกลางความวิตกกังวลของนานาประเทศที่ขยายตัวมากขึ้น
กลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) ได้ออกคำแถลงเมื่อวันอังคาร (23) ประณามการข่มขู่และการปราบปรามผู้คัดค้านการรัฐประหารโดยระบุว่า ผู้ที่ตอบสนองต่อการชุมนุมประท้วงอย่างสันติด้วยความรุนแรงจะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น
ชาติตะวันตกพยายามเพิ่มแรงกดดันต่อรัฐบาลทหารในสัปดาห์นี้ โดยสหภาพยุโรปเตือนว่า กำลังพิจารณามาตรการคว่ำบาตรโดยมุ่งเป้าไปยังธุรกิจของกองทัพ ส่วนสหรัฐฯ ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรกับสมาชิกของคณะรัฐบาลทหารเพิ่มอีก 2 นาย และเตือนว่าจะดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอีก
ด้านจีน ที่มักใช้แนวทางที่นุ่มนวลกว่า ระบุว่าการดำเนินการระหว่างประเทศควรสนับสนุนให้เกิดความมั่นคง ส่งเสริมความปรองดอง และหลีกเลี่ยงการทำให้สถานการณ์ซับซ้อนยิ่งขึ้น
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้เรียกร้องให้ลดงบประมาณรัฐ ลดการนำเข้าสินค้า และเพิ่มการส่งออกเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดไม่ได้เชื่อมโยงการชุมนุมประท้วงกับปัญหาเศรษฐกิจ แต่ระบุว่าทางการกำลังดำเนินการตามวิถีทางประชาธิปไตยเพื่อรับมือกับผู้ชุมนุม และตำรวจใช้กำลังน้อยที่สุด เช่น กระสุนยาง สื่อของรัฐรายงาน
กองกำลังความมั่นคงได้แสดงความยับยั้งชั่งใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับการปราบปรามก่อนหน้ากับประชาชนที่ผลักดันประชาธิปไตยในช่วงการปกครองโดยตรงของทหารเกือบครึ่งศตวรรษ แต่ถึงกระนั้น ก็มีผู้ชุมนุมถูกยิงเสียชีวิต 3 คน และกองทัพกล่าวว่า มีตำรวจเสียชีวิต 1 นาย จากอาการบาดเจ็บระหว่างการชุมนุมประท้วง.