วิกฤตการเมืองพม่าส่อเค้าทวีความรุนแรง ล่าสุด กองกำลังความมั่นคงใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารดับอีกอย่างน้อย 38 ราย ในวันพุธ (3 มี.ค.) ขณะที่ความพยายามแก้ไขปัญหาผ่านกลไกการทูตของ “อาเซียน” ก็แทบไม่มีความคืบหน้า
ชาวพม่าได้นัดชุมนุมใหญ่ต่อเนื่องมานานหลายสัปดาห์ โดยเรียกร้องให้กองทัพปล่อยตัวอองซาน ซูจี และเคารพผลการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย. ในขณะที่กองกำลังความมั่นคงก็ดูเหมือนจะเลือกใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้เห็นต่างหนักหน่วงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่แคร์เสียงประณามจากชาติมหาอำนาจ
กระนั้นก็ตาม การเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะซาลง และวันพุธที่ 3 มี.ค. ก็กลายเป็นวันนองเลือดที่สุดนับตั้งแต่กองทัพพม่าประกาศยึดอำนาจการปกครอง โดยรายงานจากสื่อและนักเคลื่อนไหวยืนยันว่า มีผู้ประท้วงตามเมืองต่างๆ ถูกสังหารไปไม่ต่ำกว่า 38 ราย ภายในวันเดียว ทำลายสถิติยอดตาย 18 ศพที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยืนยันเมื่อวันอาทิตย์ (28 ก.พ.)
เหตุปะทะได้เกิดขึ้นที่นครมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ รวมถึงที่นครย่างกุ้งซึ่งผู้ประท้วงได้มีการขนยางรถยนต์และลวดหนามมากีดขวางบนถนนสายสำคัญ เพื่อชะลอการเคลื่อนกำลังพลของตำรวจ ขณะที่พยานหลายคนยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุม
โบ คยี เลขาธิการร่วมกลุ่มสิทธิมนุษยชน สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองของพม่า เปิดเผยในเบื้องต้นว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย แต่ตัวเลขเพิ่มเป็น 38 ศพในช่วงท้ายๆ ของวัน
“ตอนนี้เมืองใหญ่ๆ หลายแห่งในพม่าไม่ต่างอะไรกับจัตุรัสเทียนอันเหมิน” พระคาร์ดินัล หม่อง โบ อาร์ชบิชอปแห่งย่างกุ้ง ทวีตข้อความเมื่อวันพุธ (3) โดยเปรียบเทียบสถานการณ์ในพม่าตอนนี้ว่า เลวร้ายพอๆ กับการปราบปรามขบวนการนักศึกษาที่กรุงปักกิ่ง เมื่อปี 1989
ที่เมืองย่างกุ้ง ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่า มีคนถูกสังหารอย่างน้อย 8 ราย โดยมีอยู่ 8 รายที่เสียชีวิตระหว่างที่กองกำลังความมั่นคงเปิดฉากรัวยิงเข้าใส่ย่านที่พักอาศัยแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของเมืองในช่วงเย็น
วันเดียวกัน สื่อท้องถิ่น Monywa Gazette รายงานว่า ผู้ประท้วง 5 คน เป็นชาย 4 หญิง 1 ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตที่เมืองโมนยวาซึ่งเป็นเมืองใหญ่สุดของเขตซะไกง์ (Sagaing) ขณะที่ ซี ทู หม่อง แกนนำผู้ประท้วงที่เมืองมยินจาน (Myingyan) อ้างว่าตำรวจเป็นฝ่ายเดินเข้าหาผู้ชุมนุมประท้วง พร้อมกับยิงแก๊สน้ำตาและระเบิดเสียง
“พวกตำรวจไม่ได้ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ไม่มีการเตือนให้ผู้ชุมนุมสลายตัว พวกเขายิงอย่างเดียวเลย” เขากล่าว
โม มินต์ ไฮน์ นักศึกษาวัย 25 ปี ซึ่งออกมาร่วมประท้วงที่เมืองมยินจาน บอกกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ว่า “พวกตำรวจยิงใส่เราด้วยกระสุนจริง มีคนเสียชีวิต 1 คน ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ เขายังเป็นแค่เด็กวัยรุ่นอยู่เลย”
สำนักข่าว Myanmar Now รายงานว่า มีผู้ประท้วงถูกจับประมาณ 300 คน หลังจากที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมที่นครย่างกุ้งเมื่อวันพุธ (3) และมีแกนนำหลายคนถูกตำรวจควบคุมตัว ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์คลิปวิดีโอผู้ประท้วงหลายคนเดินยกมือไว้เหนือศีรษะขณะที่ถูกตำรวจและทหารกวาดต้อนไปขึ้นรถบรรทุก
เหตุนองเลือดนี้เกิดขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้เปิดการประชุมทางไกลเมื่อวันอังคาร (2) โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดทนอดกลั้น แต่ทว่าอาเซียนเองก็ไม่สามารถรวมเสียงเป็นหนึ่งเดียวเพื่อเรียกร้องให้กองทัพพม่าปล่อยตัวอองซาน ซูจี และผู้นำทางการเมืองที่ถูกจับกุม โดยข้อเรียกร้องที่ว่านี้มีเพียง 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เท่านั้นที่ให้การสนับสนุน
“เราแสดงความพร้อมของอาเซียนที่จะช่วยเหลือพม่าในวิถีทางที่สร้างสรรค์และสันติ” คำแถลงจากบรูไนซึ่งดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ระบุ
สื่อทางการพม่ารายงานว่า วันนา หม่อง ลวิน (Wunna Maung Lwin) รัฐมนตรีต่างประเทศที่ฝ่ายทหารแต่งตั้งขึ้น ได้เข้าร่วมการประชุมอาเซียน “เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ” แต่ไม่ได้เอ่ยถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาในพม่าแต่อย่างใด
รายงานยังระบุด้วยว่า วันนา หม่อง ลวิน ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับ “ความผิดปกติของการลงคะแนนเสียงในศึกเลือกตั้ง” เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว
กองทัพพม่าอ้างเหตุอันชอบธรรมในการก่อรัฐประหาร โดยระบุว่า ข้อร้องเรียนของพวกเขาเกี่ยวกับการโกงการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. ถูกเพิกเฉย ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของพม่า ยืนยันว่า กระบวนการทุกอย่างสะอาดโปร่งใส และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซาน ซูจี คือ ฝ่ายที่ได้ชัยชนะอย่างถล่มทลาย
พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ยืนยันว่า กองทัพจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงเพื่อปกป้องประชาธิปไตยของพม่าที่ยังอยู่ในระยะตั้งไข่ พร้อมทั้งรับปากว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างแน่นอน ทว่า ปฏิเสธที่จะให้กรอบเวลา
นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคาร (2) ว่า รัฐประหารคือ “การก้าวถอยที่น่าเศร้า” สำหรับพม่า และการที่กองกำลังความมั่นคงใช้ยุทธวิธีรุนแรงถึงขั้นทำให้มีคนเสียชีวิตนั้นเป็น “หายนะ” ที่ไม่อาจจะรับได้
อย่างไรก็ดี การจัดประชุมของอาเซียนก็จุดกระแสวิจารณ์ภายในพม่า โดยนักเคลื่อนไหวส่วนใหญ่มองว่านี่คือการสร้างความชอบธรรมให้รัฐบาลทหาร ไม่ใช่การช่วยเหลือประชาชน
“หยุดใช้คำพูด แต่ขอให้ลงมือทำดีกว่า” ทินซาร์ ชุนเล ยี นักเคลื่อนไหวสตรีชาวพม่า ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความพยายามของอาเซียน พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรบริษัทต่างๆ ที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพ
นักการทูตและนักวิเคราะห์หลายคนระบุว่า รูปการณ์ที่พอจะเป็นไปได้มากที่สุดใน “ระยะสั้น” ก็คือ การที่อาเซียนสนับสนุนให้รัฐบาลทหารพม่ากับฝ่ายต่อต้านยอมเปิดเวทีเจรจา เพื่อไม่ให้เกิดการนองเลือดมากไปกว่านี้ ส่วนใน “ระยะยาว” นั้นรัฐบาลอินโดนีเซียได้เสนอแผนให้อาเซียนตั้งคณะผู้สังเกตการการเลือกตั้งพม่า เพื่อให้กระบวนการออกเสียงเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม สร้างเงื่อนไขให้กองทัพสละอำนาจ และนำพม่ากลับสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี สมาชิกรัฐสภาพม่าที่ถูกขับพ้นตำแหน่ง รวมถึงผู้ประท้วงส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้ และยังคงเรียกร้องให้เคารพผลการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วซึ่งพรรคของ ซูจี เป็นฝ่ายชนะ
อองซาน ซูจี นักการเมืองหญิงวัย 75 ปี ผู้เป็นสัญลักษณ์ประชาธิปไตยพม่า ถูกนำตัวขึ้นศาลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ (1) และโดนตั้งข้อหาเพิ่มอีก 2 กระทง หลังจากที่ไม่ได้ปรากฏตัวในที่สาธารณะอีกเลยนับตั้งแต่โดนกองทัพควบคุมตัวพร้อมผู้นำพรรค NLD คนอื่นๆ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.
ทนายส่วนตัวยืนยันว่า ซูจี ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี แม้จะไม่สามารถติดต่อกับใครได้ก็ตาม
ในช่วงแรกๆ ซูจี ถูกฝ่ายทหารตั้งข้อหาลักลอบนำเข้าวิทยุสื่อสารอย่างผิดกฎหมายจำนวน 6 เครื่อง โดยอ้างว่าค้นเจอในบ้านพักของเธอที่กรุงเนปิดอว์ ก่อนจะมาถูกเพิ่มข้อหาละเมิดกฎหมายภัยพิบัติแห่งชาติจากการตระเวนหาเสียง ซึ่งเข้าข่ายละเมิดกฎป้องกันการระบาดของโควิด-19 และล่าสุด เมื่อวันจันทร์ (1) เธอก็โดนเอาผิดเพิ่มอีก 2 ข้อหา ได้แก่ ข้อหาละเมิดกฎหมายการสื่อสาร และมีเจตนายุยงให้เกิดความวุ่นวาย โดยศาลนัดไต่สวนครั้งต่อไปในวันที่ 15 มี.ค.
ทางด้านของประธานาธิบดี วิน มิ้นต์ ก็ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มอีก 2 กระทง โดยหนึ่งในนั้นคือข้อหาละเมิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 3 ปี
คริสติน ชราเนอร์ เบอร์กเนอร์ ทูตพิเศษว่าด้วยกิจการพม่าของสหประชาชาติ แถลงที่นครนิวยอร์กว่า จากเหตุรุนแรงในวันพุธ (3) ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์การเมืองในพม่าพุ่งไม่ต่ำกว่า 50 ราย และมีคนบาดเจ็บอีกจำนวนมาก
ทูตยูเอ็นรายนี้ยังเผยด้วยว่า รัฐบาลทหารพม่าแสดงท่าทีไม่ยี่หระต่อมาตรการคว่ำบาตรของนานาชาติ โดยตัวเธอเองได้ไปคุยกับ พล.อ.อาวุโส โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า และเตือนเขาว่า กองทัพอาจถูกโดดเดี่ยวและต้องเผชิญบทลงโทษที่รุนแรงจากบางประเทศ
“แต่คำตอบที่ได้คือ เราชินกับมาตรการคว่ำบาตรแล้ว และเราอยู่รอดได้” เธอเผยต่อสื่อมวลชน “ตอนที่ฉันเตือนว่าพวกเขาอาจถูกโดดเดี่ยวด้วย คำตอบที่ได้คือ เราจำเป็นต้องเรียนรู้สำหรับการก้าวเดินโดยมีเพื่อนน้อยนิดอยู่เคียงข้าง”
ล่าสุด ยังเกิดข้อถกเถียงขึ้นในเวทีสหประชาชาติ เมื่อ จอ โม ตุน (Kyaw Moe Tun) เอกอัครราชทูตพม่าประจำยูเอ็น ยืนยันว่าตนเองคือผู้แทนที่มีความชอบธรรมของพม่า ในขณะที่รัฐบาลทหารได้สั่งปลดทูตผู้นี้ออกจากตำแหน่งโทษฐาน “ทรยศชาติ” หลังจากที่เขาปราศรัยแสดงความภักดีต่อรัฐบาลซูจี และเรียกร้องให้นานาชาติ “ใช้ทุกมาตรการ” ที่จำเป็นเพื่อนำพม่ากลับสู่ระบอบประชาธิปไตย
ในจดหมายที่ส่งถึงประธานสมัชชาใหญ่สหประชาติ และ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จอ โม ตุน ระบุว่า “พวกที่ก่อรัฐประหารอย่างผิดกฎหมายต่อรัฐบาลซึ่งมาจากระบอบประชาธิปไตยของพม่า ไม่มีสิทธิ์ที่จะมาหักล้างอำนาจอันชอบธรรมของประธานาธิบดีพม่า”
อย่างไรก็ตาม สเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกยูเอ็น ยอมรับว่า สำนักงานของ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่ยูเอ็น เพิ่งได้รับแจ้งเมื่อวันอังคาร (2) ว่า รัฐบาลทหารพม่าได้ปลด จอ โม ตุน ออกจากตำแหน่งทูต พร้อมทั้งแต่งตั้งรองของเขาคือ ทิน หม่อง ไนง์ (Tin Maung Naing) ขึ้นรักษาการเอกอัครราชทูตประจำยูเอ็นแทน
ข้อพิพาทในการอ้างสิทธิ์ความเป็นทูตครั้งนี้คงจะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยคณะกรรมการฝ่ายการแต่งตั้งของยูเอ็น (UN credentials committee) ซึ่งจะเสนอรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่เพื่อลงมติชี้ขาด
คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเปิดประชุมฉุกเฉินรอบใหม่ในวันศุกร์ที่ 5 มี.ค. เพื่อหารือแนวทางตอบโต้กรณีกองทัพพม่ายกระดับใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ขณะที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขคริสตจักรคาทอลิก ทรงเตือนในวันพุธ (3) ว่า ความหวังของชาวพม่าไม่ควรถูกทำลายลงด้วยความรุนแรง และทรงเรียกร้องให้กองทัพพม่าคืนอิสรภาพแก่นักโทษการเมืองทุกคน