ตำรวจในพม่ายกกำลังเข้าสลายการชุมนุมในสถานที่ต่างๆ จำนวนมาก โดยใช้ทั้งแก๊สน้ำตาและยิงด้วยปืนเมื่อวันพฤหัสบดี (4 มี.ค.) ขณะพวกผู้ประท้วงยังคงออกมาตามท้องถนนอีกครั้ง โดยไม่ถูกสยบจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากการถูกปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด ซึ่งตัวเลขล่าสุดทะลุเกินครึ่งร้อยแล้ว นับตั้งแต่ที่ฝ่ายทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
การประท้วงและการปราบปรามเหล่านี้เกิดขึ้นเพียง 1 วัน หลังจากเมื่อวันพุธ (3) กลายเป็นวันซึ่งทหารตำรวจพม่าปราบปรามผู้ชุมนุมคัดค้านอย่างหฤโหดนองเลือดที่สุด โดยที่ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติด้านกิจการพม่า ระบุว่า มีผู้ถูกสังหารไป 38 คน
ข้าหลวงใหญ่ฝ่ายสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น มิเชลล์ บาชาเลต ออกมาเรียกร้องกองกำลังความมั่นคงพม่า ยุติสิ่งที่เธอเรียกว่าเป็น “การปราบปรามอย่างชั่วร้ายต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ”
บาชาเลต บอกว่า รวมแล้วตั้งแต่เกิดการประท้วงต่อต้านการยึดอำนาจเป็นต้นมา มีผู้ถูกเข่นฆ่าไปแล้วอย่างน้อยที่สุด 54 คน แต่จำนวนจริงๆ อาจสูงกว่านี้มาก ขณะเดียวกัน มีผู้ถูกจับกุมไปมากกว่า 1,700 คน รวมทั้งนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ 29 คน
“ฝ่ายทหารของพม่าต้องหยุดยั้งการเข่นฆ่าและการคุมขังผู้ประท้วง” เธอกล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่ง
ขณะที่ผู้ทำหน้าที่โฆษกให้แก่สภาปกครองซึ่งฝ่ายทหารจัดตั้งขึ้นมาหลังเข้ายึดอำนาจ ไม่ตอบโทรศัพท์ที่ผู้สื่อข่าวติดต่อไปขอความเห็น
กองทัพเข้ายึดอำนาจโดยกล่าวหาว่ามีการทุจริตคดโกงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซาน ซูจี มีชัยชนะอย่างถล่มทลาย ถึงแม้คณะกรรมการเลือกตั้งได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้อย่างแข็งขัน ขณะเดียวกัน กองทัพอ้างว่ามีความจำเป็นต้องปราบปรามกวาดล้างผู้ประท้วง พร้อมระบุว่า จะไม่ยอมปล่อยให้เสถียรภาพของพม่าถูกคุกคาม
ทางด้านนักเคลื่อนไหวกล่าวว่า พวกเขาปฏิเสธไม่ยอมรับการปกครองของฝ่ายทหาร หรือการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งคณะปกครองทหารให้สัญญา พร้อมกันนั้น พวกเขาก็แสดงความมุ่งมั่นที่จะบีบคั้นให้กองทัพต้องปล่อยตัวซูจี และยอมรับชัยชนะในการเลือกตั้งของเธอ
“เรารู้ว่าเราอาจถูกยิงและถูกฆ่าด้วยกระสุนจริงตลอดเวลา แต่มันไม่มีความหมายอะไรที่จะมีชีวิตอยู่ใต้คณะเผด็จการทหาร” นักเคลื่อนไหว หม่อง ซองคา บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์
ตำรวจเปิดฉากยิงใส่และใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการประท้วงตามที่ต่างๆ หลายจุดในเมืองย่างกุ้ง รวมทั้งที่เมืองโมนยวา (Monywa) ซึ่งอยู่ทางภาคกลางของประเทศ ผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายระบุ นอกจากนั้น ตำรวจยังยืนปืนใส่ผู้ประท้วงในเมืองพะสิม (Pathein) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของย่างกุ้ง รวมทั้งใช้แก๊สน้ำตาในเมืองตองยี (Taunggyi) เมืองหลวงของรัฐชาน ที่อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศ ทั้งนี้ตามรายงานของสื่อมวลชน
นอกจากนั้น มีรายงานว่า ผู้คนจำนวนมากได้ออกมาชุมนุมกันอย่างสันติตามที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง เป็นต้นว่า เมืองมัณฑะเลย์ ถึงแม้ชาวบ้านในเมืองใหญ่อันดับสองของพม่าแห่งนี้เล่าว่า ช่วงเช้าวันพฤหัสฯ มีเครื่องบินรบ 5 ลำ บินต่ำโฉบไปมาหลายรอบเพื่อแสดงแสนยานุภาพของกองทัพ
ส่วนที่เมืองพุกาม (Bagan) เมืองโบราณที่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก ผู้เห็นเหตุการณ์หลายรายบอกว่า มีผู้คนหลายร้อยออกมาเดินขบวน โดยพากันถือภาพของซูจี และแผ่นผ้าเขียนข้อความว่า “ปล่อยผู้นำของเรา”
ไว้อาลัยผู้ประท้วงสวมเสื้อ “EVERYTHING WILL BE OK”
คำเตือน!! ในคลิปนี้มีภาพสยองที่บางท่านอาจไม่อยากเห็น
มีผู้คนหลายร้อยคนเข้าร่วมงานศพของนักศึกษาหญิงวัย 19 ปีผู้หนึ่ง ซึ่งถูกยิงตายในเมืองมัณฑะเลย์เมื่อวันพุธ (3) หญิงสาวซึ่งมีชื่อพม่าว่า จาล ซีน (Kyal Sin) และชื่อเล่นว่า “แองเจิล” ผู้นี้สวมเสื้อทีเชิ้ตเขียนข้อความว่า “Everything will be OK” ขณะถูกยิงที่ศีรษะและเสียชีวิต
ทางด้าน คริสติน ชราเนอร์ เบอร์เกเนอร์ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ ด้านกิจการพม่า แถลงในนิวยอร์กว่า มีชาวพม่าเสียชีวิตอย่างน้อย 38 คนในวันพุธ ซึ่งถือเป็นวันที่นองเลือดที่สุดนับจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์
ขณะที่ องค์กรเซฟ เดอะ ชิลเดรน เผยว่า มีเด็กเสียชีวิต 4 คนเมื่อวันพุธ ซึ่งรวมถึงเด็กชายวัย 14 ปี ที่เรดิโอ ฟรี เอเชียรายงานว่า ถูกทหารบนขบวนรถที่วิ่งผ่านยิงเสียชีวิต
ริชาร์ด เวียร์ นักวิจัยของกลุ่มฮิวแมน ไรต์ส วอตช์ ชี้ว่า กองกำลังความมั่นคงของพม่าแสดงเจตนารมณ์ชัดเจนแล้วว่า ต้องการปราบปรามกลุ่มต่อต้านการรัฐประหารด้วยความรุนแรงและป่าเถื่อน
ด้าน พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของซูจี ที่ชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย แถลงว่า ที่ทำการพรรคทุกแห่งจะลดธงครึ่งเสาเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิต
ชราเนอร์ เบอร์กเนอร์ เผยต่อไปว่า ระหว่างติดต่อพูดคุยกับ พล.อ.อาวุโส โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า เธอได้เตือนเขาว่ากองทัพอาจต้องเผชิญกับมาตรการหนักหน่วงจากบางประเทศ และถูกโดดเดี่ยวในความเคลื่อนไหวตอบโต้การรัฐประหาร
แต่คำตอบคือ “เราชินกับมาตรการคว่ำบาตรแล้ว และเราอยู่รอด” เธอเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังในนิวยอร์ก “ตอนที่ฉันเตือนว่าพวกเขาอาจถูกโดดเดี่ยวด้วย คำตอบคือ เราจำเป็นต้องเรียนรู้สำหรับการก้าวเดินโดยมีเพื่อนน้อยนิดอยู่เคียงข้าง”
ทั้งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็นมีกำหนดหารือสถานการณ์ในพม่าในวันศุกร์นี้ (5)
เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงว่า อเมริกาตกใจกับความรนแรงในพม่าและกำลังประเมินวิธีการตอบโต้ รวมทั้งเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันประณามการใช้ความรุนแรงของทหารพม่า และสำทับว่า วอชิงตันบอกกับปักกิ่งว่า ต้องการให้ปักกิ่งมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในสถานการณ์นี้
ด้าน สหภาพยุโรป (อียู) กล่าวว่า การยิงใส่พลเรือนและบุคลากรทางการแพทย์ ที่ไม่มีอาวุธเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน นอกจากนี้ รัฐบาลทหารพม่ายังปิดกั้นและปราบปรามสื่อมวลชนด้วย
ประธานาธิบดี เอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส เรียกร้องให้กองทัพพม่ายุติการปราบปรามประชาชนทันที
สำหรับจีน หวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศในปักกิ่ง ตอบคำถามผู้สื่อข่าวระหว่างการแถลงข่าวตามปกติเมื่อวันพฤหัสฯ ว่า จีนมีการติดต่อกับทุกๆ ฝ่ายในพม่า และกำลังส่งเสริมสนับสนุนอย่างกระตือรือร้นเพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลาย รวมทั้งสนับสนุนบรรดาประเทศอาเซียนในการยึดมั่นหลักการฉันทามติ และไม่แทรกแซงกิจการภายใน
ในวันพฤหัสฯ กระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ แนะนำให้พลเมืองของตนพิจารณาเดินทางออกจากพม่าโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้เนื่องจากสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างผู้ประท้วงและกองกำลังความมั่นคงของพม่าทวีความรุนแรงมากขึ้น พร้อมแนะนำพลเมืองให้ระงับแผนการเดินทางไปพม่าในขณะนี้
ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่สุดในพม่าตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีข้อมูลว่า เดือนที่แล้วมีชาวสิงคโปร์อยู่ในพม่าราว 500 คน
(ที่มา: รอยเตอร์, เอเอฟพี, เอพี)