MGR Online - “วันกองทัพพม่า” ครบรอบ 76 ปี เสาร์ที่ 27 มีนาคมนี้ จะเป็นดัชนีชี้วัดแนวคิดสถาปนา “กองทัพสหพันธรัฐ” ที่ CRPH หวังใช้ดึงกองกำลังชาติพันธุ์ทุกกลุ่มมาเป็นแนวร่วมต่อสู้กับกองทัพพม่า ว่าจะเป็นไปได้เพียงใด
วันเสาร์ที่ 27 มีนาคมที่จะถึงนี้ เป็นวันกองทัพพม่า ครบรอบ 76 ปี ในการต่อต้าน ขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกจากประเทศ ตามที่เคยปฏิบัติมาในอดีต จะมีพิธีสวนสนาม แสดงแสนยานุภาพของกำลังพลทั้งเหล่าบก เรือ อากาศ โดยจะเกณฑ์ทหารนับหมื่นนาย มาสวนสนามในกรุงเนปิดอ
ปีที่แล้ว (2563) การสวนสนามในวันกองทัพพม่าครบ 75 ปี ได้ถูกยกเลิกโดยกะทันหัน เพราะเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก กองทัพพม่าจึงหมายมั่นปั้นมือว่าจะกลับมาแสดงความยิ่งใหญ่ ผ่านแถวทหารที่จะนำมาสวนสนามโชว์ในปีนี้
กองทัพพม่าได้ส่งจดหมายเชิญตัวแทนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะ 10 กลุ่ม ที่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) ไปแล้ว ให้ส่งผู้นำหรือตัวแทนมาร่วมชมพิธีสวนสนามครั้งนี้ แต่กองกำลัง 4 ใน 10 กองกำลังที่เซ็น NCA ไปแล้ว ได้ออกมายืนยันแล้วว่าจะไม่ไปร่วมพิธีตามคำเชิญ ทั้ง 4 กลุ่มนี้ ได้แก่
1.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)
2.สภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA)
3.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF)
4.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO)
หลังเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา KNU และ RCSS เป็นกองกำลังติดอาวุชาติพันธุ์ 2 กลุ่มแรกที่แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์อย่างชัดเจนกับกองทัพพม่า และมีการสู้รบกันแล้วในหลายพื้นที่ จนถึงขณะนี้ ในรัฐกะเหรี่ยงและรัฐชาน กำลังมีการเผชิญหน้ากันระหว่างทหารพม่ากับทหารทั้ง 2 ชาติพันธุ์ ชนิดที่พร้อมจะเกิดการปะทะขึ้นได้ทุกเมื่อ
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม The Irrawaddy มีรายงานคำให้สัมภาษณ์ของ อู ตัน แค ประธาน ABSDF ว่า ABSDF ไม่มีแผนจะไปร่วมงานครั้งนี้ ในข่าวเดียวกัน The Irrawaddy ยังมีรายงานอีกว่า PNLO ก็ได้ปฏิเสธที่จะไปร่วมในพิธีนี้ด้วยเช่นกัน
ในทางกลับกัน จนถึงเมื่อวานนี้ (24 มี.ค.) หลายสื่อของพม่ามีรายงานตรงกันว่า 4 กองกำลังที่เซ็น NCA แล้ว ได้ตอบรับคำเชิญของกองทัพพม่า ว่าจะเดินทางไปร่วมพิธีสวนสนามในวันที่ 27 มีนาคมนี้ 4 กลุ่มนี้ ประกอบด้วย
1.พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP)
2.กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย (DKBA)
3.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC)
4.พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP)
ขณะนี้ใน 10 กองกำลังที่เซ็น NCA แล้ว จึงเหลือเพียงแนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF) และสหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU) ที่ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนออกมาว่า จะเดินทางไปร่วมพิธีสวนสนามในวันกองทัพพม่า 27 มีนาคมนี้หรือไม่
กองกำลัง 10 กลุ่ม ที่ได้เซ็น NCA กับรัฐบาลพม่าไปแล้ว ได้รวมตัวกันในนามคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST : Peace Process Steering Team) มี พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธาน RCSS ทำหน้าที่รักษาการ ประธาน PPST
หลังเกิดรัฐประหาร PPST ได้ประชุมกัน 2 ครั้ง ระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ และ 11-12 มีนาคม และได้มติคัดค้านการรัฐประหารของกองทัพพม่า พร้อมยืนอยู่ข้างเดียวกับประชาชนที่กำลังประท้วง และจะเคลื่อนไหวร่วมกับคณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาพม่า (CRPH)
CRPH เป็นองค์กรที่สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ร่วมกันตั้งขึ้นมาให้เป็นรัฐบาลคู่ขนานกับ SAC (สภาบริหารแห่งรัฐ) ที่กองทัพพม่าสถาปนาขึ้น
เมื่อวันที่ 1 มีนาคม CRPH มีประกาศให้ SAC และกองทัพพม่า เป็นกลุ่มก่อการร้าย ตามกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายของพม่า จากนั้น ในวันที่ 17 มีนาคม CRPH ได้ประกาศว่ากองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในพม่า ไม่ใช่องค์กรก่อการร้าย แต่เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถนำกำลังเข้ามาในพื้นที่ต่างๆ เพื่อปกป้องประชาชนที่กำลังถูกกองทัพพม่าทำร้ายได้
หลังมีประกาศเมื่อวันที่ 1 มีนาคม สังคมออนไลน์ในพม่า เริ่มมีการเผยแพร่ภาพที่สื่อแนวคิดของ CRPH ที่จะรวมกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในพม่าเป็นกองทัพเดียว ในนาม “กองทัพสหพันธรัฐ” ซึ่งเป็นรูปแบบการปกครองที่กองกำลังติดอาวุธหลายชาติพันธุ์ โดยเฉพาะสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS) ต้องการ รวมถึงเผยแพร่ภาพอาร์มติดแขนบนเครื่องแบบกองทัพสหพันธรัฐ โดยระบุว่าได้ให้ผู้ที่มีความสามารถในการออกแบบ ส่งแบบมาให้ CRPH พิจารณา
อย่างไรก็ตาม กองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ในพม่า มีมากกว่า 20 กลุ่ม ซึ่งนอกจาก 10 กองทัพที่รวมตัวกันในนาม PPST แล้ว ยังมีอีก 7 กองทัพที่ยังไม่ได้เซ็น NCA รวมตัวกันในนาม FPNCC : Myanmar Peace Commission and Federal Political Negotiation Consultative Committee มีกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) เป็นแกนนำ ประกอบด้วย
1.กองทัพสหรัฐว้า (UWSA)
2.กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA)
3.กองทัพโกก้าง (MNDAA)
4.พรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP/SSA)
5.กองทัพตะอั้ง (TNLA)
6.กองทัพเมืองลา (NDAA)
7.กองทัพอาระกัน (AA)
นอกจากนี้ ยังมีกองกำลังติดอาวุธที่ยังไม่ได้เซ็น NCA และไม่ได้ไปรวมอยู่ใน FPNCC กองกำลังเหล่านี้ส่วนใหญ่ตั้งมั่นอยู่ในพื้นที่ของตน มีการปะทะกับกองทัพพม่าอยู่บ้าง แต่ไม่ปรากฏออกมาเป็นข่าว เช่น
- กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน (Arakan Rohingya Salvation Army : ARSA) ในรัฐยะไข่
- แนวร่วมปลดปล่อยประชาชนกะเหรี่ยงแดง (Karenni National People's Liberation Front : KNPLF) ในรัฐคะยา
- กองกำลังติดอาวุธของชาวไตแดง ในภาคสะกาย
ในกลุ่ม FPNCC ขณะนี้กองทัพเอกราชคะฉิ่น (KIA) กำลังต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายกับกองทัพพม่า การต่อสู้เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมเป็นต้นมา KIA สามารถตีฐานของทหารพม่าที่ตั้งอยูในพื้นที่รัฐคะฉิ่นแตกไปแล้วหลายฐาน ทหารพม่าสูญเสีย และถูกยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ไปได้เป็นจำนวนมาก
ขณะเดียวกัน กองทัพของพรรคก้าวหน้ารัฐชาน (SSPP) ยังได้ร่วมมือกับกองทัพตะอั้ง (TNLA) เปิดฉากสู้รบอย่างหนักกับกองทัพสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน (RCSS) ในจังหวัดจ๊อกแมและดอยแหลม
ในจำนวนกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ทั้งหมด กองทัพสหรัฐว้า (UWSA) เป็นกองทัพที่ใหญ่ มีกำลังพลมากที่สุด และมีอาวุธที่ทันสมัยที่สุด
แต่กองทัพสหรัฐว้า ก็ลงมาตั้งฐานที่มั่นใหญ่อยู่ในจังหวัดเมืองสาต ตรงข้ามกับอำเภอเชียงดาว อำเภอเวียงแหง และอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ประจันหน้าอยู่กับทหารของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐชาน ชนิดที่พร้อมจะสู้รบกันได้ตลอดเวลา
หลังเกิดรัฐประหารในพม่า ทั้งกองทัพสหรัฐว้า กองทัพโกก้าง (MNDAA) และกองทัพเมืองลา (NDAA) ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนพม่า-จีน ยังไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ออกมาอย่างชัดเจน.