MGR Online - ตัวแทนสภากอบกู้รัฐชานซึ่งเป็นหัวจักรสำคัญในคณะทำงานสันติภาพ ร่วมประชุมออนไลน์อย่างไม่เป็นทางการกับตัวแทนสมาชิกสภาฝั่งต่อต้านรัฐประหารที่มาจากพรรค NLD รายละเอียดการพูดคุยยังไม่เป็นที่เปิดเผย
ช่วงบ่ายวานนี้ (9 มี.ค.) สภากอบกู้รัฐชาน/กองทัพรัฐชาน (RCSS/SSA) ได้ส่งตัวแทนร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการผ่านระบบ Video Conference กับตัวแทนของ “คณะกรรมาธิการตัวแทนรัฐสภาเมียนมา” (Committee Reptrsenting Pyidaungsu Hluttaw : CRPH)
ตัวแทน RCSS นำโดย พ.อ.จายเงิน เลขาธิการ 2 และทีมงาน ได้แก่ พ.ท.จายหาญ และจายแหลง ส่วนตัวแทนฝั่ง CRPH นำโดย อู อ่อง จี ญูน ผู้บริหารพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ร่วมกับทีมงาน ประกอบด้วย อู ติน ทุต อู, อู ลวิน โก่ ลัต นักเขียนการ์ตูนล้อการเมือง (Cartoonist), อู แย มูน, ดอ สิ่น หม่า อ่อง และซอ หย่า ผ่อง อั่ว
รายละเอียดลึกๆ ในการพูดคุยกันครั้งนี้ไม่เป็นที่เปิดเผย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ถูกเผยแพร่ออกมา ทั้งจากเพจ CRPH สำนักข่าว Shan News และ Tai Freedom ระบุตรงกันว่า เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน โดยฝั่ง CRPH ได้อธิบายแนวทางการทำงาน หาทางออกให้แก่ประเทศหลังเกิดการรัฐประหาร ส่วนตัวแทน RCSS ได้พูดถึงขั้นตอนการสร้างสันติภาพ ท่ามกลางสถานการณ์ที่กองทัพพม่าเข้ามายึดอำนาจ
การประชุมอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ เกิดหลังจากเกิดความสับสนขึ้น เมื่อ ดร.ส่า ส่า ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตพิเศษ CRPH ประจำสหประชาชาติ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ระบุว่า ผู้นำ RCSS ได้ขอนัดพบกับ CRPH เร็วๆ นี้
โพสต์ของ ดร.ส่า ส่า ได้ลงภาพจดหมาย ลงวันที่ 6 มีนาคม ลงนามโดยเจ้ายอดเมือง (Philip) ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ RCSS มีใจความว่า ในนามของ RCSS ต้องการนัดพบกับ ดร.ส่า ส่า เพื่อหารือถึงสถานการณ์บ้านเมืองและแนวทางที่จะทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคต
โพสต์นี้ได้สร้างความยินดีแก่ผู้ที่กำลังเคลื่อนไหวประท้วงการรัฐประหารอยู่ในพม่า และอีกหลายประเทศทั่วโลก เพราะ RCSS เป็นองค์กรตัวแทนชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของพม่า รองจากชาติพันธุ์พม่า นอกจากนี้ พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธาน RCSS ยังเป็นรักษาการประธานคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (Peace Process Steering Team : PPST) อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หลัง ดร.ส่า ส่า ได้โพสต์เรื่องการนัดพบกับ RCSS ได้ไม่นาน ในตอนค่ำสำนักข่าว Shan News ได้เสนอข่าวโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของผู้ใกล้ชิด พล.อ.เจ้ายอดศึก ระบุว่า พล.อ.เจ้ายอดศึกไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้ฝ่ายกิจการต่างประเทศออกจดหมายฉบับที่ ดร.ส่า ส่า นำมาโพสต์ไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว และตัวของ พล.อ.เจ้ายอดศึก เองก็ไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องของจดหมายฉบับนี้
แหล่งข่าวของ Shan News ระบุข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับจดหมายฉบับนี้ว่า ถ้าไม่ใช่ถูกทำปลอมขึ้นมา ก็เป็นการออกโดยส่วนตัวของเจ้ายอดเมืองเอง ซึ่ง RCSS ต้องมีการสอบสวนหาที่มาของจดหมายฉบับนี้ต่อไป
เขาบอกว่า พล.อ.เจ้ายอดศึก ตระหนักดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ RCSS จะตัดสินใจไปเองฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องมีการหารือในกลุ่ม PPST ร่วมกันก่อน
PPST เป็นองค์กรของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ที่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลไปแล้ว และรวมตัวเป็นองค์กรตัวแทนเพื่อเดินหน้ากระบวนการสันติภาพในพม่า
สมาชิกของ PPST ประกอบด้วย
1.สภากอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA)
2.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)
3.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO)
4.กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย (DKBA)
5.แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF)
6.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF)
7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP)
8.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC)
9.พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP)
10.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU)
8 กลุ่มแรกได้เซ็น NCA กับรัฐบาลเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2558 ในสมัยประธานาธิบดีเตงเส่ง ส่วน 2 กลุ่มหลังคือ NMSP และ LDU เซ็น NCA กับรัฐบาลที่มีพรรค NLD ของอองซาน ซูจี เป็นแกนนำ
สำหรับ พ.อ.จายเงิน ถือเป็นตัวจักรสำคัญในกระบวนการสันติภาพพม่า โดยเป็นตัวแทนหลักของ RCSS ที่เข้าไปทำงานอยู่ใน PPST และเป็นตัวแทนหลักของ PPST ในการเจรจาสันติภาพกับ NRPC หรือ “ศูนย์สันติภาพและความปรองดองแห่งชาติ” ที่ถูกตั้งขึ้นโดยรัฐบาลชุดก่อน และอองซาน ซูจี รับหน้าที่เป็นประธาน NRPC ด้วยตนเอง
หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ PPST เพิ่งมีการประชุมกันไปเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ และได้ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ มีใจความสำคัญในการสนับสนุนความเคลื่อนไหวของประชาชน ที่ออกมาประท้วงอย่างสันติในการต่อต้านระบอบเผด็จการ และการเข้ามายึดอำนาจของกองทัพพม่า โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวตามแนวทางอารยะขัดขืน (Civil Disobedence Movement : CDM) และนอกจากแถลงการณ์ฉบับนี้แล้ว PPST ยังไม่เคยออกจดหมายหรือเอกสารใดๆ มาอีก
อย่างไรก็ตาม ในเร็วๆ นี้ จะมีการนัดประชุม PPST อีกครั้งเพื่อหารือถึงสถานการณ์ และท่าทีของ PPST ที่จะมีต่อ CRPH
CRPH ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ มีสมาชิก 380 คน ทั้งหมดเป็นสมาชิกพรรค NLD ที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนปีที่แล้ว และถูกรับรองโดยคณะกรรมการเลือกตั้งชุดก่อน ทั้งหมดได้รวมตัวกันสถาปนา CRPH ขึ้นเป็นตัวแทนของรัฐบาลและรัฐสภาพม่า ในการติดต่อสัมพันธ์กับประชาคมโลก แทนที่สภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นโดยคณะรัฐประหาร