xs
xsm
sm
md
lg

กองกำลังชาติพันธุ์ 10 กลุ่มในพม่า แถลงยืนข้างประชาชนต้านรัฐประหาร-ประณามปราบม็อบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


การประท้วงในพม่า (ภาพเอเอฟพี)
MGR Online - ที่ประชุมนัดพิเศษกองกำลังชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ที่รวมตัวกันในนาม PPST ออกแถลงการณ์ 5 ข้อ ยืนยันอยู่ข้างประชาชน ประณามการใช้ความรุนแรงปราบม็อบ และยุติการเจรจากับตัวแทนกองทัพที่มาจากรัฐประหาร

คณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (Peace Process Steering Team : PPST) ที่ประกอบด้วยผู้นำกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ซึ่งได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลพม่าไปแล้ว ได้จัดการประชุมวาระพิเศษผ่านระบบ Video Conference เป็นเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ ท่ามกลางสถานการณ์การยึดอำนาจของกองทัพพม่า และความเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารที่ขยายไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ

พล.อ.เจ้ายอดศึก ประธานสภาเพื่อกอบกู้รัฐชาน รักษาการประธาน PPST
หลังการประชุมสิ้นสุดลงเมื่อวันเสาร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ PPST ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะยืนอยู่ข้างประชาชน โดยได้ออกแถลงการณ์จำนวน 5 ข้อ มีรายละเอียดดังนี้

1.PPST สนับสนุนความเคลื่อนไหวของประชาชนที่ได้ออกมาประท้วงอย่างสันติในการต่อต้านระบอบเผด็จการ และการเข้ามายึดอำนาจของกองทัพพม่า โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวตามแนวทางอารยะขัดขืน (Civil Disobedence Movement : CDM)
2.เรียกร้องให้กองทัพพม่าต้องปล่อยตัวผู้นำและผู้ประท้วงทุกคนที่ถูกจับกุมตัวไปตั้งแต่เริ่มเข้ามายึดอำนาจโดยทันที อย่างไม่มีเงื่อนไข
3.ขอประณามการใช้ความรุนแรงในทุกวิถีทาง เพื่อจัดการกับผู้ที่ชุมนุมต่อต้านอย่างสันติ
4.PPST ขอยุติการเจรจาทางการเมืองกับตัวแทนกองทัพพม่าที่ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจออกไปก่อน
5.PPST จะให้ความร่วมมือกับทุกประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบเผด็จการทหาร และหนทางแก้ไขสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

แถลงการณ์ 5 ข้อ ของ PPST หลังเสร็จสิ้นการประชุมเมื่อวานนี้


PPST เป็นองค์กรของกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์ 10 กลุ่ม ที่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) กับรัฐบาลไปแล้ว ซึ่งรวมตัวกันเพื่อเดินหน้ากระบวนการสันติภาพในพม่า

สมาชิกของ PPST ประกอบด้วย
1.สภากอบกู้รัฐชาน (RCSS/SSA)
2.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU)
3.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ (PNLO)
4.กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย (DKBA)
5.แนวร่วมแห่งชาติชิน (CNF)
6.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า (ABSDF)
7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน (ALP)
8.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ (KNU/KNLA-PC)
9.พรรครัฐมอญใหม่ (NMSP)
10.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่ (LDU).

การประชุมผ่านระบบ Video Conference ระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์




กำลังโหลดความคิดเห็น